"คมนาคม”เล็งประมูลระบบรถไฟความเร็วสูงก่อนงานก่อสร้างโยธาคาดไม่เกินไตรมาส 2/56 โยจะรวบเป็นสัญญาเดียวทั้ง 3 เส้นทาง “ชัชชาติ”ถกแก้ปัญหาเทคนิค จี้สรุปกรอบทำงานชัดเจนเพื่อรายงาน”นายกฯ”เผยระบบรถไฟสัญญาเดียว มีข้อดี ใช้ศูนย์ซ่อมเดียวร่วมกัน ต่อรองได้มากเหตุซื้อล็อตใหญ่
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ว่า ได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รวมถึง บริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาสมและออกแบบรถไฟความเร็วสูงทั้ง 3 เส้นทางที่ สนข.ได้ว่าจ้าง เพื่อให้ทราบถึงแนวคิดและนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเร่งรัดให้เปิดประกวดราคาได้ก่อนไตรมาส 3 ปี 2556 โดยจะมีการประกวดราคางานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) และรถไฟความเร็วสูงได้ก่อนจากนั้นจึงจะประกวดราคาก่อสร้างโครงสร้างงานโยธาภายหลัง เนื่องจากตัวระบบรถไฟจะเป็นตัวกำหนดว่าจะก่อสร้างโครงสร้างอย่างไร จึงไม่มีปัญหา โดยให้สนข. ทำ short list รายชื่อผู้ผลิตระบบและรถไฟความเร็วสูงเพื่อเปิดประมูลได้เลย
ทั้งนี้ ได้มีการหารือถึงเทคนิคของการก่อสร้างว่ามีปัญหาตรงจุดไหนอย่างไร เช่น จุดตัดกับถนนจะมีความสูงเท่าไร,เส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน จะเชื่อมต่อกับแอร์พอร์ตลิ้งค์อย่างไร,การปรับแบบสถานีกลางบางซื่อเพื่อใช้ร่วมกับรถไฟสายสีแดง,เส้นทางตะวันออกเฉียงเหนือ จากหนองคายมาถึงแก่งคอยจะเบี่ยงเส้นทางไปท่าเรือแหลมฉบังอย่างไร ,เส้นทางลงใต้จะเลือกแนวผ่านทางจังหวัดนครปฐม หรือ สมุทรสาคร เป็นต้น
“ตอนนี้ให้แนวคิดและนโยบายของท่านนายกฯ ซึ่งเร่งรัดให้เปิดประมูลระบบรถไฟภายในไตรมาส 2 ปี 56 เพราะระบบรถไฟความเร็วสูงจะมีขั้นตอนน้อยกว่าการก่อสร้างเส้นทางไม่ต้องรอผ่านEIA และตัวระบบก็จะเป็นตัวกำหนดว่าจะก่อสร้างเส้นทางอย่างไรด้วย ส่วนที่ปรึกษาให้มาร่วมฟังแนวทางของภาครัฐด้วยเพื่อไปศึกษาออกมาให้สอดคล้อง โดยจะประชุมติดตามความคืบหน้าทุกๆ 2 สัปดาห์ และจะสรุปความชัดเจน มีโรดแมปทั้งกรอบการทำงานและรายละเอียดต่างๆของโครงการรายงานนายกฯภายใน 1 เดือนหลังจากได้รับนโยบายเมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา”นายชัชชาติกล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า เบื้องต้นจะประกวดราคางานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) รถไฟความเร็วสูงสัญญาเดียว จัดหาระบบและรถ 3 เส้นทางคือ 1. กรุงเทพฯ-หนองคาย ก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาก่อน 2. กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ก่อสร้าง ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลกก่อน 3. กรุงเทพฯ-ระยอง ก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ- สุไหโกลก ก่อสร้างช่วงกรุงเทพ- หัวหินก่อน โดยข้อดีของประมูลสัญญาเดียวคือ จะมีอำนาจในการเจรจาต่อรองราคาเพื่อเป็นการซื้อรถจำนวนมาก ให้เจ้าของระบบถ่ายทอดเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ ประหยัดด้านซ่อมบำรุงเพราะเป็นรถแบบเดียวกัน และใช้ศูนย์ซ่อมบำรุงร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม จะมีการขึ้นบัญชีรายชื่อ (short list) บริษัทผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงจากทั่วโลก และจะให้ผู้ผลิตที่มีชื่อใน short list นำหัวจักรและรถโดยสาร มาจัดแสดงที่งานนิทรรศการรถไฟความเร็วสูงที่จะมีการจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน-31 สิงหาคม 2556 ที่คลังสินค้าดอนเมืองด้วยเพื่อแสดงเทคโนโลยี ส่วนการประกวดราคาจะเป็นนานาชาติ (International Bid) โดยบริษัทผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงทั่วโลกมีหลายราย เช่น บริษัทฮิตาชิ จำกัด,ชนคันเซ ของญี่ปุ่น ชินคันเซ็น ของญี่ปุ่น , บริษัท CNR และ CSR ของจีน , บริษัท อัลสตอม เอส.เอ ของฝรั่งเศส, บริษัท ซีเมนส์ เอจี ของเยอรมัน เป็นต้น