ศาลปกครองนั่งครั้งแรกคดีสมาคมโลกร้อนขอให้เพิกถอนแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน โดยตุลาการผู้แถลงคดี เสนอความเห็นองค์คณะ การจัดทำแผนฯ ชอบด้วย กม. ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ แต่ควรสั่งรัฐบาลให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้เสียตาม รธน.67 ในแต่ละโมดูลก่อนทำสัญญา ด้าน “ศรีสุวรรณ” พอใจ ลุ้นคำพิพากษา 27 มิ.ย.ออกแนวทางนี้ พร้อมระบุกระบวนการรับฟังความเห็นต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี จึงจะแล้วเสร็จ
วันนี้ (25 มิ.ย.) ศาลปกครองกลางออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และพวกรวม 45 คนยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 เพื่อขอให้ศาลปกครองกลาง มีคำสั่ง เพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดร่วมกันจัดให้มีการทำประชามติรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 และสั่งให้ผู้ถูกฟ้อง ปฏิบัติหรือดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57, มาตรา 58, มาตรา 67, มาตรา 85 และมาตรา 87 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรา 37, มาตรา 38, มาตรา 60, มาตรา 63, พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 5 ประกอบมาตรา 11 ให้ครบถ้วนก่อนการดำเนินโครงการ
โดยในการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกนี้ คู่กรณีไม่ติดใจที่จะแถลงปิดคดีด้วยวาจาหรือเอกสาร และองค์คณะได้ให้ น.ส.วาสนา มะลิทอง ตุลาการผู้แถลงคดี แถลงความเห็นส่วนตัวที่ไม่ผูกพันต่อการพิจารณาวินิจฉัยขององค์คณะ โดยตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า การจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลเป็นกรอบแนวคิดนโยบายที่ปกป้องอุทกภัยของประเทศอย่างเป็นระบบ เป็นการใช้อำนาจตามข้อ 6 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2554 ซึ่งข้ออ้างว่าที่ว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 นั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการใช้สิทธิของประชาชนตามมาตรา 57 ถูกขัดขวาง ปกปิด การจัดทำแผนดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่ผู้ฟ้องเห็นว่าควรรับฟังความคิดเห็นประชานโดยการทำประชามตินั้น เห็นว่าแผนแม่บทดังกล่าว เป็นกรอบความคิดในการป้องกันอุทกภัยไม่ใช่เรื่องที่เข้าหลักเกณฑ์ของมาตรา 165 ที่รัฐจะต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน ประกอบกับไม่เห็นว่ามีประกาศหรือกฎหมายใดที่กำหนดให้การจะดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำต้องทำประชามติ แต่ทั้งนี้การดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำทั้ง 9 โมดูลนั้น รัฐกำหนดให้ผู้รับจ้างแต่ละโมดูลต้องเป็นผู้ศึกษาความเหมาะสม วิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ออกแบบจัดหาที่ดิน รวมทั้งดำเนินการตามความเห็นของผูจ้าง เพื่อให้โครงการสำเร็จ โดยมีการกำหนดเบี้ยปรับหากดำเนินการโครงการสำเร็จ ตรงนี้จะเห็นได้ว่า รัฐตัดสินใจใช้สัญญาเป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดความสำเร็จในแต่ละโมดูล
แต่เมื่อพิจารณามาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า โครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพ จะกระทำได้ต้องมีการศึกษา ประเมินผลกระทบ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียก่อน ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญ และเมื่อการดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำดังกล่าว จะกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำหลายพื้นที่ กระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ และประชาชนที่ต้องมีการอพยพอย่างรุนแรง ต้องมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง จึงจำเป็นที่รัฐจะต้องมีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้เสียก่อน
ดังนั้นตุลาการผู้แถลงคดีจึงเห็นว่าควรที่องค์คณะจะสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ต้องร่วมกันจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนตาม มาตรา 67 วรรค 2 เสียก่อนที่จะมีการทำสัญญากับผู้รับจ้างที่เข้ารับงานในแต่ละโมดูลก่อนดำเนินโครงการ
อย่างไรก็ตาม องค์คณะได้ชี้แจงต่อคู่กรณีว่า คำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีไม่มีผลต่อการพิจารณาวินิจฉัยขององค์คณะ โดยจากนี้องค์คณะจะประชุมพิจารณาคดีนี้และนัดคู่กรณีฟังคำพิพากษาในวันพฤหัสที่ 27 มิ.ย.เวลา 13.30 น. ณ.ห้องพิจารณาคดี 8 สำนักงานศาลปกครอง
ด้านนายศรีสุวรรณกล่าวภายหลังรับฟังคำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีว่า แม้ว่าส่วนตัวจะไม่เห็นด้วยกับตุลาการผู้แถลงคดีที่มองว่าการจัดทำแผนบริหารจัดน้ำเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะในข้อเท็จจริง เมื่อ กยน.กำหนดแผนบริหารจัดน้ำดังกล่าวแล้ว ก็เสนอตรงให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาเลย ไม่มีการผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน แต่ก็พอใจที่ทางตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า จำเป็นที่รัฐจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองก่อนที่จะเดินหน้าทำสัญญากับเอกชน และหวังว่า คำพิพากษาที่จะมีออกมาในวันที่ 27 มิ.ย.ก็จะออกมาในแนวทางนี้
อย่างไรก็ตาม หากมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี เหมือนกับกรณีของมาบตาพุด เพราะรัฐจะต้องกลับไปทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านสังคม เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องผ่านคณะกรรมการชำนาญการพิจารณาและคณะรัฐมนตรีอีก
ผอ.สมาพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ลงพิ้นที่ แฉเบื้องหลัง“เควอเตอร์”หนี้ท่วม-ผลงานเหลว ตั้งโดยฝ่ายการเมือง
ระหว่างวันที่ 24-25 มิถุนายน 2556 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับโครงการสื่อสารสุขภาวะชุมชนชายขอบ จัดกิจกรรมลงพื้นที่สำหรับสื่อมวลชนสำรวจพื้นที่โครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล ที่จ.พิษณุโลกและนครสวรรค์ และแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลร่วมกับภาคประชาชนในพื้นที่ รวมถึงตัวแทนสื่อมวลชนจากประเทศเกาหลีในประเด็นการบริหารจัดการน้ำรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท เควอร์เตอร์ บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ ผู้รับสัมปทานโครงการ รวมถึง กิจการร่วม ไอทีดี พาวเวอร์ไชน่า และเอกชนรายอื่นๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลงพื้นที่บ้านชมภู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ซึ่งจะมีการก่อสร้างเขื่อนกั้นคลองชุมภูเพื่อทำอ่างเก็บน้ำ โดยเป็นส่วนหนึ่งภายใต้เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ตามแผนป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล โดยมีกิจการร่วม ไอทีดี พาวเวอร์ไชน่า เป็นผู้ประมูลโครงการได้โดยใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 1,955 ล้านบาท จากการลงพื้นที่สำรวจบ้านชมภูและพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน พบว่ามีการสร้างอ่างเก็บน้ำ ประมาณ 3,100 ไร่ และยังมีพื้นที่ที่ต้องเวนคืนเพื่อ ทำระบบชลประทาน และปลูกป่าชดเชยอีก 8,000 ไร่ โดยแม้ว่าพื้นที่ที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช แต่ปรากฎว่าในทางปฏิบัติชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง จำนวน 625 ครัวเรือน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยมานานนับร้อยปี จะต้องออกจากพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมตัวกันเพื่อที่จะคัดค้านการทำโครงดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ทั้งนี้หลังเสร็จสิ้นการสำรวจป่า ชาวบ้านกว่า 200 คน ได้เดินทางมารวมตัวกันบริเวณศาลาวัดชมภูเพื่อให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับโครงการสร้างเขื่อนในพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน โดยทั้งหมดได้ลงความเห็นร่วมกันว่า จะไม่ยอมให้มีการสร้างเขื่อน โดยหลายคนร่วมกันให้เหตุผลว่า หมู่บ้านแห่งนี้อยู่กันมานานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษและทุกครอบครัวต่างก็มีความสุข แต่หากมีการสร้างเขื่อนจะทำให้ชาวบ้านไม่มีที่อยู่ แม้จะมีน้ำเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่มีที่ดินทำกินเหมือนปัจจุบัน ที่สำคัญคือไม่สามารถเข้าไปหาของป่าได้ดั่งเดิม
