- GDP ยูโรโซนในไตรมาสแรกติดลบ 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยติดลบมาติดต่อกัน 6 ไตรมาสแล้ว หลังจากมี 9 ประเทศเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยฝรั่งเศสหดตัวลง 0.2% ซึ่งกดดันให้ประธานาธิบดีต้องใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่เยอรมนีขยายตัว 0.1% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์เนื่องจากฤดูหนาวยาวนานกว่าปกติ จนส่งผลต่อการก่อสร้างและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ
- ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของฝรั่งเศสเดือน เม.ย. ลดลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากราคาพลังงาน ต้นทุนสินค้าและบริการ ลดลง
- จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของอังกฤษเดือนเม.ย.ลดลง 7,300 ราย ทำให้มีผู้ว่างงาน 4.5% สะท้อนว่าตลาดแรงงานยังไม่แข็งแรงพอ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการธนาคารกลางประกาศว่าเศรษฐกิจเริ่มมีเค้าลางฟื้นตัว จึงเพิ่มแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ว่าจะขยายตัว 0.5% จาก 0.3% ในไตรมาสแรก
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อมของสหรัฐเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้นสู่ 92.1 จุด สูงสุดในรอบ 6 เดือน จาก 89.5 จุดในเดือน มี.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการเชื่อมั่นในแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐและยอดขายในอนาคต บ่งชี้ว่าการจ้างงานน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้
- ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐเดือน เม.ย.ลดลง 0.7% เมื่อเทียบเดือนก่อน หดตัวมากที่สุดในรอบ 3 ปีจากราคาพลังงานลดลงเพราะความต้องการน้ำมันทั่วโลกลด และบ่งชี้ว่าการผลิตน้ำมันในสหรัฐที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจะส่งผลให้มีน้ำมันทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีกในไม่กี่ปีข้างหน้า
- นายกรัฐมนตรีจีน เปิดเผยว่า รัฐบาลยังคงลังเลที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนของภาครัฐนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน และจะก่อให้เกิดปัญหากับความเสี่ยงอื่นๆ ตามมา รัฐบาลจึงมุ่งหวังให้การขยายตัวเป็นไปตามกลไกของตลาด และมีนโยบายลดบทบาทในการแทรกแซงเศรษฐกิจ
- ธนาคารกลางญี่ปุ่นเตรียมอัดฉีดเงินจำนวน 2.8 ล้านล้านเยนเข้าสู่ตลาดการเงิน เพื่อสกัดการเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยจะจัดสรรเงินเข้าสู่ระบบ 2 ล้านล้านเยนภายในระยะเวลา 1 ปี และส่วนที่เหลือ 0.8 ล้านล้านเยนในระยะเวลา 1 เดือน
- เกาหลีใต้เกินดุลการค้าในเดือน เม.ย.2.45 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเกินดุล 15 เดือน ติดต่อกัน เนื่องจากส่งออกเพิ่มขึ้นและนำเข้าลดลง โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นมากที่สุด เช่น สมาร์ทโฟน ชิพ และเครื่องใช้ภายในบ้าน
- มูดีส์ เปิดเผยว่า การอ่อนค่าของเงินเยนจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อความน่าเชื่อถือของผู้ส่งออกเกาหลีใต้โดยบริษัทเหล็กกล้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นกลุ่มบริษัทที่อ่อนไหวมากที่สุดต่อการแข็งค่าของเงินวอนเมื่อเทียบกับเงินเยน เนื่องจากต้องแข่งขันกับบริษัทญี่ปุ่นที่มีการส่งออกจำนวนมาก ซึ่งไตรมาสแรกของปีนี้เงินวอนเมื่อเทียบกับเงินเยนได้แข็งค่าขึ้นถึง 14.4% ไปแล้ว
- สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยปรับลดคาดการณ์ตัวเลขส่งออกปีนี้ให้เหลือเพียง 6.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปี เนื่องจากราคาข้าวไทยยังแพงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท กับประเทศผู้บริโภคข้าวหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายพึ่งพาผลผลิตในประเทศ
- SET Index ปิดที่ 1,630.09 จุด เพิ่มขึ้น 6.61 จุด หรือ +0.41% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 54,420.16 ล้านบาท โดยดัชนีแกว่งตัวในแดนบวกตลอดทั้งวันตามทิศทางของตลาดในภูมิภาค และมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับมาลงทุนในหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตในประเทศ
- โกลด์แมนแซคส์ คาดการณ์ว่า ปีนี้ผลตอบแทนจากการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์จะต่ำกว่าตลาดหุ้น โดยในปีนี้ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงแล้ว 3.9% เนื่องจากราคาทองแดง ข้าวโพดและทองคำลดลง และมีมุมมองว่าสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มเกษตร รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มโลหะมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาลงโดยเป็นภาวะตลาดหมี (Bear Market)
- อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลเคลื่อนไหวในช่วง 0.00% ถึง +0.02% สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย อายุ 3 ปี วงเงิน 40,000 ล้านบาท
- Mohamed El-Erian (CEO ของ Pacific Investment Management Co. หรือ Pimco)
“ราคาของสินทรัพย์เสี่ยง เช่นหุ้น ได้ปรับสูงขึ้นจากมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศ แต่ยังขาดปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริงมาสนับสนุน (การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอ) ซึ่งทำให้นักลงทุนกำลังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาไม่น่าจะขยายตัวโดยเฉลี่ยเกินกว่าร้อยละ 2 ญี่ปุ่นมีความท้าทายในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยนโยบายทางการเงินในแนวใหม่ ในขณะที่กลุ่มยุโรปทั้งธนาคารและ บริษัทเอกชนยังคงดำเนินกิจการอยู่ได้แต่ไม่เพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจมากนัก ส่วนจีนจะขยายตัวร้อยละ 6.0-7.5 ต่อปีและอัตราเงินเฟ้อของโลกก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นแต่มีความเสถียรภาพที่ลดลง"
ทั้งนี้ PIMCO ได้ให้นิยามสภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันว่า “New Normal” ซึ่งก็คือ ภาวะที่ไร้วี่แววในการเจริญเติบโต และกำลังจะมาถึงจุดที่เป็นทางสองแพร่ง ซึ่งหากมองในแง่ดีคืออาจจบลงด้วยการโตเร็วและขยายตัวได้อย่างยั่งยืน หรือไม่ก็จะโตไปอย่างเชื่องช้าไปเรื่อยๆ โดยประเทศต่างๆ จะแข่งขันกันแย่งชิงเพื่อให้ได้รับส่วนแบ่งที่มีขนาดลดลง
“ด้านกลยุทธ์การลงทุนในอีก 3-5 ปี ข้างหน้านั้น แนะนำให้ทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยง และไปลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐประเภท Inflation-linked bond กับพันธบัตร เนื่องจากธนาคารกลางยังคงนโยบายอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ให้ลดความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้ของสเปนและอิตาลี และหลีกเลี่ยงการถือครองสกุลเงินที่ธนาคารกลางในประเทศนั้นดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลาย โดยให้มีเงินทุนสำรองในสกุลสหรัฐอเมริกาให้น้อยกับป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเอาไว้ด้วย”
อนึ่ง Pimco กำลังมองหาโอกาสในการลงทุนในบริเวณที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพคล่องส่วนเกินที่เกิดจากนโยบายผ่อนคลายของธนาคารกลาง รวมถึงการลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานจากชั้นหินดินดาน (Shale energy) และการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์และเทคโนโลยีไปเป็นแบบดิจิตอล