xs
xsm
sm
md
lg

หนี้ครัวเรือนท่วม! หอการค้าฯ เผยตัวเลขพุ่งสูงสุดรอบ 5 ปี ค่าครองชีพพุ่ง 23%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หอการค้าฯ เผยหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี เฉลี่ยครอบครัวละ 1.9 แสนบาท โดยมีอัตราการขยายตัว 13% กระทบการจับจ่ายใช้สอยหดตัว ชี้สาเหตุเกิดจากค่าครองชีพพุ่งสูงถึง 23.3% ค่าเรียนบุตรหลาน 22% และการซื้อสินทรัพย์ถาวร ทั้งบ้าน และรถยนต์ หวั่นคนจนแห่กู้นอกระบบ ส่วนคนชั้นกลางกำลังเจอหนี้บัตรเครดิตเล่นงาน ผลสำรวจเผย ปชช. มีบัตรคนละ 1-2 ใบ ส่วนใหญ่เป็นหนี้ 2-4 เท่าของเงินเดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจสภาพหนี้ครัวเรือนจำนวน 1,200 ตัวอย่าง พบว่าครัวเรือนถึงร้อยละ 64 มีหนี้สิน โดยจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนรวมทั้งสิ้น 188,774.54 บาท ขยายตัวร้อยละ 12 จากปี 2555 ซึ่งถือเป็นหนี้ครัวเรือนที่สูงสุดนับตั้งแต่การสำรวจในรอบ 5 ปี โดยมีอัตราการผ่อนชำระต่อเดือน 11,671.93 บาท แบ่งเป็นหนี้นอกระบบร้อยละ 49.6 หรือผ่อนชำระ 6,377.70 บาทต่อเดือน โดยอัตราการขยายตัวของหนี้นอกระบบสูงขึ้นถึงร้อยละ 13.6 เป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2552 ส่วนการกู้ในระบบร้อยละ 50.4 หรือผ่อนชำระ 10,990.28 บาทต่อเดือน

กลุ่มตัวอย่างที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้มีรายได้น้อยและผู้ใช้แรงงานที่กู้เงินต่ำกว่า 5,000 บาท เพราะมีการกู้เงินนอกระบบสูงที่สุด และมีปัญหาในการผ่อนชำระหลังจากที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้ชะลอตัวลง โดยเฉพาะในเดือนเมษายน และพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่เห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น ทำให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยน้อยลงไปด้วย ประชาชนไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจในอนาคต และนำเงินส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนสาเหตุที่ทำให้หนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 23.3 ค่าเรียนบุตรหลานร้อยละ 22 และการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น เช่น บ้าน และรถ ร้อยละ 13.5 และมีการก่อหนี้ใหม่ในปีนี้ถึงร้อยละ 10.3

ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ 15,000 บาทขึ้นไป พบว่าเป็นการกู้เงินจากบัตรเครดิตซึ่งยังมีความสามารถในการชำระหนี้ตามกำหนดเวลา และยังไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องดูแลคือปัญหาค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อย และราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น หากผู้มีรายได้น้อยยังมีรายรับไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายก็จะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาพบว่าถึงร้อยละ 70.6 เคยมีปัญหาในการชำระหนี้ ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกเจ้าหนี้ข่มขู่ และทำร้าย ทำลายข้าวของ หากไม่สามารถชำระหนี้ได้

ทั้งนี้ ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิต พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 มีบัตรเครดิต 1-2 ใบ และส่วนใหญ่จะเป็นหนี้บัตรเครดิต 2-4 เท่าของเงินเดือน รองลงมาเป็นหนี้ 5-7 เท่า ทำให้มีปัญหาการชำระหนี้มากขึ้น และทำให้ขาดวินัยในการใช้เงิน นอกจากนี้ ร้อยละ 25.1 ยังมองว่าในช่วง 6 เดือนข้างหน้า หนี้บัตรเครดิตจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 36.7 มองว่าหนี้จะลดลงได้ โดยมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้ ด้วยการลดค่าครองชีพ ลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต ควบคุมราคาสินค้าจำเป็น ดูแลราคาก๊าซ และราคาน้ำมันไม่ให้สูงเกินไป

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะปรับจีดีพีในปีนี้ใหม่ในวันจันทร์ที่ 8 ก.ค.นี้ จากเดิมคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 5
กำลังโหลดความคิดเห็น