xs
xsm
sm
md
lg

ปัจจัยลบรุมกระหน่ำ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจัยลบรุมเร้า ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.ลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 คาดยังชะลอตัวต่อเนื่อง เหตุคนกังวลปัญหาการเมือง เศรษฐกิจโลก และอำนาจซื้อหดตัว แนะรัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจภายในด่วน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. 2556 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันเพราะมีปัจจัยลบหลายอย่างบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. 2556 อยู่ที่ระดับ 81.6 ลดจากเดือน พ.ค. ที่ 82.5 ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 64 ลดลงจาก 65 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 87.3 ลดลงจาก 88.3 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 71.8 ลดจาก 72.8 ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 73.5 ลดจาก 74.4 ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 99.3 ลดจาก 100.4 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่ดัชนีมีค่าต่ำกว่าระดับที่ 100

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงมีปัจจัยลบจากการที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้เหลือ 4.5% จากเดิม 5.3% ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับเรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ให้ทำประชาพิจารณ์และทำรายงานสิ่งแวดล้อม รัฐบาลลดราคาจำนำข้าวเหลือตันละ 1.2 หมื่นบาทในช่วงที่ทำการสำรวจ ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลง และการส่งออกลดลง ราคาน้ำมันสูงขึ้น กังวลเงินบาทแข็งค่า ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและปัญหาภาคใต้ และค่าครองชีพสูง

ทั้งนี้ ศูนย์ฯ คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะอยู่ในช่วงขาลงไปจนถึงไตรมาส 3 เพราะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น และยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเมืองในประเทศ เศรษฐกิจโลก ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อให้ประชาชนมีอำนาจซื้อ ซึ่งการชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ไปจนถึงเดือน ก.ย.นี้จะทำให้ไม่เกิดผลลบทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภค และต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังค้างอยู่โดยเร็วเพื่อช่วยพยุงการจ้างงาน รวมถึงต้องสนับสนุนการท่องเที่ยว และการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ยังคาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 4-4.5% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 5%
กำลังโหลดความคิดเห็น