สหภาพฯ กทท.ปลุกม็อบไล่ “วิโรจน์” พ้น ผอ.กทท. ยื่น “บิ๊กแจ๊ด” เร่งประเมินผลงาน ขีดเส้นฝ่ายนโยบายตัดสินใจใน 7 วัน ไม่คืบเคลื่อนไหวใหญ่แบบต่อเนื่อง แฉ ผอ.กทท.บริหาร 7 เดือนทำองค์กรเสียหาย ส่อทุจริตจ้างบริษัททนายสู้คดีพนักงาน ส่อทุจริต จ่อยื่นดีเอสไอตรวจสอบเส้นทางการเงิน ด้าน “ประเสริฐ” นัดสหภาพฯ เจรจา 1 ก.พ.นี้ หวังเคลียร์ทุกปัญหาได้
วันนี้ (29 ม.ค.) เวลาประมาณ 12.00 น. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการท่าเรือแห่งประเทศไทย (สร.กทท.) ประมาณ 200 คน แต่งชุดดำรวมตัวบริเวณหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ กทท. และเวลาประมาณ 13.00 น. นายจเร หมีดนุ ประธานสหภาพฯ กทท.ได้ยื่นหนังสือ ต่อ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท. เรียกร้องให้ เรือตรี วิโรจน์ จงชาณสิทโธ ผู้อำนวยการ กทท. ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากการบริหารงานที่ย่อหย่อน ไร้วิสัยทัศน์ ไม่เป็นธรรม เล่นพรรคเล่นพวก กลั่นแกล้งพนักงานที่ปฏิบัติงานดีแต่ไม่มีเส้นสาย ทำลายขวัญกำลังใจของพนักงาน เป็นเหตุให้พนักงานไม่พอใจทำให้เกิดความแตกแยกภายในองค์กร หากให้ดำรงตำแหน่งต่อไป กทท.จะเสียหายอย่างมากและจะไม่ได้รับความเชื่อถือจากผู้ใช้บริการ และจะเป็นสาเหตุให้การท่าเรือฯ ไม่สามารถแข่งขันกับท่าเรือของประเทศอื่นได้ซึ่งจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเสียหายไปด้วย
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัญหาที่สหภาพฯ กทท.ไม่พอใจและออกมาประท้วงขับไล่ ผอ.กทท.นั้น เป็นความไม่เข้าใจกันระหว่างฝ่ายบริหารกับสหภาพฯ และมีเรื่องที่สหภาพฯ ฟ้องร้อง กทท.เรื่องค่าล่วงเวลา และมีพนักงานถูก กทท.ฟ้องร้อง ซึ่งคดียังค้างอยู่ที่ศาล ซึ่งในฐานะ รมช.คมนาคมจะเข้าไปแก้ปัญหาข้อข้ดแย้งดังกล่าว โดยได้เชิญสหภาพฯ กทท.มาพบในวันที่ 1 กุมภาพันธุ์ เวลาประมาณ 10.00 น.เพื่อรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น เชื่อว่าจะพูดคุยกันให้เข้าใจได้
“วันนี้คณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.มีการประชุม เชื่อว่าเหตุการณ์จะไม่รุนแรง เพราะพนักงานได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ประธานบอร์ดแล้ว ส่วนการที่จะให้ ผอ.ออกจากตำแหน่งนั้น มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา และจะดำเนินการให้ได้ตามที่เรียกร้องหรือไม่ต้องดูองค์ประกอบและเหตุผลอื่นด้วย” นายประเสริฐกล่าว
นายจเร หมีดนุ ประธานสหภาพฯ กทท.กล่าวว่า สหภาพฯ ไม่สามารถให้ เรือตรีวิโรจน์ทำหน้าที่ ผอ.กทท.ต่อไปอีกได้ เนื่องจาก 7 เดือนที่ได้บริหาร กทท.มานั้นไม่สามารถเข้ากับพนักงานได้ ไม่รับฟังผู้อื่น ลุแก่อำนาจ มีแนวโน้มที่จะทุจริตในการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาทนายความ ซึ่งจะให้มาต่อสู้กับพนักงาน 1,200 คนที่ยื่นฟ้องร้อง กทท.เพื่อเรียกร้องเงินค่าล่วงเวลา (โอที) เนื่องจากมีพนักงาน 39 คนที่ศาลฎีกาตัดสินให้ชนะคดีแล้วแต่ กทท.ยังไม่ยอมจ่ายเงินที่เรียกร้อง อีกทั้งทาง กทท.ยังตั้งคณะกรรมการสอบสวนพนักงานที่ไปขึ้นศาลเพื่อเป็นพยานในการต่อสู้คดีให้แก่พนักงานด้วย
