ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าแฉส่วยท่าเรือกรุงเทพคาด 10 ปี สะพัดถึง 1,400 ล้าน ระบุพนักงานบางกลุ่มเรียกรับผลประโยชน์ เผยข้อมูลค่าโอทีเบิกเกินที่ทำงานจริง เตรียมยื่น กมธ.คมนาคมวุฒิสภาตรวจสอบ “ทองอยู่” เชื่อส่วยอัปยศปมขับไล่ “วิโรจน์” พ้น ผอ.กทท. ด้านสหภาพ กทท.โต้ผู้ประกอบการขนส่ง ส่วยเกิดเพราะผู้ใช้บริการสมยอมจ่ายเพื่อลัดคิว พอใจมติบอร์ดไฟเขียว “วิโรจน์” ลาออก ยันพนักงานทำงานตามปกติ
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ผู้บริหารสมาคมขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าและส่งออก สมาคมขนส่งสินค้าท่าเรือแหลมฉบัง และสมาคมชิปปิ้ง ได้เปิดแถลงข่าวระบุปัญหาการทุจริตในท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งมีพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) บางกลุ่มที่ปฏิบัติหน้าที่มีพฤติกรรมเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการ และผู้ใช้บริการท่าเรือ โดยนายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาและกรรมการสมาคมขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าและส่งออก ที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการต้องต้องจ่ายส่วยในการใช้บริการ ตั้งแต่ผ่านเข้าใช้ท่าเรือ ยกสินค้าทั้งยกจากรถขนส่งขึ้นเรือและยกสินค้าลงจากเรือ ซึ่งตู้สินค้านำเข้าและส่งออกเฉลี่ยปีละ 1.4 ล้านตู้ จะมีต้นทุนแฝงหรือส่วยที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายตู้ละ 300 บาท ทำให้แต่ละปีมีเงินนอกระบบประมาณ 420 ล้านบาท ซึ่งภายในท่าเรือมีปัญหาเรียกรับส่วยมากว่า 10 ปี ดังนั้นจึงมีผลประโยชน์สูงถึง 1,400 ล้านบาทเป็นตัวเลขที่การทุจริตจำนวนมาก
ส่วนปัญหาการจ่ายค่าล่วงเวลา (โอที) ให้แก่พนักงานหน้าท่า ซึ่งได้เป็นปัญหาขัดแย้งภายในกทท.อยู่นั้น นายทองอยู่ได้ยกตัวอย่างว่า กรณีใช้เครนยกสินค้าหน้าท่าจะมีผู้ทำงาน 3 คนต่อเครน 1 ตัว ซึ่งเรือ 1 ลำ จะใช้เครน 2 ตัว หรือพนักงาน 6 คน แต่ปรากฏว่าเมื่อมีการเบิกค่าโอทีจะระบุว่าใช้เครน 12 ตัว เท่ากับ กทท.ต้องจ่ายค่าโอทีถึง 36 คนเป็นการเบิกโอทีที่ไม่ได้ทำงานจริง ถือเป็นการฉ้อโกงภาษีของประชาชน เนื่องจาก กทท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องนำส่งรายได้ให้แก่กระทรวงการคลัง
“ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้ร้องเรียนปัญหาต่างๆ ต่อ ร.ต.วิโรจน์ จงชาณสิทโธ ผู้อำนวยการ กทท. ซึ่งได้พยายามแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จึงเป็นข้อสังเกตว่าทำให้ ร.ต.วิโรจน์ถูกกดดันให้ลาออก ซึ่งสมาคมผู้ประกอบการจะมีการทำหนังสือร้องเรียนถึงปัญหาส่วย และค่าล่วงเวลาอัปยศดังกล่าวถึงประธานกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา เพื่อให้มีการสอบสวนและจัดการกับขบวนการเหล่านี้ต่อไปภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้” นายทองอยู่กล่าว
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้รับรายงานมติที่ประชุมบอร์ด กทท.ที่มี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เป็นประธานเห็นชอบการลาออกของ ร.ต.วิโรจน์ และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 และได้แต่งตั้ง ร.อ.อิทธิชัย สุพรรณกุล รองผู้อำนวยการ สายบริหารทรัพยากรบุคคลและการเงิน กทท.ทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการ กทท.แล้ว ซึ่งยืนยันว่า ร.ต.วิโรจน์ไม่ได้ทำผิดอะไร แต่สมัครใจลาออก เป็นการเสียสละเพื่อให้องค์กรเดินหน้าต่อไป ซึ่งยอมรับว่าคดีที่พนักงานฟ้องร้อง กทท.เรื่องค่าโอทีนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งเป็นความไม่เข้าใจภายในองค์กร ซึ่งหลังจากนี้เชื่อว่าจะสามารถพูดคุยกันได้ ส่วนการให้บริการของท่าเรือจะไม่มีปัญหาใดๆ พนักงาจะต้องทำงานตามปกติ ส่วนการสรรหา ผอ.กทท.คนใหม่นั้นเป็นหน้าที่ของบอร์ดจะพิจารณาต่อไป คาดว่ากระบวนการจะเริ่มหลังจากการลาออกของ ร.ต.วิโรจน์มีผล
นายจเร หมีดนุ ประธานสหภาพ กทท.กล่าวว่า พอใจมติบอร์ดแม้จะเป็นการลาออกเองไม่ได้เลิกจ้างก็ตาม เพราะข้อเสนอของสหภาพฯ ไม่ต้องการให้ ร.ต.วิโรจน์อยู่ต่อ ถือว่าบรรลุเป้าหมายที่ได้เสนอความบกพร่องในการบริหารงานของ ร.ต.วิโรจน์ โดยยืนยันว่าการทำงานจะเป็นไปตามปกติ
ด้านนายอนันต์ รัตนพันธ์ ที่ปรึกษาประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทท. กล่าวถึงกรณีที่นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาและกรรมการสมาคมขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าและส่งออก ที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ออกมาระบุว่ามีส่วยในท่าเรือนั้น ไม่ขอปฏิเสธเพราะบางเรื่องก็มีจริง แต่ขอชี้แจงเพื่อขอความเป็นธรรมต่อพนักงาน กทท.ด้วย เพราะข้อมูลของนายทองอยู่ส่วนใหญ่ยังคลาดเคลื่อน โดยยืนยันว่าสาเหตุที่มีส่วยเกิดขึ้นเพราะผู้ใช้บริการและพนักงาน กทท.ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ มาทีหลังแต่ต้องการได้บริการเร็วโดยไม่รอตามคิว ซึ่งการนำสินค้าออกจากตู้เจ้าของสินค้าและรถขนส่งต้องมีความพร้อม
“นายทองอยู่ต้องรับผิดชอบเรื่องที่พูดไปแล้วไม่จริง เพราะทำให้ กทท.เสียหาย โดยสหภาพฯ จะหารือกับฝ่ายบริหารเพื่อไม่ให้นำสินค้าออกจากตู้หากรถขนส่งยังไม่เข้ามาเพื่อลดค่าโอทีพนักงาน กทท. ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งต้องปรับวิธีทำงานให้สอดคล้องด้วย และขณะนี้ กทท.ได้รับพนักงานในส่วนควบคุมเครื่องมือเพิ่มอีก 1,500 คน คาดว่าอีก 3 เดือนจะมีบริการที่รวดเร็วขึ้น” นายอนันต์กล่าว
ส่วนเรื่องที่นายทองอยู่ระบุว่าพนักงานประจำเครนหน้าท่า เบิกค่าโอทีมากกว่าที่ทำงานจริงนั้น นายอนันต์กล่าวว่า ไม่ถูกต้อง เครนหน้าที่มี 14 ตัว กทท.มีระเบียบเบิกโอที เครน 1 ตัวมีพนักงานประจำ 3 คน เรือ 1 ลำเทียบท่า 24 ชั่วโมง ใช้เครน 2 ตัวต้องมีพนักงาน 6 คนส่วนค่าโอทีที่ผู้ใช้บริการจ่ายให้ กทท.หากต้องการนำสินค้าออกจากตู้นอกเวลาปกติ เช่นช่วง 16.30-18.00 น.จ่าย 300 บาท ช่วง 18.00—24.00 น.จ่าย 600 บาท เป็นต้น ส่วนพนักงานจะได้ค่าโอทีตามฐานเงินเดือนโดยคิดเป็นรายชั่วโมง