xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นจีโอลั่นเดินหน้าตรวจสอบรัฐใช้เงินกู้ 2.2 ล้านล้าน ซัดตั้งใจโกงไม่สนชาติล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)ชาติ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)ภาคอีสาน สถาบันวิจัยและพัฒนา(อาร์ดีไอ)มข.ร่วมกันจัดเสวนาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้านในภาคอีสาน ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการ
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เครือข่ายภาคประชาชน กป.อพช.-กป.อพช.ภาคอีสานร่วมอาร์ดีไอ มข.เปิดเวทีเสวนาถลกร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งงบ 2.2 ล้านล้าน และงบจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ซัดเป็นโครงการมุ่งผลาญงบแผ่นดินทุจริตเชิงนโยบาย วางแผนเป็นขั้นตอนไม่ให้ตรวจสอบทางกฎหมายได้ รัฐบาลไม่สนใจผลกระทบตามมารอบด้าน โดยเฉพาะหนี้สาธารณะก้อนโตที่คนไทยทั้งประเทศต้องแบกรับในอนาตต แนะทุกภาคส่วนต้องติดตามตรวจสอบใกล้ชิดก่อนชาติพัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลางสัปดาห์นี้ ที่ห้องประชุมสถาบันวิจัยและพัฒนา (อาร์ดีไอ) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ชาติ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน สถาบันวิจัยและพัฒนา (อาร์ดีไอ) มข.ร่วมกันจัดเสวนาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้านในภาคอีสาน ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการ ราว 80 คน

บรรยากาศการเสวนา ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างเข้มข้นในประเด็น พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ซึ่งจะส่งผลต่อนโยบายด้านการจัดการน้ำ โครงการด้านการคมนาคมขนส่ง โดยมีการแลกเปลี่ยนระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วมเสวนา พร้อมทั้งได้มีการแสดงความคิดเห็นของภาคประชาชนและประชาสังคมต่อนโยบายเงินกู้ รวมทั้งได้ร่วมกันวางแนวทางในการดำเนินการติดตามด้านนโยบายเงินกู้สาธารณะต่อไปในอนาคต

นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการเสวนาได้กล่าวถึงสถานการณ์ที่รัฐบาลได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งของประเทศ หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินนอกงบประมาณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย ได้ผ่านการพิจารณาวาระแรกจากสภาผู้แทนราษฏรแล้วเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งเรื่องงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อการวางระบบการจัดการน้ำ

“งบประมาณดังกล่าวถือว่าเป็นหนี้นโยบายสาธารณะ แต่มีข้อที่น่าสังเกตหลายประการ โดยเฉพาะขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนวงกว้าง” นายสุวิทย์กล่าว

น.ส.จันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญ ม.168 มีขั้นตอนระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดกวดขัน โดยต้องมีรายละเอียดด้านงบประมาณ แผนการใช้จ่ายประจำปี หากมีแผนผูกพันงบประมาณก็ต้องมีการรายงานการใช้จ่ายเงินแต่ละปีต่อรัฐสภาและจะต้องมีกฎหมายควบคุมการใช้จ่ายเงิน แต่ พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเน้นในการสนับสนุนโครงการด้านการคมนาคม โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เป็น พ.ร.บ.ที่หลุดจากรัฐธรรมนูญ ม.167และ 168 ว่าด้วยการพิจารณารายจ่ายงบประมาณของแผ่นดิน มันจะหลุดจากการโต้แย้งของ ส.ส.ในพื้นที่และหลุดจากการควบคุม

สรุปได้ว่าการออกกฎหมายดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ รวมทั้งหลบเลี่ยงกฎหมายหนี้สาธารณะที่ได้กำหนดไว้ รวมทั้ง พ.ร.บเงินกู้นี้ได้มีการออกระเบียบการใช้โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งออกระเบียบเองและมีอำนาจเบิกจ่ายเอง ขาดระเบียบการตรวจสอบ ซึ่งถือว่าขัดหลักนิติธรรมเพราะกฎหมายหนี้สาธารณะก็มีอยู่แล้ว แต่กลับเอารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาออกระเบียบ ทำให้ฐานะของระเบียบอยู่เหนือกฎหมาย

นอกจากนี้ หากดูตรงรายละเอียดของแผนที่แนบมาจะไม่มีรายละเอียดของการใช้งบประมาณ มีแต่ชื่อโครงการ วงเงิน ไม่มีรายละเอียดของแผนงานที่แน่นอน ไม่มี EIA, HIA หรือการระบุว่าจะเกิดปัญหาด้านเสียง การเวนคืนที่ดินของชาวบ้านหรือด้านอื่นๆ ต่อประชาชนและไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น เช่น ขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ รายละเอียดการดำเนินงาน อันจะเป็นการรับประกันความเสี่ยงในการดำเนินโครงการในอนาคต

ในรายละเอียดของแผนดังกล่าวยังระบุว่า หากโครงการที่ดำเนินการไม่เสร็จจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งหมายถึงในอนาคตอาจจะเกิดหนี้ที่บานปลายมากกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการกู้เงินเพิ่มหากดำเนินโครงการไม่เสร็จ

“เห็นได้ชัดว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านนี้เป็นวิธีการทุจริตเชิงนโยบาย ทำโครงการให้หลวม มีการตรวจสอบน้อยทำให้เกิดการรั่วไหลทางการเงินได้มาก ซึ่งภาคประชาชนและสังคมควรเร่งตรวจสอบอย่างระมัดระวังเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ” น.ส.จันทิมากล่าว

ด้านนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนจากโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ ได้กล่าวเปรียบเทียบถึงงบประมาณทั้ง 2 ตัว คือ 3.5 แสนล้านบาท และ 2.2 ล้านล้านบาท ขั้นตอนอนุมัติและอนุญาตในการดำเนินโครงการจัดสรรเงินกู้ว่า มีความแตกต่างกันมาก โดยงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทจะเป็นโครงการที่มีขั้นตอนกลับหัวกลับหาง กล่าวคือ ได้มีการหาผู้รับประมูลเสร็จแล้วหาผู้รับเหมาไว้ซึ่งอาจจะเป็นบริษัทต่างๆ แล้วหน่วยงานอย่าง กยน. หรือ กบอ.ที่นายปลอดประสพ สุรัสวดีดูแล มีการชงเรื่องเข้า ครม.เพื่อให้อนุมัติโครงการแล้วค่อยมาออกแบบโครงการศึกษาความเหมาะ (SF) ศึกษาอีไอเอและศึกษาผลกระทบทางสุขภาพตามหลัง ส่วนงบประมาณ 2.2 ล้านล้านอาจจะดูดีในกระบวนการที่จะเป็นไปตามขั้นตอน แต่หากมาดูรายละเอียดบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.ซึ่งมีแค่ชื่อโครงการและงบประมาณนั้นไม่เพียงพอที่จะดำเนินโครงการไปตามขั้นตอนปกติได้ จะต้องมีการดำเนินโครงการแบบกลับหัวกลับหางอยู่ดี ซึ่งคิดว่าขั้นตอนการดำเนินโครงการของ พ.ร.ก.3.5 แสนล้านบาท และ 2.2 แสนล้านบาท นั้นเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมและรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

ขณะที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ได้กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำที่มีอำนาจการรวมศูนย์การจัดการไว้ที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี โดยโครงการเขื่อนหลายโครงการยังไม่มีการทำ EIA อย่างเช่น โครงการแก่งเสือเต้น โครงการยมบน-ยมล่างที่จะส่งผลกระทบต่ออุทยานแห่งชาติ ซึ่งถือว่ากระบวนการผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ หลายโครงการที่ยังไม่มี EIA ได้มีการสั่งการให้จ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำ EIA ขึ้นมา กระบวนการตรงนี้จะอย่างไร EIA ก็ผ่าน เนื่องจากนายปลอดประสพเป็นประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่สามารถอนุมัติให้โครงการผ่านได้ กล่าวได้ว่าเป็นการชงเรื่องเองและอนุมัติโครงการเอง

ส่วนกรณีของงบประมาณ 3.5 แสนล้านนั้น นายหาญณรงค์กล่าวว่า หากมีการเซ็นสัญญากับบริษัทที่ปรึกษาก่อนวันที่ 30 มิ.ย.นี้ บริษัทฯ จะมีสิทธิในการเบิกจ่ายได้ 5 เปอร์เซ็นต์ของโครงการ คือประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งตามความเป็นจริง โครงการเขื่อนประมาณ 30 โครงการ ถ้าหากมีการทำ EIA แล้ว โครงการหนึ่งๆ จะใช้เงินไม่เกิน 20 ล้านบาท รวมแล้วไม่เกิน 60 ล้านบาท แต่ทำไมจะต้องมีการเบิกจ่ายงบประมาณออกมามากถึง 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตั้งข้อสังเกตและจับตามอง

นายวิทูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาลุ่มน้ำโขง ได้กล่าวถึงเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทว่า ส่วนใหญ่คนจะไม่รู้ว่ามาจากไหน โดยเป็นเงินกู้ที่ได้มาจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน(Infrastructures Fund) ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. เงินกู้จากกองทุนช่วยเหลือ เช่น ไจกา เจบิก 2. เงินที่มาจากการออกพันธบัตร 3. เงินที่มาจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยให้ประชาชนเข้าหุ้นแล้วเข้าตลาดหลักทรัพย์ พูดง่ายๆคือ ไม่ต้องมีการออก พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก อะไรเลย แต่จะออกพระราชกำหนดที่มีผลต่อเนื่องกับพระราชบัญญัติที่ดินในเรื่องการจำนองทรัพย์สิน มีการออกนโยบายลดหย่อนภาษี ซึ่งรัฐจะมีการกู้จากกองทุนที่มีการระดมทุนแล้วเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยมีบริษัทหรือธนาคารเป็นผู้ดูแลเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ และเงินตรงนี้แหละที่จะเป็นแหล่งให้ 2.2 ล้านล้านเข้าไปกู้ โดยกระบวนการนี้เป็นการลักไก่โดยที่ไม่ต้องมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้ยุ่งยาก เงินที่เอาไปตั้งกองทุนนี้มีโครงการที่ครอบคลุมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน 10 โครงการ เช่น โรงไฟฟ้า การทำแนวสายส่งไฟฟ้า ท่อแก๊ส ฯลฯ กิจการที่อยู่ในลักษณะสัมปทานทั้งหมดและเกี่ยวเนื่องกับการขายให้รัฐ รวมทั้งโครงการที่มาจาก 3.5 แสนล้านก็มาจากนี้ทั้งหมด

นายวิทูรย์ยังกล่าวอีกว่า โครงการเงินกู้ที่จะเกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นแค่เรื่องน้ำท่วมและเรื่องการคมนาคม แต่เป็นการทำให้สิ่งที่เป็นด้านนโยบายสาธารณะกลายเป็นการระดมทุนและสร้างงานให้กับกลุ่มนายทุนนักธุรกิจได้อย่างไม่มีขีดจำกัดด้านกฎหมาย

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า บรรยากาศช่วงท้ายของเวทีเสวนาในครั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง โดยได้มีข้อคิดเห็นที่ตรงกันในการที่จะต้องมีการร่วมกันตรวจสอบโครงการและนโยบายหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาจากโครงการรถไฟความเร็วสูงและโครงการจัดการน้ำที่จะต้องมีการติดตามปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นได้ชัดเจนว่าจะเกิดปัญหากระทบกับประชาชนโดยตรงและจะทำให้เกิดหนี้สาธารณะที่ประชาชนทั้งประเทศมีส่วนร่วมแบกรับหนี้

แนวทางการขับเคลื่อนร่วมกันของภาคประชาชนและประชาสังคมจะต้องมีการจัดทำข้อมูลและกระจายข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชนเครือข่ายต่างๆ ซึ่งจะมีการติดตามปัญหาร่วมกันอย่างต่อเนื่องและจะจัดเวทีอีกครั้งในช่วงต้นมิถุนายนนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น