นายจเรกล่าวว่า เรื่องจ้างบริษัททนายความที่มีแนวโน้มว่าจะมีการทุจริตนั้น จะยื่นเรื่องให้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาตรวจสอบ เนื่องจากมีหลักฐานว่าบริษัทดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับอดีตภรรยาของเรือตรี วิโรจน์ซึ่งได้หย่ากันทางนิตินัย โดยพบว่า กทท.จ้างค่าทนายต่อสู้คดีกับพนักงาน 1 คนเป็นเงิน 100,000 บาท ในขณะที่มีพนักงานยื่นฟ้องเรื่องค่าโอที 1,200 บาท คิดเป็นเงินค่าทนายจำนวนมาก ซึ่งสหภาพฯ ยังมีหลักฐานการโอนเงินจาก กทท.เข้าบัญชีบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับเรือตรี วิโรจน์
“เรือตรี วิโรจน์บริหารมาเพียง 7 เดือนแต่ทำให้ กทท.เสียหายมาก อยากให้บอร์ดหรือผู้มีอำนาจพิจารณาไม่ให้ผ่านการประเมินการทำงาน และพนักงานยินดีที่จะจ่ายเงิน 1 ล้านบาทให้เป็นค่าชดเชยโดยไม่เสียดาย เพราะหากปล่อยให้บริหารงานครบ 4 ปีจะยิ่งทำให้ กทท.เสียหายมากกว่านี้ โดยจะให้เวลา 7 วัน หากข้อสรุปที่ออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจ จะมีการยกระดับการประท้วงโดยจะขับเคลื่อนครั้งใหญ่และต่อเนื่องแน่นอน” นายจเรกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากยื่นข้อเรียกร้องแล้ว สหภาพฯ ได้ประกาศพักการชุมนุมในเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันเดียวกัน และจะรอฟังผลจากที่ประชุมบอร์ด กทท. จากนั้นจะนัดชุมนุมอีกครั้ง
วันนี้ (29 ม.ค.) เวลาประมาณ 12.00 น. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการท่าเรือแห่งประเทศไทย (สร.กทท.) ประมาณ 200 คน แต่งชุดดำรวมตัวบริเวณหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ กทท. และเวลาประมาณ 13.00 น. นายจเร หมีดนุ ประธานสหภาพฯ กทท.ได้ยื่นหนังสือ ต่อ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท. เรียกร้องให้ เรือตรี วิโรจน์ จงชาณสิทโธ ผู้อำนวยการ กทท. ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากการบริหารงานที่ย่อหย่อน ไร้วิสัยทัศน์ ไม่เป็นธรรม เล่นพรรคเล่นพวก กลั่นแกล้งพนักงานที่ปฏิบัติงานดีแต่ไม่มีเส้นสาย ทำลายขวัญกำลังใจของพนักงาน เป็นเหตุให้พนักงานไม่พอใจทำให้เกิดความแตกแยกภายในองค์กร หากให้ดำรงตำแหน่งต่อไป กทท.จะเสียหายอย่างมากและจะไม่ได้รับความเชื่อถือจากผู้ใช้บริการ และจะเป็นสาเหตุให้การท่าเรือฯ ไม่สามารถแข่งขันกับท่าเรือของประเทศอื่นได้ซึ่งจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเสียหายไปด้วย
