“คมนาคม” หารือ กทม.ตั้งกรรมการร่วม 2 ชุดแก้ปัญหาก่อสร้างรถไฟฟ้าและวิกฤตจราจรอย่างยั่งยืน “ชัชชาติ” เผยจะประชุมกับผู้ว่าฯ กทม.ทุก 2 เดือนเพื่อติดตามงาน สั่ง รฟม.ทำความเข้าใจประชาชนแยกบางพลัดกรณีเวนคืนเพิ่ม ยันเยียวยาเต็มที่ เตรียมปรับปรุงป้ายรถเมล์ พร้อมแก้คอขวด 200 จุดทั่ว กทม.แก้รถติด
วันนี้ (5 ก.ค.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมร่วมกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองฝ่าย เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ผู้บริหารสูงสุดของทั้ง 2 หน่วยงานร่วมประชุมหารือเพื่อรับทราบปัญหาอุปสรรครวมถึงกำหนดกรอบแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าและการแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่ กทม.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการย่อยร่วมกัน 2 ชุด คือ คณะกรรมการแก้ปัญหาการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ มีนายชูศักดิ์ เกวี รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) เป็นประธาน และคณะกรรมการแก้ปัญหาจราจร มี นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เป็นประธาน โดยคณะกรรมการย่อยจะประชุมอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามปัญหาและหาแนวทางแก้ไข โดยนำผลรายงานต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ที่จะมีการประชุมร่วมกันทุก 2 เดือน
ทั้งนี้ ปัญหาการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งแนวเส้นทางบนถนนจรัญสนิทวงศ์มีปัญหา 2 จุดใหญ่ คือที่สามแยกไฟฉาย และแยกบางพลัด เนื่องจากโครงสร้างเสารถไฟฟ้าต้องก่อสร้างในพื้นที่เดียวกับทางลอดอุโมงค์ของ กทม. โดยที่สามแยกไฟฉายนั้นสรุปแล้วว่าทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะจ้างผู้รับเหมาของ กทม.ก่อสร้างฐานรากของรถไฟฟ้าให้ด้วยเนื่องจากฐานรากของรถไฟฟ้าจะลึกถึง 50 เมตร แต่ยอมรับว่าตัวสถานีสามแยกไฟฉายจะล่าช้ากว่าทางวิ่ง โดยช่วงแรกที่เปิดเดินรถจะหยุดรถที่สถานีนี้ไม่ได้
ส่วนแยกบางพลัดนั้น เดิมจะก่อสร้างเสาตอม่อบนทางเท้าแต่ติดปัญหาไม่สามารถรื้อท่อระบายน้ำของ กทท.ได้จึงจำเป็นต้องเวนคืนตึกแถวสองฝั่ง รวม 84 คูหา เพื่อใช้เป็นที่ก่อสร้างเสาตอม่อทางวิ่ง ซึ่งทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบร้องเรียนต่อกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ให้ปรับแบบเป็นเสาตอม่อเดียวตรงกลางทางลอดบางพลัดแทนนั้น คณะทำงานจะต้องนำข้อเสนอไปดูรายละเอียดและวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียผลกระทบภาพรวม เรื่องนี้ตัดสินใจไม่ยากเพราะถ้าวางเสารถไฟฟ้าตรงกลางอุโมงค์จะเสียถนนไป 1 ช่องจราจรและมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม โดยให้ได้ข้อสรุปใน 1เดือน หากสรุปไม่ได้ให้เสนอระดับนโยบายตัดสินใจเพราะปัญหานี้ล่าช้ามานานแล้ว ต้องรีบตัดสินใจ
“กรณีที่มีการเวนคืนเพิ่มนั้น ต้องยอมรับว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าจะต้องมีผู้ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน ซึ่งยืนยันว่าจะมีการเวนคืนเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น และจะต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบซึ่งค่าชดเชยในกฎหมายเวนคืนปัจจุบันถือว่าปรับเพิ่มขึ้นมากแล้ว อย่างไรก็ตาม รฟม.มีหน้าที่ต้องไปชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน” นายชัชชาติกล่าว
นอกจากนี้ยังจะขอความร่วมมือจาก กทม.ในการขอใช้พื้นที่หน้าตลาดนัดจตุจักร 2 เพื่อทำทางเชื่อม (Walk Way) บริเวณรถไฟฟ้าสายสีชมพู จากสถานีมีนบุรีไปยังสุวินทวงศ์ ระยะทางประมาณ 700 เมตร เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้บริการของประชาชน และทำแผนทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของ รฟม. กับรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่สถานีบางหว้า ให้เป็นจุดเปลี่ยนรถในการเดินทางที่สะดวกมากที่สุด
ส่วนการแก้ไขปัญหาจราจรร่วมกันนั้น ให้คณะทำงานหาข้อสรุปการบริหารจัดการพื้นที่สถานีขนส่งสายใต้เก่าเพื่อใช้เป็นจุดจอดรถทัวร์นักท่องเที่ยวที่มีเป็นจำนวนมากเพื่อลดปัญหาการจราจรและผลกระทบต่อโบราณสถานภายในเกาะรัตนโกสินทร์ โดยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวกว่า 12 ล้านคนต่อปี ซึ่งเบื้องต้นมี 2 แนวทาง คือ ให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ให้สิทธิ กทม.บริหารพื้นที่ โดย กทม.จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ บขส. หรือให้ บขส.บริหารโดยประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ามา ส่วน กทม.สนับสนุนติดตั้ง CCTV
นายชัชชาติกล่าวว่า ปัญหาจราจรในพื้นที่วิกฤตนั้นต้องการให้ กทม.มาร่วมบูรณาการเพื่อให้แก้ปัญหาได้ในทุกมิติ โดยเฉพาะหาบเร่แผงลอย การไม่ให้มีสิ่งกีดขวางในผิวจราจร จะลดความฝืดซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รถติดได้ ซึ่งจากที่ได้ร่วมมือกับตำรวจจราจรแก้ไขที่ถนนพระราม 4 นำร่องได้รับผลระดับหนึ่งแล้วแต่ต้องหามาตรการเพิ่มเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และจากที่ให้ข้าราชการกระทรวงคมนาคมขึ้นรถเมล์มาทำงานนั้น ได้รับรายงานว่าป้ายรถเมล์มีปัญหา จึงจะร่วมกับ กทม.ปรับปรุง เพิ่มหลังคาให้กันแดด กันฝนได้ เพิ่มไฟฟ้าแสงสว่าง และป้ายบอกสายและเส้นทาง ที่สำคัญจะนำระบบจราจรอัจฉริยะ (ITS) มาใช้ในการแก้ปัญหาจราจร โดยขั้นแรกจะต้องพัฒนารูปแบบป้ายรถเมล์ที่ต้องการก่อน จากนั้นสำรวจและประมาณการค่าใช้จ่ายและดูแหล่งเงินเพราะป้ายรถเมล์เป็นของ กทม. ซึ่งหาก กทม.ติดขัดงบประมาณ กระทรวงคมนาคมพร้อมเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนคอขวดนั้นผลสำรวจพบว่ามีกว่า 200 จุด
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมและ กทม.ร่วมมือกันทำงานมานานแล้วแต่เป็นระดับเจ้าหน้าที่ เช่นกรณีที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ให้ กทม.ใช้พื้นที่ใต้ทางด่วนทำสวนสาธารณะและลานกีฬา เป็นต้น ส่วนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนั้นเจ้าหน้าที่ได้แก้ปัญหาร่วมกันมาตลอด แต่อาจจะไม่พอ การที่ผู้บริหารสูงสุดมาหารือกันเป็นครั้งแรกนั้นจะทำให้เห็นภาพรวมของปัญหาและหาทางแก้ไขร่วมกันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด