xs
xsm
sm
md
lg

นิคมฯ ไฮเทคจ่อตบเท้าพบ รมต. ร้องออมสินอืดปล่อยกู้ทำเขื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทวิช  เตชะนาวากุล
ผู้จัดการรายวัน - นิคมฯ บ้านหว้า (ไฮเทค) จวก ธ.ออมสินกั๊กปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม จ่อผนึกผู้ประกอบการนิคมฯ อื่นตบเท้าพบ รมว.อุตฯ ให้เร่งดำเนินการต่อไป

นายทวิช เตชะนาวากุล ประธานกรรมการบริษัท ไฮเทค กบินทร์ โลจิสติกส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคกบินทร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้นิคมอุตสาหกรรมบางหว้า (ไฮเทค) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังไม่ได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารออมสินสำหรับสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วมของนิคมฯ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเมื่อปี 2554 มีเพียงเงินช่วยเหลือจากกระทรวงอุตสาหกรรมตามโครงการปรับปรุงระบบเขื่อนป้องกันอุทกภัยของนิคมฯ ที่ได้รับบางส่วนแล้ว 148 ล้านบาทเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนนี้ หากธนาคารออมสินยังไม่เร่งดำเนินการ ทางผู้ประกอบการนิคมฯ คงจะเดินทางไปพบรัฐมนตรีอุตสาหกรรมเพื่อร้องเรียนต่อไป

ทั้งนี้ ออมสินจะปล่อยสินเชื่อให้นิคมฯ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในสัดส่วน 1 ใน 3 ของจำนวนเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อใช้สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ซึ่งความจริงแล้วธนาคารออมสินบริหารงานแบบธนาคารควรมีความคล่องตัวในการปล่อยกู้ แต่พบว่ามีความล่าช้ามาก ซึ่งขณะนี้หลายนิคมฯ ได้ดำเนินการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมกันเสร็จหมดแล้ว เว้นนิคมฯ สหรัตนนคร

วานนี้ (6 มิ.ย.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ลงนามร่วมกับ บริษัท ไฮเทคกบินทร์ โลจิสติกส์ จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคกบินทร์ ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี บนพื้นที่ประมาณ 1,066 ไร่ นับเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน สามารถบริหารในรูปแบบครบวงจร (วันสตอปเซอร์วิส) ซึ่งจะอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างประเทศ และเป็นนิคมฯ เชิงนิเวศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะใช้เวลาพัฒนานิคมฯ แล้วเสร็จใน 2 ปี

นายทวิชกล่าวว่า นิคมฯ ดังกล่าวอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 40 เมตร จึงไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำท่วม รองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เกษตรกรรมและผลิตผลทางการเกษตร และคลังสินค้าหรือโรงงานให้เช่า โดยจะแบ่งพัฒนานิคมฯ เป็น 2 เฟส ซึ่งเฟสแรกจะพัฒนาที่ดิน 300-400 ไร่ ใช้เงินลงทุน 300-400 ล้านบาทในการสร้างถนน ระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ และบ่อบำบัดน้ำเสีย คาดว่าจะขายที่ดินหมดในเฟสแรกภายใน 1 ปีครึ่ง

หลังจากนั้นก็จะพัฒนาที่ดินในเฟส 2 ทันที โดยบริษัทฯ ไม่รีบเร่งในการขายที่ดินดังกล่าว เนื่องจากนับวันการหาที่ดินใหม่ในการพัฒนานิคมฯ ทำได้ยากขึ้น และราคาขายที่ดินก็จะขยับราคาสูงขึ้นด้วย โดยปัจจุบันราคาขายไร่ละ 2.1 ล้านบาท

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า จากนี้ไปจะเป็นยุคทองของนักพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่กลับมาอีกครั้งตั้งแต่ช่วงปี 2530 เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 เห็นได้จากผู้พัฒนาพื้นที่สามารถขายที่ดินได้มากกว่า 3,000 ไร่ต่อปี โดยเฉพาะพื้นที่ชายทะเลฝั่งตะวันออก



///////////
กำลังโหลดความคิดเห็น