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัญหาที่สหภาพฯ กทท.ไม่พอใจและออกมาประท้วงขับไล่ ผอ.กทท.นั้น เป็นความไม่เข้าใจกันระหว่างฝ่ายบริหารกับสหภาพฯ และมีเรื่องที่สหภาพฯ ฟ้องร้อง กทท.เรื่องค่าล่วงเวลา และมีพนักงานถูก กทท.ฟ้องร้อง ซึ่งคดียังค้างอยู่ที่ศาล ซึ่งในฐานะ รมช.คมนาคมจะเข้าไปแก้ปัญหาข้อข้ดแย้งดังกล่าว โดยได้เชิญสหภาพฯ กทท.มาพบในวันที่ 1 กุมภาพันธุ์ เวลาประมาณ 10.00 น.เพื่อรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น เชื่อว่าจะพูดคุยกันให้เข้าใจได้
“วันนี้คณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.มีการประชุม เชื่อว่าเหตุการณ์จะไม่รุนแรง เพราะพนักงานได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ประธานบอร์ดแล้ว ส่วนการที่จะให้ ผอ.ออกจากตำแหน่งนั้น มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา และจะดำเนินการให้ได้ตามที่เรียกร้องหรือไม่ต้องดูองค์ประกอบและเหตุผลอื่นด้วย” นายประเสริฐกล่าว
นายจเร หมีดนุ ประธานสหภาพฯ กทท.กล่าวว่า สหภาพฯ ไม่สามารถให้ เรือตรีวิโรจน์ทำหน้าที่ ผอ.กทท.ต่อไปอีกได้ เนื่องจาก 7 เดือนที่ได้บริหาร กทท.มานั้นไม่สามารถเข้ากับพนักงานได้ ไม่รับฟังผู้อื่น ลุแก่อำนาจ มีแนวโน้มที่จะทุจริตในการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาทนายความ ซึ่งจะให้มาต่อสู้กับพนักงาน 1,200 คนที่ยื่นฟ้องร้อง กทท.เพื่อเรียกร้องเงินค่าล่วงเวลา (โอที) เนื่องจากมีพนักงาน 39 คนที่ศาลฎีกาตัดสินให้ชนะคดีแล้วแต่ กทท.ยังไม่ยอมจ่ายเงินที่เรียกร้อง อีกทั้งทาง กทท.ยังตั้งคณะกรรมการสอบสวนพนักงานที่ไปขึ้นศาลเพื่อเป็นพยานในการต่อสู้คดีให้แก่พนักงานด้วย
นายจเรกล่าวว่า เรื่องจ้างบริษัททนายความที่มีแนวโน้มว่าจะมีการทุจริตนั้น จะยื่นเรื่องให้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาตรวจสอบ เนื่องจากมีหลักฐานว่าบริษัทดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับอดีตภรรยาของเรือตรี วิโรจน์ซึ่งได้หย่ากันทางนิตินัย โดยพบว่า กทท.จ้างค่าทนายต่อสู้คดีกับพนักงาน 1 คนเป็นเงิน 100,000 บาท ในขณะที่มีพนักงานยื่นฟ้องเรื่องค่าโอที 1,200 บาท คิดเป็นเงินค่าทนายจำนวนมาก ซึ่งสหภาพฯ ยังมีหลักฐานการโอนเงินจาก กทท.เข้าบัญชีบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับเรือตรี วิโรจน์
“เรือตรี วิโรจน์บริหารมาเพียง 7 เดือนแต่ทำให้ กทท.เสียหายมาก อยากให้บอร์ดหรือผู้มีอำนาจพิจารณาไม่ให้ผ่านการประเมินการทำงาน และพนักงานยินดีที่จะจ่ายเงิน 1 ล้านบาทให้เป็นค่าชดเชยโดยไม่เสียดาย เพราะหากปล่อยให้บริหารงานครบ 4 ปีจะยิ่งทำให้ กทท.เสียหายมากกว่านี้ โดยจะให้เวลา 7 วัน หากข้อสรุปที่ออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจ จะมีการยกระดับการประท้วงโดยจะขับเคลื่อนครั้งใหญ่และต่อเนื่องแน่นอน” นายจเรกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากยื่นข้อเรียกร้องแล้ว สหภาพฯ ได้ประกาศพักการชุมนุมในเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันเดียวกัน และจะรอฟังผลจากที่ประชุมบอร์ด กทท. จากนั้นจะนัดชุมนุมอีกครั้ง