“ชัชชาติ” สั่ง “ประภัสร์” เร่งแก้ปัญหาบริการแอร์พอร์ตลิงก์ ปลดล็อก “ซีเมนส์” ผูกขาดระบบรถไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณรายเดียว ชี้ผูกขาดทำให้ค่าอะไหล่แพง ไม่มีทางเลือกใช้ยี่ห้ออื่น พร้อมเร่งแก้ปมจัดซื้อจัดจ้างล่าช้า ตั้งทีมเฉพาะก่อนเจรจาคลังตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจแยกจาก ร.ฟ.ท.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เร่งแก้ปัญหาการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ โดยเบื้องต้นได้ให้นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและพิจารณาระบบรถไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณที่เหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันแอร์พอร์ตลิงก์ใช้รถของบริษัท ซีเมนส์ จำกัด ซึ่งมีระบบอาณัติสัญญาณเฉพาะไม่สามารถใช้รถยี่ห้ออื่นมาวิ่งร่วมได้ ผูกขาดระบบเดียว มีเงื่อนไขในการดำเนินงาน โดยให้พิจารณาาจะยกเลิกระบบปัจจุบันหรือปรับปรุงได้อย่างไรบ้าง เพื่อเพิ่มทางเลือกในการจัดหารถให้มากขึ้น พร้อมกันนี้จะต้องตั้งอนุกรรมการด้านความปลอดภัยขึ้นมาทำงานควบคู่ไปด้วย
ทั้งนี้ การที่ระบบอาณัติสัญญาณเฉพาะส่งผลกระทบต่อการซ่อมบำรุงและทำให้การให้บริการมีปัญหาตามไปด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้แอร์พอร์ตลิงก์จะดูแลรับผิดชอบการซ่อมบำรุงเอง จึงไม่ได้ทำสัญญาจ้างซีเมนส์ซึ่งเป็นเจ้าของระบบรถไฟฟ้าในเรื่องซ่อมบำรุง แต่เมื่อทำเองก็เกิดปัญหาเพราะแยกซื้ออะไหล่ ทั้งล่าช้าและราคาแพง และไม่สามารถใช้อะไหล่จากผู้ผลิตรายอื่นมาใช้ร่วมได้ ซึ่งแตกต่างจากรถไฟฟ้าใต้ดิน และรถไฟฟ้า BTS ที่ใช้รถไฟฟ้าของซีเมนส์และมีสัญญาซ่อมบำรุงเป็นแพกเกจด้วย
“ประเด็นที่ต้องดูคือ จะยกเลิกการใช้ระบบรถไฟฟ้าของซีเมนส์ได้หรือไม่ โยจัดหาระบบใหม่เลย หรือ หาผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาบริการคู่ขนานกันไปเหมือนที่ BTS ทำบางช่วง เป้าหมายเพื่อไม่ให้เกิดการล็อกสเปกระบบและการซ่อมบำรุง โดยให้คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งจะต้องเร่งตัดสินใจเพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนที่จะทำการจัดซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มซึ่งมีแผนซื้อจำนวน 7 ขบวน โดยให้มองอนาคตด้วยว่าแอร์พอร์ตลิงก์จะไปในทิศทางใด จะใช้รถไฟฟ้าแบบไหนเรื่องอะไหล่ การซ่อมบำรุงจะทำอย่างไร” นายชัชชาติกล่าว
สำหรับการจัดซื้อรถใหม่ 7 ขบวนๆ ละ 4 ตู้ วงเงินประมาณ 5,200 ล้านนั้น นายชัชชาติกล่าวว่า ร.ฟ.ท.ได้เสนอแผนมาแล้ว โดยไม่ได้ระบุว่าจะซื้อยี่ห้ออะไร โดยตามแผนการซื้อรถใหม่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2.5-3 ปี ดังนั้นก็ให้พิจารณากรณีการเช่ามาใช้ก่อนด้วยว่าทำได้หรือไม่ เป็นการคิดนอกกรอบ เพื่อเร่งปรับปรุงการให้บริการ
นอกจากนี้ แอร์พอร์ตลิงก์ยังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างอะไหล่วงเงินกว่า 400 ล่าช้า โดยในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ จะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้งเพื่อพิจารณาหาทางออกให้การจัดซื้อจัดจ้างรวดเร็วขึ้น เช่น ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ กำหนดเงื่อนเวลาขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง และมีการกำหนดดัชนีประเมินผลการทำงาน (KPI) ที่ชัดเจน
“ปัญหาที่ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างล่าช้าเพราะต้องขอความเห็นชอบจาก ร.ฟ.ท. แต่ในทางปฏิบัติสามารถเร่งรัดได้ แต่ที่ผ่านมาล่าช้าเพราะวิธีการทำงานของตัวบุคคลมากกว่า แต่ตอนนี้มีผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.คนใหม่ที่เข้าใจปัญหาเขื่อว่าจะปรับวิธีการทำงานให้เร็วขึ้นได้ ส่วนการตั้งแอร์พอร์ตลิงก์เป็นรัฐวิสาหกิจใหม่เพื่อแยกการบริหารงานออกจาก ร.ฟ.ท.นั้นเป็นแผนระยะกลางที่ต้องใช้เวลาเพราะต้องหารือกับกระทรวงการคลังด้วย” นายชัชชาติกล่าว