- ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเยอรมนีของ IFO ในเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้นสู่ 105.9 จาก 105.7 ในเดือน พ.ค. สะท้อนว่า เศรษฐกิจเยอรมนีเริ่มฟื้นตัว หลังจากที่ชะลอลงในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอิตาลีในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปีที่ 95.7 เทียบกับ 86.4 ในเดือน พ.ค. เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศปรับตัวดีขึ้น
- ก.คลังของอังกฤษบรรลุข้อตกลงกับหน่วยงานต่างๆ เรื่องงบประมาณรายจ่าย ตามเป้าหมายที่จะลดค่าใช้จ่าย 11,500 ล้านปอนด์ ระหว่างปี 2558 -2559 เพื่อช่วยลดการขาดดุลงบประมาณ
- เจมส์ บุลลาร์ด ประธาน FED สาขาเซนต์หลุยส์ ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเวลานี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังต่ำ แต่ควรดำเนินการเมื่อตัวเลขเศรษฐกิจส่งสัญญาณเติบโตอย่างแข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นสู่ระดับเป้าหมายแล้ว
- ดัชนีกิจกรรมการผลิตทั่วประเทศของสหรัฐโดย FED สาขาชิคาโกประจำเดือน พ.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก -0.52 ในเดือน เม.ย.มาเป็น -0.30 โดยเฉพาะการผลิตและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีติดลบหมายถึงกิจกรรมการผลิตยังคงขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
- Credit Suisse ระบุว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฟื้นตัวได้ชัดเจนมากและมีแนวโน้มที่ราคาจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้น ช่วงนี้จึงถือเป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นในอนาคตจาก 1) การค้นพบ Shale Gas ทำให้สหรัฐนำเข้าพลังงานลดลง ส่งผลให้การขาดดุลการค้าลดลงตามไปด้วย 2) ภาคอุตสาหกรรมเริ่มโยกย้ายการผลิตกลับสู่สหรัฐอีกครั้ง 3) ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่สหรัฐ ทั้งนี้ จากอดีตที่ผ่านมานั้นการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้ก่อให้เกิดวิกฤติในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาโดยตลอด และครั้งนี้ก็มีโอกาสที่อดีตจะย้อนรอยอีกครั้ง
- ธ.กลางจีน (PBOC) ยืนยันเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบรัดกุม แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจีนต้องทำการปรับปรุงการจัดสรรทรัพยากรด้านการเงินให้ดียิ่งขึ้นด้วยการควบคุมการปล่อยสินเชื่อและปรับปรุงการบริหารสภาพคล่องของ ธ.พาณิชย์ ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน โดยระบุว่าสภาพคล่องในระบบธนาคารของจีนขณะนี้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและภาวะเศรษฐกิจทั่วไปยังคงมีเสถียรภาพ
- Moody’s ระบุว่า การที่ ธ.กลางจีนจะไม่ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์สภาพคล่องตึงตัว เพราะต้องการควบคุมการเติบโตของสินเชื่อนั้น อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงตามมา ทั้งในแง่ของหนี้เสียที่จะเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการแข่งขันในการดึงดูดเงินฝากที่รุนแรง โดยเฉพาะในส่วนของ ธ. ขนาดกลางและขนาดย่อมที่พยายามลดการพึ่งพาตลาดอินเตอร์แบงก์ ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อต่อส่วนต่างดอกเบี้ยรับของธนาคาร โดยอาจส่งผลลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือได้
- Credit Suisse คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนในปีนี้จะเติบโตเพียงระดับ 7.4% เนื่องจากการส่งออกที่เติบโตลดลงประกอบกับที่ภาครัฐจะยังไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับปัญหา Shadow Banking (สถาบันการเงินที่ไมใชธ.พาณิชย แตสามารถทําธุรกรรมทั้งการระดมทุนและการลงทุนได เช่น Trust Funds และ Wealth Management Products (WMP)) ซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง 43.9% ของ GDP จากสภาพคล่องที่ล้นระบบของจีนในช่วงก่อนหน้านี้ ได้ไปลงทุนในหุ้นกู้ภาคอสังหาริมทรัพย์และหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นที่นำไปลงทุนในโครงการท้องถิ่นที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทำให้มีโอกาสที่นักลงทุนจะไม่ได้รับการชำระหนี้คืน และส่งผลกระทบต่อภาคการเงินของจีนได้
ทั้งนี้ การดำเนินการดูดซับสภาพคล่องของธ.กลางจีนที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระยะสั้นพุ่งขึ้นแตะ 13% นั้น นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อ Shadow Banking แล้ว ยังเกิดความเสี่ยงสูงที่จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อภาคการเงิน โดยเฉพาะธ.พาณิชย์ขนาดเล็กที่อาจเกิดการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงจนอาจต้องปิดตัวลงในที่สุด อย่างไรก็ตาม การที่จีนมีหนี้สาธารณะในระดับต่ำเพียง 15% ของ GDP ทำให้มีความสามารถที่จะกู้ยืมหากเกิดวิกฤติได้
- ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสิงคโปร์ในเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากราคาอาหารและค่าบริการทางด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น
- สนง. เศรษฐกิจการคลัง เตรียมลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ จากที่ประมาณไว้ที่ 5.3%เพราะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้ารวมถึงการบริโภคภาย ในประเทศเริ่มแผ่วลง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกที่คาดว่าจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้แก่ 1.) ระดับราคาสินค้าที่ยังไม่สูง 2.) การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการจะช่วยให้การบริโภคภาคเอกชนไม่ให้ชะลอตัวมากนัก 3.) อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับตํ่า และ 4.) อุตสาหกรรมภาคบริการโดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
- ธ.กรุงเทพ ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาอยู่ที่ 4% จากเดิม 4%-5% พร้อมลดเป้าหมายสินเชื่อในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 6% จากเดิม 6%-7% เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศได้เข้าสู่ภาวะชะลอตัวหลังจากนโยบายกระตุ้นจากภาครัฐได้สิ้นสุดลง
- ผู้ประกอบการข้าวไทย คาดการณ์ว่า การส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีหลังจะไม่ดีขึ้น แม้ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง เนื่องจากราคาข้าวที่สูงกว่าคู่แข่งส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาจำหน่ายข้าวในประเทศแทน แม้ว่าจะมีการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงก็ตาม
- SET Index ปิดที่ 1,364.09 จุด ลดลง 36.41 จุด หรือ -2.60% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 44,017.36 ล้านบาท โดยดัชนียังคงผันผวนและลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค จากความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนอาจชะลอตัวลงอันเนื่องมาจากวิกฤตสภาพคล่องในระบบการเงินรวมถึงการดำเนินมาตรการคุมเข้มด้านการเงินของ ธ.กลางจีน
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นในช่วง 0.05% ถึง 0.10% โดยเฉพาะตราสารที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 39,430 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิในตราสารหนี้ทุกประเภท