ดีเอสไอรับมอบหมายกระทรวงคลังเข้าตรวจสอบกระบวนการการขอคืนเงินภาษีอันเป็นเท็จ พบผู้กระทำผิดสำแดงเท็จจำนวน 49 รายภายในการท่าเรือฯ มูลค่าความเสียหายกว่า 4,000 ล้าน
วันนี้ (9 ก.ค.) นายชำนาญ ฉันทวิทย์ ผู้บัญชากการสำนักคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ พร้อมทีมพนักงานสอบสวน เดินทางเข้าพบนายสัมพันธ์ จารุรัตนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการตรวจสอบสินค้า ที่ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร ภายในการท่าเรือแห่งประเทศไทย ถนนอาจณรงค์ แขวงและเขตคลองเตย เพื่อเข้าขอตรวจสอบการโกงขอคืนภาษีส่งออก มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากรมาร่วมชี้แจงด้วย
นายชำนาญเปิดเผยว่า เนื่องจากทางกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด จำนวน 32 ราย ซึ่งมีการขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จ จากการส่งออกสินค้าประเภทโลหะ ออกนอกประเทศในปี 2555-2556 จากการสืบสวนได้พบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีกลุ่มคนที่มีการกระทำความผิดเพิ่มขึ้นอีกกว่า 17 ราย รวมทั้งสิ้นตอนนี้ 49 ราย โดยมีพฤติการณ์เป็นทั้งผู้ขายสินค้า และออกใบกำกับภาษีขายให้แก่นิติบุคคลในกลุ่มผู้ออกสินค้าประเภทโลหะอัดแท่งไปยังต่างประเทศ และสำแดงราคาสูงกว่าราคาตลาดทั่วไปซึ่งเกินกว่าความเป็นจริง
“โดยทางกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เร่งรัดการขอเอกสารจากกรมศุลกากร หน่วยงานราชการ และธนาคารทุกแห่ง รวมทั้งได้ออกหนังสือเรียกบุคคลผู้เกี่ยวข้องมาพบเพื่อให้การในชั้นสอบสวน หากไม่มาพบจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ซึ่งในวันนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร และเจ้าหน้าที่การท่าเรือฯ เพื่อขอตรวจสอบกระบวนการการขนส่งภายในการท่าเรือ ว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง เพื่อหาข้อผิดพลาด ว่าเกิดขึ้นด้วยสาเหตุใด” นายชำนาญกล่าว
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ธนะวัฒนานนท์ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ กล่าวว่า ในกระบวนการงส่งออกภายในการท่าเรือแห่งประเทศไทยนั้น ทางกรมศุลกากรใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมทั้งหมดว่ามีสินค้าที่ถูกต้องหรือไม่ก่อนจะอนุมัตให้ผ่านเข้ามาในประเทศได้ ซึ่งต้องมีกระบวนการสำแดงว่าเป็นสินค้าประเภทกรีนไลน์ หรือเรดไลน์ ก่อนเปิดตรวจสอบสินค้าซึ่งเป็นไปตามกระบวนการทางศุลกากร จากนั้นทางเจ้าหน้าที่จะอนุมัติให้นำสินค้าไปลงเรือ ส่วนเจ้าหน้าที่ควบคุมเรือจะต้องยืนยันมาทางระบบศุลกากรเช่น ชื่อเรือ ชื่อตู้สินค้า ที่นำลงเรือ เพื่อทำการจดบันทึกสถานะว่ามีการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการย้อนไปตรวจสอบว่าที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบผิดพลาดในส่วนใดบ้าง ซึ่งรายละเอียดยังไม่แน่นอน
ทางด้านนายสัมพันธ์เปิดเผยว่า หลังจากนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต จะต้องมีการบูรณาการในการทำงานใหม่ให้มีกระบวนการทำงานอย่างรอบครอบ รวมทั้งช่วยกันตรวจสอบไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต ส่วนที่ผ่านมามีการโกงค่าภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ จะต้องทำการติดตามหาคนกระทำความผิดมาดำเนินตามขบวนการทางศุลกากร
ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อสันนิษฐานความผิดพลาดไว้ 3 ด้าน คือ 1. ความผิดพลาดจากระบบการตรวจสอบสินค้า และการตรวจสอบเอกสารต่าง 2. เกิดความผิดพลาดจากการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสุดท้ายตัวเจ้าหน้าที่มีการทุจริตเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ต้องทำการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อตามหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป