xs
xsm
sm
md
lg

ไฮสปีดญี่ปุ่น แม่แบบพัฒนารถไฟความเร็วสูงไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
สนข.ยึดต้นแบบญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จพัฒนารถไฟความเร็วสูงของไทย เผยแนวดึงท้องถิ่นร่วมพัฒนาตลอดเส้นทาง พร้อมเปิดพื้นที่ใหม่พัฒนา เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้โดยใช้การจัดรูปที่ดินแทนการเวนคืน ให้ประชาชนเจ้าของที่ดินมีส่วนร่วมในประโยชน์ที่เกิดขึ้น ลดการต่อต้าน

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หน่วยงานหลักในการวางแผนระบบรางของประเทศ ทั้งโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย และรถไฟความเร็วสูง ได้พาสื่อมวลชนศึกษาการพัฒนารถไฟของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จทั้งในด้านการให้บริการและความคุ้มค่าในการลงทุน โดยพบว่าหลักการพัฒนารถไฟของญี่ปุ่นจะให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม เช่น รถไฟสายใหม่เพื่อเชื่อมไปยังเมืองใหม่ (อะกิฮาบาระ-ทึกุบะ) ระยะทาง 58.3 กม.ใช้เวลา 45 นาที มีเอกชนเป็นผู้ลงทุนโดยร่วมทุนกับเมืองที่อยู่รายทาง

ประเทศญี่ปุ่นมีโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง (high speed train) 2,388 กิโลเมตร มีปริมาณผู้โดยสารมากกว่า 350 ล้านคนต่อปี ประกอบด้วย 5 สายทาง ประกอบด้วยtakaido& Sunyo, tohoku, joetsu, hokuriku และ kyusyu โดย JR EAST เป็นบริษัทผู้ให้บริการรถไฟขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วยโครงข่ายรถไฟ 7,513 กม. ขนส่งผู้โดยสารวันละ 17 ล้านคน (เฉพาะสถานีโตเกียวมีผู้โดยสาร1 ล้านคนต่อวัน) มีจำนวนรถไฟถึง 13,000 เที่ยวต่อวัน รายได้ 30,900 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยเป็นกำไร 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลัดทรัพย์มีมูลค่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีพนักงาน 71,729 คน และไม่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาล

ส่วนรถไฟความเร็วสูงนั้น JR East มีโครงข่ายถึง 1,411 กิโลเมตร ประกอบด้วยส่วนที่เป็นโครงข่ายเฉพาะรถไฟความเร็วสูง 1,134 กิโลเมตร และส่วนที่วิ่งในเส้นทางรวมกับรถไฟปกติ 227 กิโลเมตร บริการผู้โดยสารถึง 241,000 คนต่อวัน ด้วยรถไฟ 310-415 ขบวนต่อวัน

ที่น่าสนใจคือ รายได้ของ JR East แบ่งออกเป็นรายได้จากบริการขนส่ง 67% และธุรกิจนอกบริการขนส่ง เช่น ให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร และโฆษณา 33% โดยรายได้จากธุรกิจขนส่งรถไฟ 20,800 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นส่วนของรถไฟความเร็วสูง 28% และรถไฟปกติ 72% โดยบริษัท JR EAST เป็นผู้ลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ราง ระบบอาณัติสัญญาณ ขบวนรถ และระบบส่งไฟฟ้าและโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย

โดยรูปแบบการพัฒนาสถานีที่ประสบความสำเร็จ คือ สถานีโตเกียว (Tokyo grand station) ซึ่งเปิดให้บริการครั้งแรกในปี 1914 ก่อนที่จะถูกทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาตามแผนระหว่างปี 1998- 2016 ซึ่งจะมีทั้งสำนักงาน โรงแรม เป็นต้น โดยรายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คิดเป็น 32% เนื่องจากเป็นการพัฒนาแบบเปิดพื้นที่ใหม่แม้จะมีความเสี่ยงแต่ก็มีผลตอบแทนสูงมาก

