“ยิ่งลักษณ์” เผยไทยเตรียมตั้งสาขาธนาคารญี่ปุ่นในประเทศไทยกลางปีหน้า ระบุความสัมพันธ์ไทย-อิรักรุดหน้า เตรียมเปิดสถานทูตระหว่างกัน ลั่นพร้อมทำงานร่วม ADPC และ IPCC ต่อสู้กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของมนุษย์
วันที่ 4 พ.ค. เวลา 10.30 น. นายโชสะบุโร จิมิ (Shozaburo JIMI) รัฐมนตรีพิเศษประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรี (ดูแลการบริหารทางการเงิน) และรัฐมนตรีดูแลการปฏิรูปกิจการไปรษณีย์ เข้าเยี่ยมคารวะนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้พบรัฐมนตรีพิเศษประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรี (ดูแลการบริหารทางการเงิน) และรัฐมนตรีดูแลการปฏิรูปกิจการไปรษณีย์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยนายกรัฐมนตรีมีโอกาสได้พบกับครอบครัวของรัฐมนตรีพิเศษเมื่อครั้งเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนมีนาคม รวมทั้งเข้าพบและหารือและร่วมโต๊ะรับประทานอาหารเย็นในงานเลี้ยงรับรองที่ JR Kyushu เป็นเจ้าภาพ ระหว่างการเยือนเกาะคิวชูเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความรู้สึกความประทับใจเป็นอย่างมากในการเดินทางเยือนเกาะคิวชู เนื่องจากได้รับความรู้และประสบการณ์มากมาย ทั้งจากการดูงานด้านรถไฟความเร็วสูงและรถไฟสายท่องเที่ยว รวมทั้งการดูงานผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) ของเกาะคิวชู ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างทั้งสองประเทศ และรู้สึกดีใจที่ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์กับไทย โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือไทยเป็นอย่างดี เมื่อครั้งที่ประเทศไทยประสบวิกฤตอุทกภัย
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงสถานการณ์ความคืบหน้าในการป้องกันอุทกภัยในเขตนิคมอุตสาหกรรมในอนาคต ว่าในขณะนี้มีการก่อสร้าง และปรับระดับถนนเพื่อป้องกันเขตนิคมอุตสาหกรรม
โดยรัฐมนตรีพิเศษประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรีฯ ญี่ปุ่นได้กล่าวถึงระบบการประกันภัยของไทยซึ่งมีขนาดใหญ่ และชื่นชมในความพยายามของรัฐบาลไทยในการสร้างและพัฒนาการประกันภัยพิบัติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ และเป็นทางเลือกให้กับประชาชน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีพิเศษประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรีฯญี่ปุ่น เห็นว่ามีธุรกิจอีกหลายสาขาที่ไทย-ญี่ปุ่นสามารถร่วมมือกันได้ อาทิ สถาบันธุรกิจการเงิน และการธนาคารของญี่ปุ่น ซึ่งมีความมั่นคง และประสงค์ที่จะเข้ามาลงทุนและตั้งสาขาธนาคารในประเทศไทยมากขึ้น หรือในด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค ทั้งรถไฟฟ้าความเร็วสูง (รถไฟชินคันเซ็น) การพัฒนาสายรถไฟในกรุงเทพฯ การพัฒนาระบบ Digital TV และการพัฒนาระบบเตือนภัยธรรมชาติในประเทศไทยนั้น ทางประเทศญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจึงอยากจะให้รัฐบาลไทยพิจารณานำเทคโนโลยีนี้มาใช้
โดยนายกรัฐมนตรีได้แสดงความขอบคุณ พร้อมกล่าวว่าจะนำเทคโนโลยีของทางญี่ปุ่นไปศึกษา ส่วนในเรื่องของการตั้งสาขาธนาคารญี่ปุ่นในประเทศไทยนั้น ทราบว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายที่จะออกใบ
อนุญาตให้ประมาณกลางปีหน้า
จากนั้นเวลา 11.00 น. นางสาวอามาล มูซา ฮุซัยน์ อาลี อัรรุบัยอีย์ (Dr. Amal Mussa Hussain Ali Al-Rubaye) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิรักประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิรักประจำประเทศไทย พร้อมแสดงความยินดีในโอกาสที่นางสาวอามาล มูซา ฮุซัยน์ อาลี อัรรุบัยอีย์ เข้ารับตำแหน่ง และกล่าวว่า ไทยและอิรักมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นระหว่างกันมาเป็นเวลานาน นายกรัฐมนตรีจึงมีความพร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยน และเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านการค้า การลงทุน นายกรัฐมนตรีใช้โอกาสนี้ ในการสนับสนุนการส่งออกสินค้าของไทยไปยังอิรัก เช่น ข้าว และอะไหล่รถยนต์
ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิรักประจำประเทศไทย ได้กล่าวขอความสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการเร่งสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอิรักและไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เนื่องจากในขณะนี้ สถานการณ์ความไม่สงบในอิรักได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว
นอกจากนี้ สาธารณรัฐอิรักกำลังอยู่ระหว่างการวางแผนการให้มีการเปิดสถานเอกอัครราชทูตอิรักประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอิรัก ณ กรุงแบกแดด อีกครั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลไทยและกระทรวงการต่างประเทศยินดีให้ความร่วมมืออย่างต็มที่ ประเทศไทยพร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ ADPC และ IPCC เพื่อต่อสู้กับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของมนุษย์
เวลา 13.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นพ.กระแส ชนะวงศ์ ประธานศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเซีย (Asian Disaster Preparedness Center (ADPC)) นำ
ดร. Rajendra K. Pachauri ประธานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพ
ภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC)) เข้าเยี่ยมคารวะ นางสาว
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีการหารือ สรุปดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับประธานและคณะผู้เชี่ยวชาญจาก ADPC และ IPCC พร้อมกับแสดงความยินดีและชื่นชมกับ ดร. Pachauri ประธาน IPCC ซึ่งได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี 2007 จากการนำเสนอมุมมองด้านวิทยาศาสตร์และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ซึ่งเป็นความท้าทายของโลกปัจจุบัน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความชื่นชมต่อบุคคลทั้งสองในการอุทิศตัวเพื่อต่อสู้กับความท้าทายต่อความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมกันจัดทำรายงาน “The Special Report on Managining Risks of Extreme Events and Disasters to Advance Climate Change Adaptation (SREX)” ซึ่งเป็นรายงานที่กล่าวถึงแนวทางการบูรณาการความรู้ด้านสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการ
ภัยพิบัติ และการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น
โดย ดร. Pachauri ถือโอกาสนี้ ส่งมอบรายงานฉบับดังกล่าวให้แก่นายกรัฐมนตรี พร้อมกับหวังว่า รัฐบาลไทย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ในอนาคต พร้อมกับแสดงความสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South-South Corporation) ในเรื่องนี้มากขึ้น เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจมีสภาพแวดล้อมและปัญหาที่ต่างกัน โดยทาง IPCC จะจัดการประชุม Delhi Sustainable Development Summit (DSDS) ระหว่างวันที่ 31 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2556 ณ ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา และขอเชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย เนื่องจากเห็นว่า รัฐบาลไทยสามารถจัดการกับปัญหาอุทกภัยที่ต้องเผชิญอย่างเฉียบพลันได้เป็นอย่างดี
ระหว่างการสนทนาได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภัยธรรมชาติและการบริหารจัดการภัยพิบัติในอนาคต ซึ่งนายกรัฐมตรีได้กล่าวถึงนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ที่เน้นการพัฒนาฐานข้อมูลและกำหนดมาตรการเพื่อต่อสู้กับปัญหาอุทกภัยในระยะยาว โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความพร้อมที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับ ADPC และ IPCC ต่อไป เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของมนุษย์