xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายลุ่มน้ำอีสาน รับบ่ได้ “ปลอด” ปากจัด จี้ “ปู” เก็บเข้ากรุด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปลอดประสพ สุรัสวดี (แฟ้มภาพ)
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน 42 องค์กร ร้อง “ยิ่งลักษณ์” สอบพฤติกรรม “ปลอด” ยันพล่ามสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม ข่มขู่-คุกคาม-ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ไม่สมควรอย่างยิ่งต่อการตำรงตำแหน่งอีกต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน ทำหนังสือเปิดผนึกถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการต่อท่าทีพฤติกรรมการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมของนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ว่าตามที่รองนายกรัฐมนตรีได้ปราศรัยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2556 บนเวที “เพื่อไทย เพื่ออนาคตประเทศไทย” ที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จ.เชียงใหม่ ซึ่งปรากฏตามคลิปวิดีโอและโซเชียลมีเดียในขณะนี้ ได้กล่าวย้อนถึงการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Water Summit) ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2556 ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่รองนายกรัฐมนตรีได้นำมาปราศรัยบนเวทีถึงผู้เห็นต่างในแผนการจัดการน้ำที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ด้วยการใช้วาจาที่ไม่สุภาพเหมาะสม แสดงให้เห็นถึงเจตนาการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่ผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีจะกล่าวและมีท่าทีเช่นนั้น

ช่วงการประชุมผู้นำด้านน้ำโลก เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงท่าทีและการใช้คำพูดของรองนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการกุข่าวการล้มเวที ขัดขวางการประชุมจากกลุ่มผู้เห็นต่างกับแผนการจัดการน้ำของรัฐบาล ตลอดช่วงเวลาจัดงาน ซึ่งเครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสานถูกพาดพิงมาโดยตลอด

เครือข่ายภาคประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสานได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การจัดกิจกรรมเวทีคู่ขนาน เป็นการจัดประชุมเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง ปัญหา และข้อกังวลเกี่ยวกับการจัดการน้ำของรัฐ โดยเฉพาะเพื่อให้ประชาชนในระดับรากหญ้าสามารถบอกเล่าในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ความเป็นความตายของชุมชน ไม่ได้มีการไปประท้วงหรือใช้ความรุนแรงในสถานที่จัดประชุมแต่อย่างใด และนำเสนอข้อกังวลของชาวบ้านอย่างเปิดเผยมาโดยตลอด

การปราศรัยบนเวทีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน จึงเห็นได้ชัดว่าเกิดจากความอคติ และความดันทุรังในการดำเนินงาน ไม่ฟังเสียงอย่างรอบด้าน และบิดเบือนประเด็นจากข้อเท็จจริง ใช้วาจาที่ไม่สุภาพและสร้างสรรค์ ใส่ร้ายสร้างความเสียหาย ข่มขู่ คุกคาม และยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ไม่ยอมชี้แจงข้อเท็จจริงในเวทีสาธารณะให้เป็นที่กระจ่าง

เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน รับไม่ได้ต่อท่าทีพฤติกรรมและคำพูดรองนายกรัฐมนตรี จึงขอเรียกร้องให้ยุติท่าที พฤติกรรมและการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสม กลับเข้าสู่การดำเนินงานที่มีบรรยากาศของการมีส่วนร่วม จริงใจในการดำเนินงานร่วมกันทุกฝ่าย ฟังเสียงของชุมชนท้องถิ่น โดยถือประโยชน์และการแก้ไขปัญหาเป็นที่ตั้งมากกว่าประโยชน์อื่นใดที่แอบแฝง

ดังนั้น เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน 42 องค์กรตามรายชื่อลงนามแนบท้าย จึงเรียนมาเพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของรองนายกรัฐมนตรี เพราะท่าทีดังกล่าวไม่สมควรอย่างยิ่งต่อการตำรงตำแหน่งอีกต่อไป

รายชื่อผู้ลงนามแถลงการณ์

1. สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

2. เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา

3. เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง

4. เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)

5. เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ

6. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)

7. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)

8. เครือข่ายทรัพยากรและสิ่่งแวดล้อมภาคอีสาน

9. ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.)

10. ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง

11. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

12. คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 kv.จ.อุดรธานี

13. กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง

14. กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย

15. กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

16. มูลนิธิฮักเมืองแจ่ม จ.เชียงใหม่

17. เครือข่ายลุ่มน้ำแม่แจ่ม 19 สาขา จ.เชียงใหม่

18. สถาบันอ้อผะหญา

19. คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ จ.แพร่

20. กลุ่มคัดค้านเขื่อนโป่งอาง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

21. กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน ต.ออบขาน จ.เชียงใหม่

22. กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน หมู่บ้านแม่ขนินใต้ ต.บ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

23. เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอิง จ.พะเยา และ เชียงใหม่

24. เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก

25. สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล

26. สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ (สกน.)

27. สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)

28. เครือข่ายสลัม 4 ภาค

29. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)

30. เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)

31. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.)

32. เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา

33. เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล

34. กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

35. ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ

36. กลุ่มตะกอนยม ต.สะเอียบ จ.แพร่

37. โครงการเสริมศักยภาพองค์กรชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า

38. เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า จ.ขอนแก่น

39. กลุ่มพิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง

40. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว

41. เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จ.อุบลฯ

42. เครือข่ายนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรมอีสาน


กำลังโหลดความคิดเห็น