xs
xsm
sm
md
lg

ทลฉ.อาจยุติแผนสร้างท่าเรือเฟส 3 หลัง ศก.โลกส่อเค้าส่งตู้สินค้าไม่ถึง 10 ล้านทีอียู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผอ.ทลฉ. ระบุภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังผันผวนมีผลต่อการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ต่อหรือไม่ ชี้หากในอีก 3-4 ปีนับจากนี้ ตู้สินค้าผ่านท่ามีไม่ถึง 10 ล้านทีอียู ก็จำต้องเลื่อนแผนก่อสร้างจากปี 2562 เป็น 2565 หรือยุติแผน หากได้ผลสรุปชัดว่าจำนวนตู้สินค้าที่มีอยู่ไม่เกินขีดความสามารถของท่าเรือทั้ง 2 เฟส ส่วนการสร้างความเข้าใจชุมชนโดยรอบทั้ง 2 ฝั่งยังต้องทำต่อเนื่อง เพื่อความสัมพันธ์อันดี

ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เผยถึงโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ภายใต้งบลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ที่กำลังถูกต่อต้านอย่างหนักจากชาวบ้านในชุมชนแหลมฉบัง และชุมชนอ่าวอุดมที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตประมงที่เปลี่ยนแปลงไป จากการก่อสร้างท่าเทียบเรือในเฟสที่ 1 และ 2 ว่า ในวันนี้ท่าเรือแหลมฉบังอาจต้องทบทวนแผนก่อสร้างท่าเรือฯ ในเฟสที่ 3 ใหม่

หลังพบว่า ความผันผวนอย่างหนักของเศรษฐกิจโลกอาจทำให้จำนวนตู้สินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังในอีก 3 -4 ปีข้างหน้าไม่ถึง 10 ล้านทีอียู ซึ่งนั่นหมายถึงแผนก่อสร้างท่าเรือฯ เฟส 3 ที่กำหนดไว้ในปี 2562 อาจต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2565

หรือสุดท้ายแล้วอาจต้องยุติแผนก่อสร้างทั้งหมด เพื่อประหยัดการใช้งบประมาณของชาติ หากได้ผลสรุปที่แน่ชัดแล้วว่า ขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมฉบังเฟสที่ 1 และ 2 สามารถรองรับจำนวนตู้สินค้าที่จะมีไม่เกิน หรือเท่าจำนวน 10 ล้านทีอียูได้

“ในวันนี้ท่าเรือแหลมฉบังไม่ได้ฟันธงว่าจะต้องก่อสร้างท่าเทียบเรือเฟส 3 ให้ได้ เพราะเราก็ไม่ต้องการใช้งบประมาณของรัฐโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เช่นกัน ทั้งนี้ การจะเกิดท่าเทียบเรือในเฟสที่ 3 ได้ ต้องมีข้อมูลแน่ชัดแล้วว่า จำนวนตู้สินค้าผ่านท่าในช่วง 3-4 ปีก่อนขึ้นโครงการเต็มจำนวน 10 ล้านทีอียู หรือเกินขีดความสามารถของท่าเทียบเรือทั้ง 2 เฟส ซึ่งหากทบทวนแล้วเห็นว่าจำนวนตู้สินค้า 10 ล้านทีอียู เป็นจำนวนที่ท่าเรือทั้ง 2 เฟสเอาอยู่ เฟส 3 ก็ไม่มีความจำเป็น”

โดยในปี 2556 ท่าเรือแหลมฉบัง ตั้งเป้าจะมีตู้สินค้าผ่านท่าประมาณ 6.2 ล้านทีอียู เติบโตจากปี 2555 ที่มีตู้สินค้า 60.9 ล้านทีอียูเพียงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งคาดว่าเกิดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกที่ทำให้การเติบโตของจำนวนตู้สินค้าไม่เป็นไปตามเป้า

ร.อ.สุทธินันท์ ยังกล่าวถึงการดูแลความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชนแหลมฉบัง และชุมชนอ่าวอุดมว่า ในวันนี้ท่าเรือแหลมฉบังยังพร้อมที่จะสร้างความเข้าใจที่ตรงกันและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชาวบ้าน เพียงแต่ขอให้ชาวบ้านเปิดใจรับฟังข้อมูล และเหตุผลที่ถูกต้องจากท่าเรือฯ เท่านั้น

“สิ่งที่กังวลก็คือ การได้ข้อมูลที่ผิด และการฟังข่าวลือของชาวบ้านทั้ง 2 ชุมชน ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสที่เราจะเข้าไปทำความเข้าใจในโครงการต่างๆ ของท่าเรือฯ ย่อมเป็นไปได้ยาก ในวันนี้ผมจึงอยากวิงวอนไปยังชาวบ้านทั้ง 2 ฝังว่า ท่าเรือแหลมฉบัง อยากเข้าไปพูดคุยเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมกัน เพียงแต่ขอโอกาสให้ชาวบ้านเปิดใจยอมรับการทำงานของท่าเรือฯ ที่สำคัญ ผมเองก็เป็นชาวชลบุรีที่ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในบ้านเกิดเช่นกัน” ร.อ.สุทธินันท์กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น