เอ็มดี “เค-วอเตอร์” โต้เอ็นจีโอเกาหลีใต้กล่าวหาไม่เคยรับงานใหญ่ ชี้เป็นข้อมูลที่บิดเบือน ยืนยันความพร้อมลงทุน พร้อมเปิดให้ตรวจสอบได้ทุกข้อกล่าวหา ลั่นเดินหน้าโครงการจัดการน้ำ 2 โมดูล 1.6 แสนล้านในไทย
นายมณฑล ภาณุโภคิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค-วอเตอร์ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งเกาหลีใต้ มีรัฐบาลถือหุ้น 99% ชี้แจงกรณีที่นายยัม ยุง โซ ผู้อำนวยการสมาพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเค-วอเตอร์ในเชิงลบว่า บริษัทขอยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะทำงานโครงการบริหารจัดการน้ำที่ชนะการประมูลจำนวน 2 โมดูล รวมมูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านบาท และขอชี้แจงว่าข้อมูลที่นักสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ให้มานั้นเป็นข้อมูลที่บิดเบือน
ทั้งนี้ กรณีที่นายยัม ยุง โซ ระบุว่าเค-วอเตอร์เคยรับเฉพาะงานเล็กและไม่มีศักยภาพนั้น ขอยืนยันว่ากลุ่มเค-วอเตอร์มีหน้าที่ดูแลเขื่อนทุกเขื่อนในเกาหลีใต้ และโครงการต่างๆ เกี่ยวกับน้ำในเกาหลีใต้ รวมถึงโครงการลุ่มแม่น้ำ 4 สายที่มีการโจมตีอย่างหนักจากนักสิ่งแวดล้อมเป็นโครงการที่ดำเนินการเสร็จแล้ว และประชาชนเกาหลีใต้ก็ให้การยอมรับแล้ว จากก่อนหน้าที่จะเริ่มโครงการที่มีการต่อต้านจากภาคประชาชน
แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักในรอบ 100 ปีเมื่อประมาณกลางปี 2554 เกิดน้ำท่วมในกรุงโซล และสามารถระบายน้ำออกได้ภายใน 48 ชั่วโมง ทำให้ประชาชนยอมรับในโครงการบริหารจัดการน้ำที่รัฐบาลได้ดำเนินการ แต่ต้องยอมรับว่าโครงการลุ่มแม่น้ำ 4 สายเป็นแนวคิดของรัฐบาลชุดเดิม พอมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจึงอาจมีการนำมาเป็นข้อมูลโจมตีทางการเมือง
ทางด้านสถานะทางการเงิน ยืนยันว่ากลุ่มเค-วอเตอร์ ซึ่งถือหุ้นโดยรัฐบาล ย่อมมีความแข็งแกร่งทางการเงิน ส่วนเรื่องภาระหนี้สินเป็นเรื่องปกติของการลงทุน และโครงการต่างๆ ที่เค-วอเตอร์ดำเนินการล้วนเป็นโครงการบริการประชาชนที่ไม่ได้มุ่งหวังกำไร โดยขณะนี้ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลเกาหลีให้ส่งรายงานทางการเงินมาให้ทางเค-วอเตอร์ไทยนำเสนอต่อสังคมไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนคนไทยให้เชื่อมั่นว่าเค-วอเตอร์จะไม่ทิ้งงาน
“เราเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะรับงานในไทยแล้วจะทิ้งงาน อีกทั้งตั้งแต่เข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ เค-วอเตอร์ได้ผ่านการตรวจสอบสถานะทางการเงินแล้วว่ามีความพร้อม และยังได้วางเงินประกันซื้อซองเป็นมูลค่าสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท มีธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดสาขาในไทยเป็นผู้ค้ำประกันวงเงิน”
ขณะที่การดำเนินการทำโครงการบริหารจัดการน้ำในไทยจะใช้แหล่งเงินกู้ของไทยบางส่วน ส่วนเงินหมุนเวียน รัฐบาลเกาหลีในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของเค-วอเตอร์จะต้องเป็นผู้เตรียมเงินหมุนเวียนที่ต้องครอบคลุมมูลค่าของโครงการที่ชนะประมูล คือไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จึงอยากให้ประชาชนคนไทยมีความมั่นใจในเรื่องนี้
ส่วนประเด็นเรื่องปิดบังข้อมูลเป็นความลับ ไม่เปิดเผยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตามที่นักสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ได้กล่าวถึงนั้น เค-วอเตอร์ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะทุกโครงการที่จะดำเนินการได้นั้นจะต้องผ่านกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการจัดรายงานประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) ซึ่งเท่ากับเป็นการฟังเสียงของประชาชนก่อนดำเนินโครงการอยู่แล้ว หากอีไอเอ และเอชไอเอไม่ผ่านก็ต้องยุติโครงการ
สำหรับกรณีที่ศาลปกครองนัดไต่สวนคดีบริหารโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทในวันพรุ่งนี้ (27 มิ.ย.) หลังจากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และกลุ่มชาวบ้าน 45 คนยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากการได้รับผลกระทบจากแผนบริหารจัดการน้ำ เค-วอเตอร์ก็พร้อมที่จะน้อมรับทุกคำตัดสินใจของศาลปกครอง เพียงแต่ขอให้มีความชัดเจนว่าจะมีแนวทางให้เค-วอเตอร์ทำอย่างไรต่อไป