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า การพัฒนาระบบรางของประเทศไทยโดยเฉพาะรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงให้ประสบความสำเร็จควรยึดหลักของญี่ปุ่นที่มีการร่วมมือกับท้องถิ่นเพื่อให้มีการพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการก่อสร้าง ซึ่งในการออกแบบรถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทางของ สนข.คือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย และกรุงเทพฯ-หัวหิน-สุไหงโก-ลก จะมีการศึกษาเพิ่มในส่วนของการกำหนดจุดสถานี โดยเน้นการเปิดพื้นที่ใหม่ซึ่งอาจจะอยู่นอกเขตเมืองที่ปัจจุบันมีความหนาแน่นแล้ว

ตามแผนรถไฟความเร็วสูงจะเปิดในปี 2562 ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีการเวนคืนเล็กน้อย ดังนั้นจะต้องคุยกับ ร.ฟ.ท.ในการจัดผังพื้นที่และการใช้ประโยชน์ โดยสถานีบางซื่อถือเป็นสถานีกลางเชื่อมรถไฟฟ้า 10 สาย รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูง อยู่บนที่ดิน ร.ฟ.ท. เบื้องต้นไม่ต้องเวนคืน อยู่ที่จะจัดผังการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดตั้งแต่บางซื่ิอ จตุจักร ตลาด อ.ต.ก.อย่างไร

“ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการก่อสร้างรถไฟพร้อมกับการเปิดพื้นที่ใหม่ของเมืองเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ที่ดิน ไม่มองพื้นที่เดิมที่เติบโตอยู่แล้วอย่างเดียวเพราะรถไฟจะสามารถดึงให้เกิดการเดินทาง ส่วนการพัฒนาเมืองรอบสถานีโดยการสร้างกิจกรรม และสร้างให้สถานีนั้นๆ เป็นจุดเปลี่ยนรถของเมืองที่อยู่ใกล้เคียง เช่น พัฒนาสถานีโคราชก็จะต้องทำให้คนที่อยู่จังหวัดใกล้เคียงเข้ามาใช้รถไฟความเร็วสูงที่สถานีโคราชได้สะดวก” นายจุฬากล่าว

โดยต้นแบบการพัฒนารถไฟไปพร้อมกับเมืองของญี่ปุ่น เช่น รถไฟชินคันเซ็น ที่สถานีซาคุไดระ อำเภอซากุ จังหวัดนากาโนะ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของโตเกียว ระยะทาง 150 กิโลเมตร เดิมรถไฟธรรมดาใช้เวลา 3 ชั่วโมง 30 นาที แต่ชินคันเซ็นเหลือ 1 ชั่วโมง 20 นาที โดยเทศบาลได้จัดเตรียมพื้นที่รอบสถานีก่อนเป็นเวลา 8 ปี โดยการจัดรูปที่ดิน วางผังการใช้ประโยชน์แทนการเวนคืน หลักการคือที่ดินของประชาชนยังมีอยู่แต่จะเล็กลง โดยได้มูลค่าเพิ่มจากการพัฒนาตอบแทน ในขณะที่เทศบาลจะมีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่สามารถขายเพื่อนำรายได้มาพัฒนาระบบสาธารณูปโภคส่วนกลาง ตอบแทนกับสังคมได้อีก

นอกจากนี้ การพัฒนาต้องมองไปถึงอนาคตอย่างน้อย 10 ปีข้างหน้าด้วย สำหรับไทยนั้น การจัดรูปที่ดินเคยนำเสนอเป็นกฎหมายแต่ไม่สำเร็จ การพัฒนาอาจต้องดูเป็นกรณีเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกฎหมาย ที่สำคัญต้องนำหลักคิดของญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมได้รับประโยชน์ของทั้งท้องถิ่นและประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้าน



กำลังโหลดความคิดเห็น