xs
xsm
sm
md
lg

ลากไส้ “บ.เค-วอร์เตอร์” เอ็นจีโอเกาหลีห่วงคอรัปชั่นรัฐต่อรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (25 มิ.ย.) เวลา 13.00 น. น.ส.วาสนา มะลิทอง ตุลาการผู้แถลงคดีศาลปกครองกลาง แถลงเห็นควรให้องค์คณะตุลาการสั่งการให้นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วย คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กับพวก จัดการรับฟังความเห็นของประชาชน ก่อนทำสัญญากับเอกชนตามแผนจัดการน้ำ ทั้งนี้ ตุลาการผู้แถลงคดี ให้ความเห็นว่า โครงการการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ เพื่อจัดทำ 9 โมดูล เช่น การจัดสร้างอ่างเก็บน้ำที่เหมาะสม การสร้างถนนเพื่อเป็น เส้นทางคมนาคม และการรองรับการระบายน้ำ การป้องกันการป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง 17 ลุ่มแม่น้ำ ต้องใช้พื้นที่ตามโครงการอย่างกว้างขวางที่จะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ ต้องย้ายออกจากพื้นที่
รวมทั้งมีการตัดต้นไม้จำนวนมาก ดังนั้นโครงการนี้อาจจะเข้าข่ายจะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมซึ่งจะต้องฟังความคิดเห็นของประชาชนตาม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 ก่อนที่จะรัฐจะต้องไปทำสัญญากับผู้รับจ้างในการก่อสร้าง ทั้งนี้ศาลปกครองได้นัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 27 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ โดยคดีนี้มีองค์คณะ 6 คน โดยมีนาย ตรีทศ นิครธางกูร เป็นตุลาการเจ้าของสำนวน
สำหรับคดีดังกล่าวมีนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านโลกร้อนเป็นผู้ฟ้องคดี โดยนายศรีสุวรรณแสดงความมั่นใจว่า หากศาลปกครองกลางพิพากษาเหมือนความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี สุดท้ายรัฐต้องหยุดทำสัญญากับเอกชนตามแผนจัดการ
ทั้งนี้รัฐบาลเพิ่งอนุมัติให้มีการเซ็นสัญญากับบริษัทเอกชนตามแผนการจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้าน เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงความคืบหน้าในการยื่นถอดถอนคณะรัฐมนตรี จากกรณีโครงการบริหารจัดการน้ำ 35,000 ล้านบาทว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อให้ได้ 125 เสียง โดยคาดว่าจะยื่นต่อประธานวุฒิสภาได้ ภายในสัปดาห์นี้ หรือ ต้นสัปดาห์น้า
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) กล่าวก่อนการประชุม ครม.ถึงความคืบหน้าการดำเนินการร่างสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาหลังได้รับรายชื่อ 4 กลุ่มบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้าง(ทีโออาร์) โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ 3 ด้าน คือ 1.ด้านกฎหมายหรือระเบียบทางราชการ 2.ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีการจัดซื้อจัดจ้าง และ 3.ด้านเทคนิค โดยบริษัทเอกชนสามารถยืนราคาที่เสนอมาได้เป็นเวลา 180 วัน นับจากวันที่ 3 พ.ค.2556 ตามข้อกำหนดที่ได้มายื่นซองราคาจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้สามารถร่างสัญญาฯได้เสร็จทันภายใน 3 เดือน จากทั้งหมด 9 แผนงาน(โมดูล) จำนวน 10 โครงการ รวม 9 สัญญา ซึ่งตนมอบหมายให้นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ดูแลการดำเนินการร่างสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย
ส่วนการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อมาดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำนั้น มี 2 ประเภท คือ 1.บริษัทที่ปรึกษาทำหน้าที่ช่วยบริหารและตรวจกำกับแบบก่อนการก่อสร้าง (พีเอ็มอีซี) และ 2.บริษัทที่ปรึกษาทำหน้าที่คุมการก่อสร้างและให้คำแนะนำเรื่องการตรวจรับแบบการก่อสร้างช่วงเริ่มการก่อสร้าง(พีเอสซี) รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกและจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา ซึงมีนายธงทอง เป็นประธาน เพื่อเข้ามาตรวจสอบแบบการก่อสร้างและเทคนิคต่างๆควบคู่กับบริษัทที่ปรึกษา โดยคาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือน และเมื่อทำรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้าง(ทีโออาร์)แล้วเสร็จสิ้น จะถูกนำมาแจกให้กับสื่อมวลชนและบริษัทเอกชนที่มายื่นขอการจัดจ้างฯ ทั้งนี้จะเปิดให้บริษัทจากต่างประเทศมายื่นได้ แต่ต้องมีการรับรองหลักฐานยืนว่าเป็นบริษัทจากประเทศนั้นๆจริงจากสถานเอกอัครราชทูต และมีประวัติการทำการจริง ซึ่งทีโออาร์นี้จะเน้นด้านเทคนิคให้แต่ละบริษัทที่เข้ามารู้บทบาทหน้าที่ในแต่ละโครงการที่ได้รับเข้าไปดูแล สำหรับเงื่อนไขเบื้องต้นนั้น บริษัทเอกชนที่เข้ามายื่นทีโออาร์จะต้องสามารถเป็นที่ปรึกษาได้ทุกแผนงาน โดยในแต่ละแผนงานต้องมีบริษัทที่ปรึกษา 3 ด้าน คือ 1.การบริหารงบประมาณการก่อสร้าง 2.การตรวจทานแบบการก่อสร้าง และ 3.การตรวจรับแบบการก่อสร้าง ทั้งนี้ แต่ละบริษัทไม่สามารถเป็นที่ปรึกษาซ้ำกันใน 3 ด้านในแต่ละแผนงาน(โมดูล)ได้ เพื่อป้องกันการทุจริต
ส่วนกรณีที่มีผู้คัดค้านการก่อสร้างฟลัดเวย์ทั้งหมดและการก่อสร้างเขื่อนยมบน-ยมล่าง นายปลอดประสพ กล่าวว่า ต้องเปิดทำประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่อยู่แล้วระหว่างที่ดำเนินการร่างสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมา สำหรับการที่นักวิชาการเสนอให้มีการขุดลอกคูคลองที่มีอยู่ในปัจจุบัน แทนการก่อสร้างฟลัดเวย์นั้น ตนมองว่าสภาพคู่คลองในไทยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตเมือง จึงขัดกับแนวทางการก่อสร้างโครงการนี้ของรัฐบาลที่ต้องการเลี่ยงการผันน้ำผ่านเมือง ดูจากการศึกษาได้จากเมืองหลักในต่างประเทศ เช่น กรุงโตเกียว และเมืองโอซาก้า ของประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่มีการผันน้ำผ่านเมืองเป็นต้นแบบ.
ที่ จ.นครสวรรค์ ในระหว่างการลงพื้นที่ศึกษาแผนจัดการน้ำตามโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เช่น พนังกั้นน้ำ พื้นที่แก้มลิง และโครงการเส้นทางผันน้ำ ซึ่งจัดโดยโครงการสื่อสุขภาวะชุมชนชายขอบ ร่วมกับสมาคมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
นาย ยัม ฮชองฮอล ผู้อำนวยการสมาพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลี(Korean federation environmental movement : KFEM ซึ่งได้รับเชิญให้มาร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการน้ำในประเทศเกาหลีโดยเฉพาะกรณีที่บริษัท เค วอเตอร์ จากประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้ประมูลงานการทำทางผันน้ำ หรือ ฟลัดเวย์ และจัดหาพื้นที่เพื่อทำแก้มลิง ภายใต้งบประมาณ ประมาณ 1.63 แสนล้านบาท กล่าวว่า ประเทศเกาหลีเป็นประเทศที่เล็กกว่าประเทศไทย มากแต่มีเขื่อนเล็กเขื่อนน้อยมากมาย เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลเกาหลีอยากสร้างเขื่อนเร็วๆ ไม่ค่อยมีการปรึกษาประชาชนมากเท่าไรนัก แต่ในปัจจุบัน ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ถ้าจะสร้างเขื่อนชาวบ้านจะรู้ข้อมูลก่อน ถ้าไม่เห็นด้วยก็จะมีการคัดค้านด้วยวิธีการต่างๆทันที เวลานี้รัฐบาลเกาหลีจึงสร้างเขื่อนยากมาก เพราะถ้าประชาชนรู้ก็จะลุกขึ้นค้านทันที
“คนเกาหลีจะรู้ว่าผลกระทบจากเขื่อนเป็นอย่างไร เพราะมีประสบการณ์ชัดเจนมากกว่า ที่ไหนมีเขื่อนที่นั่นชุมชนจะล่มสลาย และการที่เควอเตอร์ประเทศเกาหลีมาสร้างฟลัดเวย์ในประเทศไทย เพราะ เวลานี้เกาหลีไม่มีที่สร้างเขื่อนแล้ว จึงต้องมาสร้างพื้นที่ฟลัดเวย์ในประเทศไทยแทน”นาย ยัม ฮชองฮอล กล่าว
ผู้อำนวยการสหพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้กล่าวอีกว่า ในกรณีที่เควอเตอร์ได้รับการประมูลในโมดูลเอ 3 เชื่อว่าไม่มีความสามารถในการดำเนินการในประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะเควอเตอร์ไม่มีความมั่นคงทางการเงิน และ ไม่มีศักยภาพในการสั่งการระบบทรัพยากรน้ำได้ สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันของเควอเตอร์ พบว่า สถานการณ์การเงินล่าสุดในปี 2012 มีงบที่พร้อมสำหรับการลงทุนเพียง 3.4 แสนล้านวอน แต่มีหนี้สินสูงถึง 3.72 แสนล้านวอน สถานการณ์ด้านการเงินตอนนี้เข้าขั้นกำลังแย่ โดยพบว่าตั้งแต่เควอเตอร์เริ่มดำเนินการสร้างเขื่อน 16 แห่งในพื้นที่ 4 แม่น้ำของเกาหลีใต้ ตั้งแต่ปี 1970-1980 มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มากมาย แต่กลับไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และเสถียรภาพในการบริหารจัดการน้ำ โดยระหว่าง ปี 2005-2012 ในช่วงก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวรวมทั้งลำน้ำสาขาต่างๆ พบว่าเควอเตอร์มีหนี้สินเพิ่มถึง 458 % ทำให้เควอเตอร์ถูกประชาชนเกาหลีใต้มองว่าไม่มีเสถียรภาพเรื่องการบริหารจัดการน้ำ
นาย ยัม ฮชองฮอล กล่าวว่า ที่แท้จริงแล้วเควอเตอร์ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นองค์กรในการพัฒนารวมทั้งก่อสร้างในด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ แต่ที่ผ่านมาเควอเตอร์กลับทำหน้าที่เพียงแค่บริษัทก่อสร้างเท่านั้นและไม่สามารถบริหารจัดการการจัดการน้ำได้ โดยเควอเตอร์ใช้เงินทุนสูงกว่าราคาที่เสนอไว้ในการก่อสร้างเริ่มต้น แต่ที่เควอเตอร์ยังดำรงอยู่ได้เนื่องจากมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้ โดยการเกิดขึ้นของบอร์ดเควอเตอร์ ในส่วนของซีอีโอ มาจากการแต่งตั้งของประธาณาธิบดี ซึ่งหมายถึงรัฐบาลจะต้องดูแลควบคุมการบริหารงาน ลูกค้าส่วนใหญ่ของเควอเตอร์จึงมักเป็นจำพวกรัฐบาลท้องถิ่นตามหัวเมืองและจังหวัดของเกลาหลีใต้ เพื่อให้เกิดการซื้อวัสดุและการบริหารการก่อสร้างสิ่งต่างๆภายในในเกาหลีใต้เอง ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการต่อต้านจากชาวเกาหลีใต้ตลอด ตัวอย่างของการดำเนินงานที่ขาดประสิทธิภาพ อาทิ กรณีเขื่อน นัมกัง ที่เควอเตอร์เสนองบในการก่อสร้าง 254 พันล้านวอน แต่เมื่อสร้างเสร็จปรากฎว่า ใช้เงินไปทั้งหมด 867 พันล้านวอน ในขณะที่กรณีก่อสร้างคลอง กองงิน ซึ่งมีระยะทางแค่ 18 กม. กว้าง 100 ม. ลึก 6 ม. และเป็นเพียงโครงการเล็กๆที่เควอเตอร์สร้างเพื่อทำฟลัดเวย์ จากการตรวจสอบภายหลังกลับ ฟลัดเวย์ดังกล่าวไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะพื้นที่ท่วมยังคงเกิดอยู่ในพื้นที่อื่น ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์กับฟลัดเวย์
“จากสถานการณ์ทางการเงินที่ไม่คงที่ และปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ขณะนี้เควอเตอร์กำลังถูกตรวจสอบจากสตง.ของเกาหลีใต้ในเรื่องระบบการเงิน โดยเฉพาะกรณีการสร้างเขื่อน 16 แห่ง เพราะราคาก่อสร้างแล้วเสร็จบางส่วนสูงกว่าราคาที่เสนอ จึงเป็นไปได้ว่าการรับงานในประเทศไทยอาจมีปัญหาในลักษณะเดียวกันหรือไม่”นาย ยัม ฮชองฮอล กล่าว
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า บริษัทเค วอร์เตอร์ หรือบริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น จากประเทศเกาหลีใต้ กลุ่มนี้เป็นบริษัทเดียวที่ยื่นเข้ามาโดยไม่มีบริษัทย่อยเป็นพันธมิตร มีความใกล้ชิดกับกรมชลประทานมาอย่างยาวนาน ที่คอยศึกษาเรื่องน้ำในประเทศไทยรู้ แต่มีการจับตาว่า เค วอร์เตอร์ เมื่อได้โครงการก่อสร้างฟลัดเวย์ แต่ซับคอนแทรค อาจจะตกมาอยู่กับกลุ่มคนไทย ที่กำลังเข้ามาหาประโยชน์จากงบประมาณ กลุ่มนี้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น