“พ้อง” จี้ผู้บริหาร กทท.แก้ปัญหาส่วยท่าเรือ หวังยกระดับมาตรฐานท่าเรือไทยเป็นผู้นำใน AEC ชี้ท่าเรือประเทศอื่นไม่มีส่วย พร้อมเร่งปรับปรุงบริการให้สะดวกขึ้น ลดเวลารถบรรทุกเข้าและออกได้ภายในครึ่ง ชม. ด้าน กทท.เผยปี 56 ตู้สินค้าโตไม่มาก เหตุ ศก.โลก-ค่าเงินกระทบส่งออก-นำเข้า
นายพ้อง ชีวานันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) วันนี้ (10 ก.ค.) ว่า ได้มอบนโยบายเร่งด่วนให้ กทท.แก้ปัญหาเรื่องส่วย ซึ่งมีผู้ประกอบการขนส่งร้องเรียนมาโดยตลอด โดยเห็นว่าปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบต่อชื่อเสียงขององค์กรมากและความน่าเชื่อถือของ กทท.หากเปิด AEC แล้วยังมีปัญหานี้อยู่ ขณะที่ท่าเรือประเทศอื่นไม่มีเรื่องส่วย จะทำให้ท่าเรือของไทยไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ใช้บริการ และเป็นผู้นำใน AEC ไม่ได้ โดยเห็นว่าหากสามารถปรับปรุงและยกระดับมาตรฐานจนขยับขึ้นจากท่าเรืออันดับที่ 23 ของโลกในปัจจุบันได้ ถือว่าเป็นตัวชี้วัดและเครื่องพิสูจน์ผลตอบรับจากผู้ใช้บริการได้ระดับหนึ่ง
“ผมได้กำชับให้ผู้บริหาร กทท.ลงไปแก้ไขอย่างจริงจัง โดยขอความร่วมมือกับสหภาพการท่าเรือฯ และพนักงานทุกระดับ โดยให้ยึดภาพลักษณ์และประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก โดยผมพร้อมรับฟังทุกปัญหา จะไม่ทุบโต๊ะเพื่อหักหาญกัน เพราะสิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจกับพนักงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเรียกร้อง สร้างเงื่อนไขเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งการประท้วงจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วยไม่ใช่เฉพาะในการท่าเรือเท่านั้น จึงต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลมไม่ใช่ปล่อยให้ยืดเยื้อ แต่ก็คงตอบไม่ได้ว่าส่วยท่าเรือจะหมดไปเมื่อไร แต่ตั้งใจว่าจะต้องแก้ปัญหานี้ให้หมดไปให้ได้” นายพ้องกล่าว
นอกจากนี้ ต้องการให้ปรับปรุงการให้บริการในเขตท่าเรือให้มีความทันสมัย สะดวก รวดเร็ว โดยนำระบบไอทีมาให้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ต้องลดระยะเวลาในการเข้ามาส่งหรือรับสินค้าของรถบรรทุกให้ลดลงเหลือไม่เกินครึ่งชั่วโมงตามมาตรฐาน ซึ่งพบว่าปัจจุบันรถบรรทุกยังใช้เวลาในท่าเรือหลายชั่วโมง รวมถึงการพัฒนาท่าเรือแบบยั่งยืนเพื่อเป็นประตูสู่โลก มากกว่าพัฒนาเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง โดยคำนึงถึงความโปร่งใส การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างสัมพันธ์กับชุมชนที่อยู่อาศัยใกล้กับท่าเรือไม่ให้เกิดปัญหา ส่วนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อมูล เนื่องจากต้องวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากท่าเรือทวายด้วย อาจจะใช้เวลาสักระยะ
ด้านเรือเอก อิทธิชัย สุพรรณกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลและการเงิน ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า ปัญหาส่วยท่าเรือกรุงเทพนั้นเป็นเรื่องของกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อท่าเรือ ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ได้รุนแรงมากตามที่เป็นข่าว ส่วนกลุ่มผู้ที่ต้องการผลประโยชน์จากเงินใต้โต๊ะ เงินนอกระบบ ถือเป็นกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อองค์กร ซึ่งที่ผ่านมาได้มีคำสั่งกำชับพนักงานทุกคนห้ามรับรางวัลในรูปแบบต่างๆ มาโดยตลอด และจากนโยบายของ รมช.คมนาคมจะแจ้งให้พนักงานทุกคนรับทราบและทำความเข้าใจตรงกันต่อไป
สำหรับผลการดำเนินงานของ กทท.ในปี 2556 ในช่วง 8 เดือน (ต.ค.55-พ.ค.56) ท่าเรือกรุงเทพมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าจำนวน 0.982 ล้านทีอียู เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่ม 23.21% คาดทั้งปี 2556 ปริมาณตู้สินค้าจะอยู่ที่ 1.3 ล้านทีอียู ใกล้เคียงกับปี 2555 ส่วนท่าเรือแหลมฉบัง มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าจำนวน 3.926 ล้านทีอียู เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่ม 3.62% คาดทั้งปี 2556 ปริมาณตู้สินค้าจะอยู่ที่ 6.1-6.5 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ประมาณ 4.5-5% โดยรายได้รวมของ กทท.จะอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปี 2555 ที่มีรายได้ 1.25 หมื่นล้านบาท โดยการเติบโตของตู้สินค้าขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจโลก ค่าเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้