ขณะที่ นาย ยัม ฮชองฮอล ผู้อำนวยการสมาพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลี(Korean federation environmental movement : KFEM ซึ่งได้รับเชิญให้มาร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการน้ำในประเทศเกาหลีโดยเฉพาะกรณีที่บริษัท เค วอเตอร์ จากประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้ประมูลงานการทำทางผันน้ำ หรือ ฟลัดเวย์ และจัดหาพื้นที่เพื่อทำแก้มลิง ภายใต้งบประมาณ ประมาณ 1.63 แสนล้านบาท กล่าวว่า ประเทศเกาหลีเป็นประเทศที่เล็กกว่าประเทศไทย มากแต่มีเขื่อนเล็กเขื่อนน้อยมากมาย เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลเกาหลีอยากสร้างเขื่อนเร็วๆ ไม่ค่อยมีการปรึกษาประชาชนมากเท่าไรนัก แต่ในปัจจุบัน ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ถ้าจะสร้างเขื่อนชาวบ้านจะรู้ข้อมูลก่อน ถ้าไม่เห็นด้วยก็จะมีการคัดค้านด้วยวิธีการต่างๆทันที เวลานี้รัฐบาลเกาหลีจึงสร้างเขื่อนยากมาก เพราะถ้าประชาชนรู้ก็จะลุกขึ้นค้านทันที
“คนเกาหลีจะรู้ว่าผลกระทบจากเขื่อนเป็นอย่างไร เพราะมีประสบการณ์ชัดเจนมากกว่า ที่ไหนมีเขื่อนที่นั่นชุมชนจะล่มสลาย และการที่เควอเตอร์ประเทศเกาหลีมาสร้างฟลัดเวย์ในประเทศไทย เพราะ เวลานี้เกาหลีไม่มีที่สร้างเขื่อนแล้ว จึงต้องมาสร้างพื้นที่ฟลัดเวย์ในประเทศไทยแทน”นาย ยัม ฮชองฮอล กล่าว
ผู้อำนวยการสหพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้กล่าวอีกว่า ในกรณีที่เควอเตอร์ได้รับการประมูลในโมดูลเอ 3 เชื่อว่าไม่มีความสามารถในการดำเนินการในประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะเควอเตอร์ไม่มีความมั่นคงทางการเงิน และ ไม่มีศักยภาพในการสั่งการระบบทรัพยากรน้ำได้ สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันของเควอเตอร์ พบว่า สถานการณ์การเงินล่าสุดในปี 2012 มีงบที่พร้อมสำหรับการลงทุนเพียง 3.4 แสนล้านวอน แต่มีหนี้สินสูงถึง 3.72 แสนล้านวอน สถานการณ์ด้านการเงินตอนนี้เข้าขั้นกำลังแย่ โดยพบว่าตั้งแต่เควอเตอร์เริ่มดำเนินการสร้างเขื่อน 16 แห่งในพื้นที่ 4 แม่น้ำของเกาหลีใต้ ตั้งแต่ปี 1970-1980 มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มากมาย แต่กลับไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และเสถียรภาพในการบริหารจัดการน้ำ โดยระหว่าง ปี 2005-2012 ในช่วงก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวรวมทั้งลำน้ำสาขาต่างๆ พบว่าเควอเตอร์มีหนี้สินเพิ่มถึง 458 % ทำให้เควอเตอร์ถูกประชาชนเกาหลีใต้มองว่าไม่มีเสถียรภาพเรื่องการบริหารจัดการน้ำ
นาย ยัม ฮชองฮอล กล่าวว่า ที่แท้จริงแล้วเควอเตอร์ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นองค์กรในการพัฒนารวมทั้งก่อสร้างในด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ แต่ที่ผ่านมาเควอเตอร์กลับทำหน้าที่เพียงแค่บริษัทก่อสร้างเท่านั้นและไม่สามารถบริหารจัดการการจัดการน้ำได้ โดยเควอเตอร์ใช้เงินทุนสูงกว่าราคาที่เสนอไว้ในการก่อสร้างเริ่มต้น แต่ที่เควอเตอร์ยังดำรงอยู่ได้เนื่องจากมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้ โดยการเกิดขึ้นของบอร์ดเควอเตอร์ ในส่วนของซีอีโอ มาจากการแต่งตั้งของประธาณาธิบดี ซึ่งหมายถึงรัฐบาลจะต้องดูแลควบคุมการบริหารงาน ลูกค้าส่วนใหญ่ของเควอเตอร์จึงมักเป็นจำพวกรัฐบาลท้องถิ่นตามหัวเมืองและจังหวัดของเกลาหลีใต้ เพื่อให้เกิดการซื้อวัสดุและการบริหารการก่อสร้างสิ่งต่างๆภายในในเกาหลีใต้เอง ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการต่อต้านจากชาวเกาหลีใต้ตลอด ตัวอย่างของการดำเนินงานที่ขาดประสิทธิภาพ อาทิ กรณีเขื่อน นัมกัง ที่เควอเตอร์เสนองบในการก่อสร้าง 254 พันล้านวอน แต่เมื่อสร้างเสร็จปรากฎว่า ใช้เงินไปทั้งหมด 867 พันล้านวอน ในขณะที่กรณีก่อสร้างคลอง กองงิน ซึ่งมีระยะทางแค่ 18 กม. กว้าง 100 ม. ลึก 6 ม. และเป็นเพียงโครงการเล็กๆที่เควอเตอร์สร้างเพื่อทำฟลัดเวย์ จากการตรวจสอบภายหลังกลับ ฟลัดเวย์ดังกล่าวไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะพื้นที่ท่วมยังคงเกิดอยู่ในพื้นที่อื่น ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์กับฟลัดเวย์
“จากสถานการณ์ทางการเงินที่ไม่คงที่ และปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ขณะนี้เควอเตอร์กำลังถูกตรวจสอบจากสตง.ของเกาหลีใต้ในเรื่องระบบการเงิน โดยเฉพาะกรณีการสร้างเขื่อน 16 แห่ง เพราะราคาก่อสร้างแล้วเสร็จบางส่วนสูงกว่าราคาที่เสนอ จึงเป็นไปได้ว่าการรับงานในประเทศไทยอาจมีปัญหาในลักษณะเดียวกันหรือไม่”นาย ยัม ฮชองฮอล กล่าว