xs
xsm
sm
md
lg

กทท.ล้มสัมปทานท่าเรือชายฝั่งและศูนย์ขนส่ง ทลฉ. ชี้ทำเองค่าบริการต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” สั่ง ร.ฟ.ท.ปรับวิธีประมูลไอซีดีลาดกระบังเป็นทางเลือกรายที่เสนอเก็บค่าบริการต่ำสุด (Tendering) แทนผลตอบแทนให้รัฐสูงสุด หนุนขนส่งเปลี่ยนโหมดจากถนนมาใช้รางกับเรือมากขึ้น ด้าน กทท.ล้มสัมปทานท่าเรือชายฝั่ง (A) และศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่แหลมฉบัง เสนอขอทำเองหลังเจอปัญหา พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทำล่าช้ากว่า 4 ปี

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อหาข้อสรุปในการกำหนดแนวทางและรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการให้สัมปทานประกอบการท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางรถไฟเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมว่า เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 มีมติว่าต้องการให้การให้สัมปทานที่มีการกำหนดเงื่อนไขการแข่งขัน พิจารณาจาก “ค่าบริการที่จะเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการต่ำสุด” หรือ Tendering แทน “จำนวนเงินตอบแทนสูงสุดที่จะจ่ายให้แก่รัฐวิสาหกิจเจ้าของโครงการ” หรือ Bidding ซึ่งกระทรวงมีโครงการของ 3 หน่วยงานที่เข้าข่าย คือ ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (A) ท่าเรือแหลมฉบัง และศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ ท่าเรือแหลมฉบัง (SRTO) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.), การคัดเลือกเอกชนรับสัมปทานเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบังของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการให้สัมปทานท่าเรือที่ก่อสร้างใหม่ และท่าเรือลอจิสติกส์ของกรมเจ้าท่า (จท.) ซึ่งการมีค่าบริการที่ต่ำลงจะจูงใจทำให้ผู้ขนส่งเปลี่ยนมาใช้การขนส่งทางรางและทางน้ำมากขึ้น (Ship Mode)

ทั้งนี้ โครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง (A) วงเงิน 1,959.49 ล้านบาท และศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ ท่าเรือแหลมฉบัง (SRTO) วงเงินลงทุน 3,062.65 ล้านบาทนั้น กทท.ได้เสนอว่าจะดำเนินการเองจากเดิมที่จะใช้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เนื่องจากใช้เวลากว่า 4 ปีแล้วยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในขณะที่การใช้วิธี Tendering แทน Bidding จะเกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในแหลมฉบังขั้นที่ 1 และ 2 เพราะรายเดิมที่ใช้วิธี Bidding จะมีต้นทุนสูงกว่ารายที่มาจากวิธี Tendering และเกิดการฟ้องร้อง กทท.ได้ ดังนั้น ในส่วนของ กทท.จึงไม่เข้าข่ายที่ต้องใช้วิธี Tendering

“การท่าเรือฯ เปลี่ยนแผนเพราะเห็นว่าโครงการล่าช้ามานาน และการทำเองจะมีต้นทุนที่ต่ำและเร็วกว่าการให้สัมปทานเอกชนที่ต้องคิดต้นทุนบวกกำไร แต่อาจจะใช้วิธีจ้างเอกชนเข้ามาทำงานบางส่วน เช่น การยกตู้สินค้าจากรางรถไฟไปยังเทอร์มินัลต่างๆ เป็นต้น”

ส่วนสัมปทานไอซีดีลาดกระบังนั้นได้ให้ ร.ฟ.ท.ใช้หลัก Tendering ในการคัดเลือกผู้ประกอบการ 6 สถานี ซึ่งจะดำเนินการตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2535 ภายใต้หลักการผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 2 ราย โดย ร.ฟ.ท.ควรคิดค่าเช่าพื้นที่จากเอกชนทุกรายในอัตราเท่ากัน และให้แข่งขันกันที่ค่าบริการที่เรียกเก็บต่ำที่สุด ส่วนกรมเจ้าท่านั้น เนื่องจากมีท่าเรือในความรับผิดชอบถึง 148 ท่า โดยมีทั้งท่าเรือระหว่างประเทศ ท่าเรือสาธารณะ ท่าเรือพาณิชย์ จึงให้รวบรวมรายละเอียดของปัญหาและแนวทางการพัฒนาทำแผนเสนอกระทรวงภายใน 1 เดือน แยกเป็น 2 ส่วน โดยเริ่มที่ท่าเรือที่ก่อสร้างใหม่ เช่น ท่าเรือคลองใหญ่ จ.ตราด และท่าเรือลอจิสติกส์ เช่นท่าเรือที่ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนเพื่อนำข้อมูลไปหารือกับกระทรวงการคลัง เนื่องจากท่าเรือที่กรมเจ้าท่าก่อสร้างเสร็จจะต้องโอนให้กรมธนารักษ์และมีการเรียกเก็บรายได้จากเชิงพาณิชย์ก่อน 50% จึงทำให้ไม่จูงใจเอกชนในการเข้ามาพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น