ศูนย์ข่าวศรีราชา - ปธ.กมธ.คมนาคม วุฒิสภา นำคณะลงชลบุรี รับฟังแนวทางแก้ปัญหาการคัดค้านแผนก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ของกลุ่มชาวบ้านโดยรอบ หลังได้รับการร้องเรียน จี้ ทลฉ.ดูแลความเดือดร้อน และเร่งสร้างความเข้าใจด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมแก่ชาวบ้านอย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน ยังขอรับคำชี้แจงจากศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เกี่ยวกับการตรวจสอบการสำแดงใบขนส่งของผู้นำเข้ารถยนต์หรูว่าตรงตามความจริงหรือไม่ หลังได้รับการร้องเรียนจากบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่เกี่ยวกับผลกระทบด้านราคา หลังลูกค้าหันมาซื้อรถยนต์หรูในระบบ gray Market มากขึ้น
วันนี้ (7 มี.ค.) นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภาพร้อมคณะ และนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดชลบุรี ได้เข้ารับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับความคืบหน้ากรณีร้องเรียนคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือ เฟส 3 ของกลุ่มชาวบ้านแหลมฉบัง และกลุ่มชาวบ้านบางละมุง จากฝ่ายบริหารท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พร้อมติดตามข้อร้องเรียนเกี่ยวการตรวจสอบตู้สินค้าของสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง หลังได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการว่า เป็นไปอย่างล้าช้า และตรวจสอบข้อมูลการตรวจสอบใบสำแดงการนำเข้ารถยนต์หรู หลังได้รับการร้องเรียนจากบริษัทรถยนต์รายใหญ่ว่า ระบบ gray Market ซึ่งเป็นการนำเข้าสินค้าโดยไม่ผ่านตัวแทนกำลังทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบด้านราคา โดยมี ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียน รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และนายศักดิ์ ยศธแสนย์ ผู้อำนวยการ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง นำเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมชั้น 4 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
โดย ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียน รองผู้อำนวยการ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ได้ชี้แจงเกี่ยวกับข้อร้องเรียนของชาวบ้านต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่า ในส่วนแผนก่อสร้างท่าเรือเฟส 3 ขณะนี้ได้รับคำสั่งจากผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ให้ชะลอการดำเนินการด้านต่างๆ ออกไปจนกว่าจะสามารถทำความเข้าใจกับชาวบ้านในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อมจนเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน พร้อมยอมรับว่า ที่ผ่านมา ท่าเรือฯ ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชนน้อยเกินไป แต่ในปี 2555 ได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมากในการจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมอาชีพให้แก่ชุมชนแหลมฉบังมากถึง 13 โครงการ จนเป็นที่พอใจของชาวบ้าน
ส่วนการดูแลชาวบ้านในชุมชนบางละมุงนั้น เหลือเพียงแค่การทำความเข้าใจกับชาวบ้านเรื่องข้อกังวลใจต่างๆ หากมีการก่อสร้างท่าเรือเฟส 3 โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี ในเดือนกรกฎาคมปีนี้ จะเริ่มดำเนินการขุดลอกปากคลองบางละมุงให้แล้วเสร็จ โดยจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งระยะเวลาการขุดลอกปากคลองดังกล่าวเป็นไปตามความต้องการของกลุ่มประมงพื้นบ้าน ที่ต้องการให้หมดช่วงของการจับหอยไปก่อน
ด้านนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดชลบุรี เผยว่า การลงพื้นที่ของคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา ในครั้งนี้ จุดประสงค์สำคัญก็คือ การเข้ามาดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชน และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งได้รับการร้องเรียนว่า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการก่อสร้างท่าเรือในเฟส 1 และ 2 ได้ส่งผลต่ออาชีพการทำประมงของกลุ่มคนในพื้นที่ จากผลของการเปลี่ยนแปลงทิศทางน้ำ และกระแสน้ำ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 76 วรรค 2 ว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชนมีผลต่อการลงทุน ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงครอบคลุมสิทธิของชาวบ้านที่ควรได้รับจากการก่อสร้างท่าเรือเฟส 3 ที่จะเกิดขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการการคมนาคม ยังได้สอบถามถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาด้านการจราจรภายในท่าเรือแหลมฉบัง การแก้ปัญหาระบบจราจรหน้าท่าเรือและการพัฒนาการขนถ่ายสินค้าทางน้ำ และทางราง เพื่อลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนน ซึ่งก็ได้รับชี้แจงจากฝ่ายบริหารของท่าเรือแหลมฉบังว่า มีแนวทางดำเนินงานทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เช่น แผนงานระยะกลาง คือ การจัดทำอุโมงค์ลอดใต้ทางรถไฟเพื่อลดปัญหาการจราจรภายในพื้นที่
นอกจากนั้น คณะกรรมาธิการยังได้ลงพื้นที่ดูการขนถ่ายรถยนต์ และการขนถ่ายสินค้าของท่าเทียบเรือชายฝั่ง ที่พบว่า ปัจจุบันสามารถขนถ่ายสินค้าได้หลายหมื่นทีอียูต่อปี หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของการขนถ่ายตู้สินค้าทั้งหมดในท่าเรือแหลมฉบัง
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา ยังเผยว่า ตนได้กำชับให้ท่าเรือแหลมฉบังให้ความสำคัญกับการดูแลความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างจริงจัง
นอกจากนั้น ยังได้ตรวจสอบข้อร้องเรียนของกลุ่มผู้ประกอบการเกี่ยวกับการตรวจสอบตู้สินค้าของสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังที่เป็นไปอย่างล้าช้า ซึ่งก็ได้รับคำชี้แจงจากสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังว่า ขณะนี้กำลังมีแผนที่ติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ตู้สินค้าในเฟสที่ 4 และ 5 ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานต่างๆ เร็วขึ้น
“ส่วนข้อร้องเรียนของบริษัทรถยนต์รายใหญ่ เกี่ยวกับผลกระทบด้านราคาหลังผู้ค้าหันมาซื้อรถยนต์หรูผ่านระบบ gray Market ซึ่งเป็นการนำเข้าสินค้าโดยไม่ผ่านตัวแทนจำหน่าย จนทำให้มีผลกระทบต่อราคารถยนต์ในตลาดนั้น เป็นการเข้ามาสอบถามเรื่องระบบตรวจสอบใบสำแดงการขนส่งต่างๆ ผ่านสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังว่าตรงตามความจริงหรือไม่ ซึ่งจากการลงพื้นที่แหลมฉบัง พบว่า การนำเข้ารถยนต์หรูผ่านท่ายังมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับการใช้บริการผ่านท่าเรือกรุงเทพฯ” ประธาน กมธ.คมนาคมกล่าว