“คมนาคม” เคาะ 4 ขั้นตอนแผนเผชิญเหตุรับมือสหภาพรัฐวิสาหกิจ 9 แห่งประท้วง สั่งทำแผนแม่บท เป็นคู่มือ “วิเชียร” ชี้ปัญหาที่ผ่านมาเพราะละเลยทำความเข้าใจต่อพนักงาน ปล่อยให้เกิดเหตุก่อน ยอมรับกรณีการท่าเรือฯ ปัญหาสะสมจนสุกงอมเกินเยียวยา เผยภาคเอกชนเสนอคมนาคม เจ้าภาพตั้งสภาขนส่งทางบกและลอจิสติกส์, Logistic Park และ Logistic City หวังลดต้นทุนลอจิสติกส์เพื่อประสิทธิภาพขนส่ง
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 10 แห่งของกระทรวงคมนาคม วานนี้ (20 ก.พ.) ว่า ได้สรุปมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาพนักงานรัฐวิสาหกิจชุมนุมประท้วงและหยุดงาน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการ โดยได้กำหนดแผนบริหารความเสี่ยงแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1. แผนเตรียมการก่อนเกิดเหตุ โดยจะต้องประเมินสถานการณ์ ตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ระเบียบปฏิบัติ มอบหมายผู้รับผิดชอบประสานพันธมิตรในการเข้ามาช่วยเหลือและหาที่ตั้งศูนย์ประสานงานกรณีจำเป็น 2. แผนเผชิญเหตุในขณะเกิดเหตุจะมีศูนย์ปฏิบัติการพร้อมทีมเจรจากรณีที่มีข้อเรียกร้อง โดยหากไม่ได้ผลจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3. แผนเข้าคลี่คลายสถานการณ์ ซึ่งจะดำเนินการตามสถานการณ์โดยมีการสั่งการจากศูนย์อย่างเป็นระบบ 4. แผนฟื้นฟู ซึ่งจะมีการสอบสวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้นด้วย
ทั้งนี้ได้ย้ำในเรื่องการฝึกซ้อมการปฏิบัติตามแผน การกำหนดบุคคลที่รับผิดชอบ และการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม เพื่อให้แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องประสานงานด้วยความเข้าใจที่ตรงกัน โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ รวมถึงการแก้ปัญหากรณีผลกระทบที่มีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกเช่น การชุมนุมทางการเมือง เป็นต้น โดยได้มอบหมายให้นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคมด้านขนส่ง เป็นประธานคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนแม่บทรวมเพื่อให้ทุกรัฐวิสาหกิจใช้เป็นคู่มือ พร้อมทั้งติดตามการเปลี่ยนแปลงของความเสี่ยงของแต่ละรัฐวิสาหกิจด้วย
พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวว่า กรณีที่สหภาพการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ประท้วงจนทำให้เรือตรีวิโรจน์ จงชาณสิทโธ ผู้อำนวยการ กทท.ต้องลาออกนั้น เห็นว่าปัญหาของ กทท.สะสมมานานและมาถึงจุดที่ยากจะแก้ไข ซึ่งยอมรับว่าการพนักงานไม่พอใจเรื่องขึ้นเงินเดือน โบนัส หรือค่าตอบแทนต่างๆ เป็นปัญหาที่บางหน่วยงานมีข้อจำกัดและผู้บริหารยังหาทางดูแลให้ไม่ได้ แต่หลังจากนี้เมื่อมีแผนบริหารความเสี่ยงและให้ความสำคัญกับการสื่อสารให้ข้อมูลและทำความเข้าใจกับพนักงานให้มากขึ้น เชื่อว่าจะลดความรุนแรงปัญหาลงได้ระดับหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ถือว่าแผนมีความพร้อมในการนำไปปฏิบัติได้แล้ว
“ได้สั่งการให้แต่ละหน่วยงานติดตามสถานการณ์ภายในองค์กรอย่างใกล้ชิด เพื่อรายงานตามขั้นตอนได้ทันทีหากเกิดสถานการณ์ขึ้น ซึ่งจะทำให้แก้ปัญหาได้ทัน ซึ่งแผนเผชิญเหตุของ 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สถานบันการบินพลเรือน (สบพ.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) บริษัท การบินไทย จำกัด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำกัด (กทท.) น่าพอใจ แม้แต่ละหน่วยงานจะมีความแตกต่างกันของปัญหาและความเสี่ยง แต่มีการวางระบบไว้ค่อนข้างดี เพียงแต่บูรณาการและกระทรวงคมนาคมเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยที่เป็นห่วงคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นบางหน่วยงานนั้นพบว่ามีการสื่อสาร และทำความเข้าใจในองค์กรน้อยเกินไป” พล.ต.อ.วิเชียรกล่าว