xs
xsm
sm
md
lg

ระดมกึ๋นพัฒนาระบบรถไฟฟ้า ใช้ระบบควบคุมกลางดันไทยฮับอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” ระดมความเห็นพัฒนาระบบรถไฟฟ้าเชื่อมรถไฟความเร็วสูงและแอร์พอร์ตลิงก์ ใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลาง “ซีเมนส์”เสนอผลศึกษาแบบให้เปล่าไม่ผูกมัด แนะใช้รถไฟความเร็วสูงเชื่อมกับประเทศอื่นดันไทยศูนย์กลางอาเซียน ใช้ระบบควบคุมกลางรถไฟฟ้าวิ่งผ่านได้ทุกยี่ห้อ

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังร่วมประชุม Focus Group เพื่อแลกเลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง “การพัฒนาระบบไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง และกรณีศึกษาโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ส่วนต่อขยาย กรุงเทพฯ-ระยอง” เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลทางเทคนิคเชิงลึก เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งทางบริษัท ซีเมนส์ (ประเทศไทย) และซีเมนส์ เอจี ประเทศเยอรมนี ได้ทำการศึกษาการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ท่าอากาศยานดอนเมือง และส่วนต่อขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ระยอง ซึ่งจะเป็นรูปแบบของรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าในเมืองที่สถานีกลางบางซื่อว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่มีต้นทุนน้อยที่สุด เนื่องจากเส้นทางทับซ้อนกันทำให้การออกแบบมีความซับซ้อนไปด้วย

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าทั้ง 3 ประเภทมีเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน คือ รถไฟฟ้าในเมืองจะมีความเร็วประมาณ 30-40 กม./ชม. ระยะห่างของสถานีประมาณ 1 กม. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มีความเร็วประมาณ 160 กม./ชม. ระยะห่างของสถานีประมาณ 5-30 กม. ส่วนรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วประมาณ 200-300 กม./ชม. ระยะห่างของสถานี 50-100 กม. ซึ่งทางซีเมนส์ศึกษาแบบให้เปล่า และไม่ได้จำกัดว่าภาครัฐจะต้องซื้อระบบและรถไฟฟ้าจากซีเมนส์

นายยงสิทธิ์กล่าวว่า ในอนาคตประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ดังนั้นทิศทางของเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงจะต้องวิ่งข้ามประเทศได้ โดยระบบของทางยุโรปมีการวิ่งเชื่อมต่อระหว่างประเทศกันมากกว่าทางอเมริกาที่วิ่งภายในหรือญี่ปุ่นที่มีสภาพเป็นเกาะไม่ได้เชื่อมกับใคร ซึ่งทางซีเมนส์เสนอให้ใช้กำหนดระบบทางเทคนิค TSI ซึ่งเป็นระบบอาณัติสัญญาณสากล จึงเป็นระบบที่เปิดกว้างที่รถไฟฟ้าทุกยี่ห้อสามารถวิ่งข้ามกันได้

“ประเทศไทยมี 2 ปัญหาที่ต้องพิจารณาคือ การใช้รถไฟความเร็วสูงเชื่อมกับประเทศอื่นโดยให้สามารถใช้รถได้หลายยี่ห้อ และการเชื่อมต่อรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ไปถึงระยองในรูปแบบรถไฟความเร็วสูง เชื่อมระหว่างดอนเมืองกับสุวรรณภูมิและการใช้บางซื่อเป็นสถานีกลาง โดยซีเมนส์วิเคราะห์จากกายภาพเห็นว่าแอร์พอร์ตลิงก์จะกลายเป็นระบบหลักหรือตัวกลางในการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าทั้งแนวเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก แต่จะต้องรอนโยบายว่าจะมีความเห็นอย่างไร เนื่องจากทางเทคนิคสามารถทำได้ทุกอย่าง แต่จะต้องดูความสะดวกในการใช้บริการของผู้โดยสารด้วย หากระบบเชื่อมต่อไม่ได้จะต้องเปลี่ยนรถอย่างไรให้สะดวกที่สุด เป็นต้น” นายยงสิทธิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น