xs
xsm
sm
md
lg

ประชาชนภาคเหนือร้อง “ยิ่งลักษณ์-รบ.” ทบทวนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ภาคประชาชนภาคเหนือ ยื่นหนังสือถึง “ยิ่งลักษณ์-รัฐบาล” เรียกร้องให้ทบทวนแผนลงนามสัญญาโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ชี้ข้อบกพร่องเพียบ ทั้งไม่เปิดโอกาสตรวจสอบ ขาดการศึกษาความเหมาะสมรอบด้าน ยุทธศาสตร์ขัดแย้งกันเอง หยิบโครงการเขื่อนเก่ามาลักไก่ปัดฝุ่น แถมไม่ใช้แผนของ JICA ทั้งที่ประหยัดกว่า หวั่นโยนภาระให้เอกชน กลายเป็นสร้างคู่ขัดแย้งใหม่กับประชาชน

ตัวแทนจากพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนตามแผนการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมภาคเหนือ แถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทในวันนี้ (17 มิ.ย.) ที่ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อชี้แจงจุดยืนของเครือข่ายภาคประชาสังคมภาคเหนือ ที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทบทวนโครงการดังกล่าว หลังจากที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เปิดซองประมูลราคา และคัดเลือกบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการทั้ง 9 โมดูล เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งคณะรัฐมนตรีต้องให้ความเห็นชอบเพื่อลงนามในสัญญาก่อสร้างกับภาคเอกชนที่ได้รับคัดเลือก ภายในสิ้นเดือนนี้

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายภาคประชาสังคมภาคเหนือได้นำเสนอเหตุผลรวม 4 ข้อที่เห็นว่ารัฐบาลควรพิจารณา ก่อนที่จะลงนามในสัญญากับภาคเอกชน ในฐานะที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อกระบวนการทั้งหมด รวมทั้งผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประกอบด้วย 1. การอ้างเหตุผลเรื่องความเร่งด่วนในการแก้ปัญหา เป็นเหตุผลในการอนุมัติให้มีการลงนามในสัญญาก่อสร้างนั้นยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เนื่องจากเป็นการดำเนินการที่ไม่ได้อยู่บนหลักนิติรัฐ กล่าวคือ แม้จะมีเงื่อนไขที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติตามในสัญญา แต่ก็เป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินการของเอกชนขาดการควบคุมและตรวจสอบโดยภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่มีหลักประกันด้านสิทธิของประชาชน

2. การดำเนินการของ กบอ.ที่ผ่านมาไม่มีการจัดทำการศึกษาความเหมาะสม การศึกษาผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพในลักษณะที่เชื่อมโยงกันในทุกโมดูลเพื่อแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา รวมทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการก่อสร้างที่ไม่จำเป็น และการสร้างผลกระทบไปยังพื้นที่อื่นๆ ขณะเดียวกัน ไม่มีการศึกษาระดับยุทธศาสตร์ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจขัดแย้งกันเอง เช่น การกักเก็บน้ำในโมดูล 1 ที่ต้องการเก็บน้ำให้ได้ 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี แต่ขณะเดียวกันกรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำกลับมีแผนที่จะผันน้ำลงสู่เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์กว่า 6,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ซึ่งเป็นการทำงานที่สวนทางกัน เป็นต้น

3. แผนการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำตามแผนงานในโมดูล 1 เพื่อเก็บน้ำในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้ได้ 1,300 ล้าน ลบ.ม. มีการระบุชื่อเขื่อนต่างๆ เช่น เขื่อนแม่น้ำยม เขื่อนแม่น้ำยมตอนบน เขื่อนแม่ขาน เขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนสมุน เขื่อนแม่วงก์ เป็นต้น เอาไว้ในโครงการ ซึ่งเขื่อนเหล่านี้ไม่ได้เป็นโครงการใหม่ แต่เป็นโครงการที่เคยศึกษาโดยหน่วยงานภาครัฐมาแล้ว และปรากฏว่าประชาชนในพื้นที่ทุกโครงการต้องการให้รัฐทบทวนและระงับการดำเนินการเนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง รวมทั้งต้องสูญเสียพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติอีกจำนวนมาก ดังนั้น การที่รัฐจะมอบอำนาจให้เอกชนเข้ามาดำเนินโครงการถือเป็นการผลักภาระความรับผิดชอบไปยังภาคเอกชน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเอกชนกับชุมชนในอนาคตได้

4. ที่ผ่านมารัฐบาลได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการศึกษาแผนการบริหารจัดการน้ำท่วมสำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำนำเสนอผลการศึกษาดังกล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมีข้อเสนอหลักคือ ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ และใช้งบประมาณกว่าแสนล้านบาทเท่านั้น แต่ กบอ.กลับปฏิเสธที่จะใช้ข้อเสนอดังกล่าว ดังนั้น กบอ.ควรชี้แจงเหตุผลในเชิงวิชาการว่าเหตุใดจึงไม่ใช้ข้อเสนอดังกล่าว และแผนงานของ กบอ.ทั้ง 9 โมดูลสามารถแก้ปัญหาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าข้อเสนอของไจก้าอย่างไร

นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ในฐานะตัวแทนของกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแม่ยม เขื่อนแม่ขาน และเขื่อนแม่แจ่ม ซึ่งร่วมการแถลงข่าวครั้งนี้ รวมทั้งเป็นผู้อ่านเหตุผลทั้ง 4 ข้อ ที่เครือข่ายภาคประชาสังคมภาคเหนือนำมาเป็นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน กล่าวว่า หลังจากนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมภาคเหนือจะส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในวันนี้ เพื่อให้รัฐบาลได้นำข้อมูลดังกล่าวไปพิจารณา ก่อนที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (18 มิ.ย.) โดยหากเป็นโครงการอ่างเก็บน้ำที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากนัก ทางภาคประชาชนไม่ค้ดค้าน แต่กรณีของโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลกระทบทั้งต่อชีวิตความเป็นอยู่และการทำมาหากินนั้น ภาคประชาชนไม่เห็นด้วย

ขณะที่นายมนตรี จันทวงศ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) กล่าวว่า หลังจากยื่นหนังสือไปยังรัฐบาลแล้ว เครือข่ายภาคประชาสังคมภาคเหนือจะติดตามการดำเนินการของรัฐบาลต่อไป โดยเตรียมที่จะใช้กลไกต่างๆ เพื่อคัดค้านและท้วงติง ทั้งในแง่ข้อกฎหมายจากการที่หลายๆ โครงการไม่ทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือการยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง รวมทั้งการเคลื่อนไหวอื่นๆ หากรัฐบาลทำการลงนามในสัญญากับภาคแอกชน เนื่องจากประชาชนในพื้นที่กำหนดให้เป็นจุดก่อสร้างหลายจุด ยังไม่ทราบรายละเอียดของโครงการ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ แล้วเชื่อว่ารัฐบาลจะเดินหน้าโดยไม่สนใจข้อเรียกร้องของภาคประชาชน เพราะหากไม่สามารลงนามในสัญญาได้ก็จะไม่สามารถใช้งบประมาณที่ได้ออกพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้
นายมนตรี จันทวงศ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (ซ้าย) และนายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น (ขวา)
กำลังโหลดความคิดเห็น