- ยูโรสแตท รายงานว่า อัตราว่างงานในยูโรโซนอยู่ที่ 12.1% ในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 12.0% ในเดือน เม.ย. แต่ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ 12.3% และเป็นเดือนที่ 5 ที่ทรงตัวอยู่บริเวณ 12.00%-12.10% จากที่ปรับตัวขึ้นมาโดยตลอด ทั้งนี้ ยูโรโซนมีจำนวนผู้ว่างงาน 19.22 ล้านคนในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 67,000 คนจากเดือนก่อนหน้า
- มาร์กิต รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนในเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี เป็น 48.8 จุด จาก 48.3 จุดในเดือน พ.ค.โดยได้รับปัจจัยหนุนจากภาคการผลิตที่มีสัญญาณดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของฝรั่งเศสและอิตาลี โดยดัชนี PMI ของฝรั่งเศสปรับขึ้นเป็น 48.4 จุดจาก 46.4 จุดในเดือนก่อนหน้า และดัชนี PMI ของอิตาลีปรับขึ้นเป็น 49.1 จุดจาก 47.3 จุด (ดัชนีใกล้ 50 จุดแสดงถึงภาวะการผลิตที่หดตัวในอัตราลดลงและใกล้จะฟื้นเป็นการขยายตัว) อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตของเยอรมนีกลับมีการหดตัวรุนแรงขึ้น โดยดัชนี PMI ของเยอรมนีลดลงมาอยู่ที่ 48.6 จุด จาก 49.4 ในเดือน พ.ค.
- มาร์กิต รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของอังกฤษในเดือน มิ.ย.อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 25 เดือน โดยเป็น 52.5 จุด เพิ่มขึ้นจาก 51.5 จุดในเดือน พ.ค.และยืนเหนือระดับ 50 จุดได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยทั้งผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการสินค้าที่ฟื้นตัว
- ยอดค้าปลีกของเยอรมนีในเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนก่อนหน้า หลังจากลดลง 3 เดือนติดต่อกัน และเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นหลังจากซบเซาในช่วงสภาพอากาศที่ย่ำแย่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
- Confindustria ซึ่งเป็นสมาคมอุตสาหกรรมชั้นนำของอิตาลีคาดการณ์ว่า GDP ของอิตาลีจะหดตัวลง 1.9% ในปีนี้ ซึ่งแย่กว่าตัวเลขประมาณการเดิมที่คาดว่าจะหดตัวลง 1.1% แต่น่าจะเริ่มฟื้นตัวเล็กน้อยตั้งแต่ไตรมาส 4 และได้ลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ปีหน้าจากเดิม 0.6% เหลือ 0.5%
- ฟิทช์ เรทติ้งส์ คงอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐที่ระดับสูงสุด AAA จากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง ตัวเลขหนี้ภาคเอกชนลดลง ตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวขึ้น อัตราว่างงานลดลง และมีการลดยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐในระดับที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ยังคงแนวโน้มความน่าเชื่อถือของสหรัฐเป็นลบเนื่องจากหนี้สินยังอยู่ในระดับสูง
- รอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกน รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐเดือนมิ.ย.อยู่ที่ 84.1 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือน พ.ค.ซึ่งอยู่ที่ 84.5 จุด เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเรื่องการร่วงลงของตลาดหุ้นและต้นทุนการกู้ยืมที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่นับว่าดีกว่าที่ตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ดัชนีจะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 82.8 จุด
- ธนาคารกลางญี่ปุ่นเปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำไตรมาส 2 โดยพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นไปอยู่ +4 จากไตรมาส 1 ซึ่งอยู่ที่ -8 เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สอง (ดัชนีที่มากกว่า 0 แสดงว่าผู้ประกอบการมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อธุรกิจ) ด้วยแรงหนุนจากยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากการอ่อนค่าของสกุลเงินเยนและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงขึ้น ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการนอกภาคการผลิตอยู่ที่ +12 ในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นจาก +6 ในไตรมาส 1 โดยบริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมทุกประเภทวางแผนว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อลงทุนอีก 5.5% ในปีงบการเงิน 2556 นี้ (สิ้นสุดเดือนมี.ค.ปีหน้า) เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจในไตรมาสแรกที่วางแผนว่าจะลดการใช้จ่ายลงทุนลง 2%
- สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน มิ.ย.ลดลงมาอยู่ที่ 50.1 จุด จาก 50.8 จุดในเดือน พ.ค. ถึงแม้ดัชนีจะชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังมีการขยายตัวอยู่ แต่ดัชนีย่อยในด้านการจ้างงานและการคาดการณ์ผลผลิตนั้นได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าผู้ผลิตมีมุมมองเป็นลบมากขึ้นต่อธุรกิจ
- HSBC รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือน มิ.ย. ลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือนไปอยู่ที่ 48.2 จุด (49.2 จุดในเดือนก่อนหน้า) แสดงว่ากิจกรรมภาคการผลิตของจีนหดตัวลง โดยคำสั่งซื้อที่ลดลงและปริมาณสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยกดดันต่อกลุ่มผู้ผลิตจีน
