หวั่นซ้ำรอยม็อบพนักงานการบินไทย ทำเที่ยวบินป่วน “ชัชชาติ” สั่งทุกรัฐวิสาหกิจทำแผนบริหารความเสี่ยงเสนอใน 2 สัปดาห์ ชี้ต้องเจรจาหาแนวทางช่วยทำงานแทน เพิ่มอำนาจต่อรอง และลดผลกระทบผู้ใช้บริการ ยอมรับผู้บริหารต้องชัดเจนและรักษาสัญญาที่ให้กับพนักงานป้องกันประท้วงดีกว่ามาตามแก้ภายหลัง ห่วง ทอท.เหตุมี outsouce มากหวั่นประท้วงคุมไม่ได้ เตรียมนัดสหภาพแต่ละแห่งรับฟังข้อคับใจ
เมื่อวันที่ 25 มกราคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของกระทรวงคมนาคม เพื่อหามาตรการรองรับและจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงกรณีที่พนักงานประท้วงจนกระทบต่อการให้บริการประชาชน หลังจากล่าสุดพนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชุมนุมเรียกร้องโบนัสและปรับเงินเดือนจนทำให้การให้บริการและเที่ยวบินล่าช้า
โดยนายชัชชาติเปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ทุกรัฐวิสาหกิจวิเคราะห์ความเสี่ยงและทำแผนการบริหารความเสี่ยงเพื่อรองรับ กรณีเกิดเหตุเสนอภายใน 2 สัปดาห์ โดยหลักการเมื่อเกิดเหตุพนักงานประท้วง ต้องแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการก่อน ซึ่งจะต้องเจรจาหาแนวร่วมมาช่วย เช่น องค์การขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ขสมก.) จะต้องเจรจากับผู้ประกอบการรถร่วม บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เจาจากับผู้ประกอบการรถ 30 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เจรจากับ บขส.เพื่อช่วยดูแลผู้โดยสาร และสมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุก เพื่อดูแลในส่วนของสินค้า เป็นต้น ซึ่งการมีเครือข่ายมาช่วยจะทำให้มีอำนาจต่อรองกับผู้ประท้วง
นอกจากนี้จะต้องกำหนดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ใครจะเข้าเจรจา ซึ่งจะต้องเป็นผู้มีทักษะ มีความรู้ในประเด็นที่เป็นข้อข้อแย้งหรือข้อเรียกร้อง ส่วนการดำเนินการทางกฎหมายนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งแต่ละรัฐวิสาหกิจจะมีบริบทของตัวเอง และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาให้ครบถ้วน จะเชิญตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งมาพูดคุยในช่วงเที่ยง เพื่อรับฟังความคิดเห็นและปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละรัฐวิสาหากิจ โดยจะเริ่มตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป ซึ่งนอกจากสหภาพการบินไทยแล้ว ยังกังวลสหภาพฯ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ด้วย เพราะมีปัญหาเรื่องค่าล่วงเวลาอยู่
“การที่พนักงานการบินไทยประท้วงเรื่องโบนัส เงินเดือน ผมเห็นว่าก่อนที่จะมีปัญหาประท้วงเกิดขึ้น ผู้บริหารทุกรัฐวิสาหกิจต้องมีแนวทางการดำเนินงานที่โปร่งใส ชัดเจน เพราะหลายเรื่องที่เป็นสาเหตุให้พนักงานประท้วงมาจากการดำเนินงานที่ไม่ชัดเจน หรือให้สัญญาแล้วไม่เป็นไปตามที่ให้ไว้ และต้องสื่อสารให้ชัดเจนด้วย เมื่อหลักการแม่น จะแก้ปัยหาหรือเจรจากับผู้ประท้วงได้ง่าย ให้ผู้บริหารไปทบทวนให้ดี เช่น กรณีคิดค่าล่วงเวลา (OT) ให้พนักงานใช้หลักเกณฑ์อะไร คิดอย่างไร ใครได้รับสิทธิ์ อย่าให้มีข้อโต้แย้งกัน เป็นต้น” นายชัชชาติกล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องให้ความสำคัญกับแรงงานภายนอก หรือ Outsource ที่จ้างเข้ามาทำงานเช่นกัน โดยเฉพาะ การให้บริการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ใช้ Outsource มาก หากเกิดพนักงาน Outsource ประท้วง และบริษัทที่ดูแลควบคุมไม่ได้ การแก้ปัยหาจะยากขึ้น โดยเฉพาะงานที่มี Outsourceรายเดียว ควรจะเพิ่มจำนวนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา เช่น งานสายพานลำเลียงลำเลียง, ขับรถสะพานเทียบเครื่องบิน ซึ่ง ทอท.จะต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งหมด และควรฝึกอบรมพนักงานตัวเองให้สามารถทำงานทดแทนได้ด้วย รวมถึงการประท้วงของผู้ได้รับผลกระทบทางเสียงของสุวรรณภูมิ โดยให้ทำแผนปฏิบัติ (Action plan) เมื่อเกิดเหตุ ว่ามีขั้นตอนดำเนินการและใครเป็นผู้รับผิดชอบ