- ธนาคารกลางยุโรป(ECB) ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ 0.50% ตามที่ตลาดคาด โดย มาริโอ ดรากิประธาน ECB กล่าวว่า เป็นเพราะแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำในขณะที่เศรษฐกิจและตลาดแรงงานในยูโรโซนยังคงอ่อนแอ ทั้งนี้ ECB ได้ลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนในปีนี้และปีหน้าลงโดยจะหดตัวลง 0.3% ในปี 2556 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 0.5%
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนในเดือน เม.ย.ปรับตัวขึ้นอยู่ที่ 46.7 จุด จาก 46.8 จุดในเดือนมี.ค.แสดงว่ากิจกรรมภาคการผลิตในภูมิภาคยังหดตัวต่อเนื่อง โดยดัชนี PMI ของเยอรมนีลดลง2 เดือนติดต่อกันจาก 49 จุดมาอยู่ที่ 48.1 จุด ส่วนดัชนี PMI ของฝรั่งเศสอิตาลี และ สเปน ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย
- ก.พาณิชย์สหรัฐ รายงานว่ายอดขาดดุลการค้าเดือน มี.ค.ลดลง 11% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 3.88หมื่นล้านดอลลาร์ อันเป็นการลดลง 2 เดือนติดต่อกันเนื่องจากนำเข้าลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 โดยลดลง 2.8% มาอยู่ที่ 2.23 แสนล้านดอลลาร์ขณะที่ส่งออกลดลง 0.9% มาอยู่ที่ 1.84 แสนล้านดอลลาร์
- ก.แรงงานสหรัฐรายงานว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ล่าสุดปรับตัวลง18,000 ราย มาอยู่ที่ 324,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ5 ปี ตรงข้ามกับที่ตลาดคาดว่ายอดตัวเลขจะเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงฟื้นตัวอย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ADPซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดแรงงานในสหรัฐได้รายงานว่าภาคเอกชนทั่วสหรัฐมีการจ้างงานเพิ่ม 119,000 ตำแหน่งในเดือน เม.ย.ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 150,000 ตำแหน่ง
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (ISM Manufacturing) ของสหรัฐในเดือน เม.ย.อยู่ที่ 50.7 จุด ลดลงจากเดือน มี.ค.ที่เป็น 51.3จุด ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่2 และแย่กว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อยสะท้อนว่าการขยายตัวของภาคการผลิตในสหรัฐยังเปราะบางอยู่มาก โดยดัชนีย่อยบ่งชี้ว่าการจ้างงานในภาคการผลิตลดลงแต่ยอดคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
- ดอยช์แบงค์ประเมินว่าอัตราว่างงานของสหรัฐจะลดลงถึงระดับ 6.5% ซึ่งเป็นระดับเป้าหมายของFED ได้ก่อนปี 2558 และจะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครึ่งแรกของปี2558 เป็นผลจากสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและการที่สัดส่วนประชากรที่เป็นกำลังแรงงานในสหรัฐกำลังลดลงอย่างช้าๆเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยปัจจุบันสัดส่วนประชากรที่เป็นกำลังแรงงานของสหรัฐอยู่ที่63.3% ลดลงประมาณ 3% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี2551
- ธนาคารRBS ประเมินว่าโอกาสที่ FED จะลดปริมาณการซื้อสินทรัพย์ลงในระยะเวลาอันใกล้มีค่อนข้างต่ำเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในถ้อยแถลงของFEDเมื่อคืนวานก่อนได้กล่าวว่าFED จะเปลี่ยนนโยบายการเข้าซื้อสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับข้อมูลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก อย่างไรก็ตามการลงทุนในสินทรัพย์คงทนของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนสหรัฐยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคอสังหาริมทรัพย์น่าจะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคตต่อไปได้
- ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(ADB) กล่าวว่ามีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจเอเชียจะขยายตัวต่อไปอีกเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในแต่ละประเทศ โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะขยายตัว 6.6% ในปีนี้และ 6.7% ในปีหน้า และคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้8.2% ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากระดับ 7.8% ในปีที่แล้ว
- ธนาคารHSBC รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI)ภาคการผลิตของจีนในเดือน เม.ย. ลดลงเหลือ 50.4 จุด เมื่อเทียบกับเดือนก่อนซึ่งเป็น51.6 จุด โดยดัชนีอยู่เหนือระดับ50 จุดติดต่อกันเป็นเดือนที่7 สะท้อนว่าธุรกิจภาคการผลิตในจีนชะลอตัวลงแต่ยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวของ GDP ไทยในปีนี้เป็น+5.1% จากเดิม +4.9% ด้วยแรงหนุนสำคัญจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและโครงการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะช่วยให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตรา8% และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 4.5% แม้ว่าการส่งออกจะเติบโตลดลงเหลือ7.1% จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้7.5% นอกจากนี้ ยังประเมินว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้อีกโดยคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 25.50-29.00 บาท/ดอลลาร์ ในสิ้นปีนี้
- ดร.วีรพงษ์รามางกูร ประธานคณะกรรมการธปท. กล่าวว่าธปท.อาจเสียหายนับล้านล้านบาทก่อนสิ้นปีนี้หากยังไม่มีมาตรการใดๆออกมาแก้ไขปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าผิดปกติ โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่มีความแตกต่างจากต่างประเทศเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าซึ่งอาจะทำให้เศรษฐกิจไทยอาจเกิดภาวะวิกฤติเหมือนในอดีต
- SET Index ปิดที่ 1,589.19 จุด ลดลง 8.67จุด หรือ -0.54% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 56,862 ล้านบาท โดยดัชนีได้ปรับตัวลดลงในภาคบ่ายซึ่งสวนทางกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน ท่ามกลางกระแสข่าวลือเรื่องปลดผู้ว่าฯธปท. ในห้องค้าซึ่งโบรกเกอร์มองว่าหากเป็นจริงก็จะลดความน่าเชื่อถือในการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หุ้นที่มีผลให้ดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ CPALL (มีความผันผวนในช่วงสัปดาห์ก่อนหลังข่าวการเข้าซื้อหุ้นMAKRO มีผลตอบรับจากนักลงทุนทั้งในเชิงบวกและเชิงลบแตกต่างกันมาก) หุ้นกลุ่มสื่อสาร (ราคาปรับขึ้นมามาก) และหุ้น RATCH (นักลงทุนผิดหวังจากการที่ไม่เข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าIPP)
- พันธบัตรรัฐบาลไทยให้อัตราผลตอบแทนลดลงทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะรุ่นที่อายุคงเหลือต่ำกว่า25 ปีที่มีอัตราผลตอบแทนลดลงค่อนข้างมาก โดยเปลี่ยนแปลงระหว่าง -0.05% ถึง -0.01%