- HSBC ลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกสำหรับปีนี้ลงเหลือ 2.0% และเหลือ 2.6% ในปีหน้า เนื่องจากกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่งต้องพึ่งพาสหรัฐและจีนอย่างมาก และประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุดก็คือประเทศผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ เนื่องจากการปรับตัวลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะนี้
- ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 1% ในเดือน มิ.ย.เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ปรับเพิ่มขึ้น 1.4% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้ต่ำกว่า 2% มา 8 เดือนติดต่อกัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางเกาหลีใต้ที่กำหนดกรอบที่ 2.5-3.5%
- พม่าประกาศโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ในเดือน ก.ย. เพื่อรองรับกระแสนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้ามาหลังจากดำเนินการปฏิรูปประเทศ โดยท่าอากาศยานนานาชาติหันธาวดีตั้งอยู่ในเขตพะโค หรือหงสาวดี ทางภาคกลางของประเทศ มีเนื้อที่ทั้งหมด 9,690 เอเคอร์ (ประมาณ 24,500 ไร่ ใหญ่กว่าสนามบินสุวรรณภูมิที่มีพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่)
- ธปท. รายงานว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค. ชะลอตัวลงในเกือบทุกส่วน
1. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวลง 0.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลกระทบจากโครงการรถยนต์คันแรกและครัวเรือนใช้จ่ายะมัดระวังมากขึ้น เห็นได้จากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหดตัวลง 1.7%
2. ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลง 3.3% จากที่เร่งลงทุนไปในช่วงก่อนหน้า และเป็นผลของฐานสูงในปีก่อนที่เร่งลงทุนเพื่อทดแทนความเสียหายจากน้ำท่วม
3. การส่งออกหดตัวลง 5.2% จากปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ทำให้การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญลดลง โดยเฉพาะจีน สิงคโปร์ และ อียู ทำให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว 7.5%
4. ตัวเลขเดียวที่มีการขยายตัวดีต่อเนื่อง คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 22.2%
- ก.พาณิชย์ รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 2.25% และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 2.70% โดยอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงเนื่องมาจากราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของเดือน มิ.ย.ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.88% และค่าเฉลี่ย 6 เดือนแรกอยู่ที่ 1.23% นอกจากนี้ ราคาอาหารสดได้ค่อยๆ ปรับตัวลดลงตามสภาพอากาศ ซึ่งจะทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป
- ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินว่าการส่งออกของไทยปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 3.5% ซึ่งน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ที่ 5-7% เนื่องจากมีสัญญาณชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ได้แก่สหภาพยุโรปและจีน ที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงในไตรมาส 2 และยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะฟื้นกลับมาในครึ่งปีหลัง ส่วนญี่ปุ่นนั้นแม้จะมีการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องแต่การบริโภคภายในประเทศยังคงอ่อนแอ จึงมีเพียงเศรษฐกิจสหรัฐเท่านั้นที่มีสัญญาณฟื้นตัว
- คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติให้กลับไปใช้ราคารับจำนำข้าวนาปรังที่ตันละ 15,000 บาทจนถึงสิ้นสุดโครงการรอบนี้ในวันที่ 15 ก.ย.56 แต่จะรับจำนำในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท/ครัวเรือน ตามมติ กขช.เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนปีในปีหน้าจะทบทวนราคาอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับราคาของตลาดโลก
- SET Index ในวันศุกร์ปิดที่ 1,451,90 จุด เพิ่มขึ้น 5.45 จุด หรือ +0.38% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 58,915 ล้านบาท โดยดัชนีปรับตัวขึ้นมากกว่า 20 จุดในช่วงเช้าและค่อยๆ ปรับลดลงในระหว่างวัน ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการขายทำกำไรหลังจากที่ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นมากในช่วง 3 วันทำการก่อนหน้า สำหรับภาวะตลาดหุ้นในย่านเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ในวันทำการแรกของไตรมาส 3/56 ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ออกมาแย่กว่าที่คาด แต่ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้บ้างในช่วงท้ายตลาดหลังจากที่รายงานตัวเลขเศรษฐกิจทางฝั่งยุโรปออกมาดี ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคยุโรปปรับตัวขึ้นโดยส่วนใหญ่
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปปรับตัวลดลงในทุกช่วงอายุ โดยเปลี่ยนแปลงช่วงระหว่าง -0.09% ถึง -0.01% เป็นการปรับตัวลดลงแรง 2 วันติดต่อกัน สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรธปท. 4 รุ่นด้วยกัน ได้แก่ รุ่นอายุ 1เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี มูลค่ารวม 108,000 ล้านบาท
- Warren Buffet
“มันใช้เวลาถึง 20 ปีที่จะได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจ แต่เพียง 5 นาทีของการไม่ใส่ใจใคร่ครวญให้รอบคอบจะทำลายความเชื่อมั่นที่สร้างสมมาเนิ่นนานได้จนหมดสิ้น ถ้าเราคิดถึงเรื่องนี้ให้มากๆ เราก็จะทำสิ่งที่แตกต่าง”
- Philip Kotler
“บริษัทสามารถเติบโตก้าวหน้าได้ด้วยการ พัฒนาตนเองให้เป็น Brand ที่ทรงพลัง อยู่ในหัวใจของลูกค้า”