xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมบันเทิง : I Wish คำอธิษฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วิถีชีวิตชาวพุทธในเมืองไทยนั้น หลายคนยังไม่สามารถสลัดให้หลุดจากความเชื่อที่เป็นแค่เปลือกได้ ดังนั้น เราจึงยังเห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง เกี่ยวกับการบนบานศาลกล่าว อธิษฐานขอพร ขอโชคลาภจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไปจนกระทั่งขอจากสัตว์หรือต้นไม้กลายพันธุ์ ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องการไหว้พระทำบุญ ก็ยังทำไปเพื่อมุ่งหวังจะให้ได้สิ่งที่ต้องการ

ในภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Kiseki (ชื่อภาษาอังกฤษ คือ I Wish) ก็มีเนื้อหาว่าด้วยการ “อธิษฐาน” จากความเชื่อประหลาดๆของชาวญี่ปุ่นเป็นบทหลักในการเดินเรื่อง แต่ทว่าสิ่งที่เป็นข้อคิดที่หนังเรื่องนี้แฝงเอาไว้ เมื่อนำมาตีความ พร้อมประยุกต์ด้วยวิถีทางพุทธศาสนาแล้ว ก็นับว่าเป็นคติสอนใจที่ดีมาก

เรื่องราวในภาพยนตร์เริ่มต้นขึ้นที่เมืองคาโกชิม่า ในวันที่ท้องฟ้าเป็นสีเทา ขมุกขมัว ด้วยสาเหตุจากภูเขาไฟที่อยู่ไม่ไกลจากเมือง ได้ปะทุส่งควันเถ้าถ่านออกมาอีกครั้ง และแม้จะยังไม่ถึงกับเป็นเรื่องร้ายแรง หรือเข้าขั้นอันตราย แต่ก็กลายเป็นประเด็นที่คนในเมืองเริ่มพูดถึง

“โคอิชิ” เด็กชายวัยประถม ก็เป็นคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้ หนังฉายภาพให้เห็นว่าเขาอยู่กับแม่ ในบ้านคุณตาคุณยาย ก่อนจะค่อยๆเฉลยว่า ความจริงแล้ว โคอิชิ ยังมีน้องชายชื่อ “เรียวโนะสุเกะ” ซึ่งอาศัยอยู่กับพ่อที่เมืองฟุกุโอกะ สาเหตุที่สองพี่น้องต้องแยกกันอยู่ เพราะพ่อกับแม่มีปัญหากัน แม้ความจริงที่ว่า ทั้งคู่ไม่ได้หย่าร้างจากกัน แต่ผู้ใหญ่สองคนก็ตัดสินใจใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ โดยแบ่งภาระเลี้ยงดูลูกกันไป

แต่ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสองพี่น้องที่รักใคร่กลมเกลียวกันมาตั้งแต่เด็ก จึงไม่อาจตัดสายใยแห่งความรักที่มีต่อกันได้ ทั้งคู่ยังโทรศัพท์ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของกันและกันเสมอ โดยเฉพาะการเดินทางข้ามไปมาระหว่างสองเมือง ก็ไม่ได้มีอะไรยากเย็นนัก ด้วยมีรถไฟวิ่งไปหากันในเวลาไม่นาน จึงทำให้เรียวโนสุเกะ เดินทางมาหาพี่ชายได้ไม่ยาก

วันหนึ่งในชั่วโมงเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ โคอิชิได้ยินเรื่องเล่าอันน่ามหัศจรรย์จากเพื่อนสนิทร่วมชั้น ที่ว่า “ปาฏิหาริย์” จะสามารถบังเกิดขึ้นได้จริง ในช่วงจังหวะนาทีที่รถไฟชินคันเซ็นวิ่งสวนกัน ซึ่งนั่นได้กลายเป็นการจุดประกายสำคัญให้โคอิชิ เกิดแรงบันดาลใจว่า เขาน่าจะขอพรบางอย่างเพื่อให้ครอบครัวกลับมาเป็นดังเดิม

คำอธิษฐานขณะรถไฟหัวจรวดวิ่งสวนทางกัน อาจเป็นเรื่องตลกสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กชายวัยประถมนั้นจินตนาการกว้างไกลไปหลายเท่านัก และถือเป็นเรื่องจริงจังในชีวิต โคอิชิรู้ดีว่าเขาคงไม่สามารถขอพรให้พ่อแม่กลับมารักกันได้ง่ายๆ เพราะสถานการณ์ที่เคยเห็นนั้น ทั้งคู่เจอกันทีไรต้องมีเรื่องทะเลาะกันทุกที

ความคิดแบบเด็กวัยประถมจึงก้าวไปไกลกว่านั้น ด้วยการคาดหวังว่า ถ้าภูเขาไฟในคาโกชิม่า ที่กำลังปล่อยเถ้าถ่านอยู่ ระเบิดไปซะให้สิ้นเรื่องสิ้นราว ครอบครัวคุณตาคุณยาย แม่และตัวเขา ก็ต้องย้ายไปอยู่รวมกับพ่อและน้องชายที่ฟุกุโอกะอย่างแน่นอน

ดังนั้น โคอิชิกับเพื่อนๆในกลุ่มที่โรงเรียน จึงเริ่มปรึกษากันเป็นเรื่องเป็นราว แต่ละคนเห็นด้วยกับปฏิบัติการเดินทางไปอธิษฐาน ณ จุดตัดแห่งรถไฟชินคันเซ็น เขาเริ่มมองแผนที่ว่าจะต้องต่อรถไฟจากบ้านไปไกลแค่ไหน และจะต้องเดินทางไปอย่างไร ซึ่งความคิดนี้ยังถูกส่งต่อไปยังเรียวโนะสุเกะกับกลุ่มเพื่อนอีกเมือง ทำให้โครงการเดินทางไปขอพร กลายเป็นโครงการร่วมกันระหว่างเด็กๆทั้งสองเมือง

โดยก่อนการเดินทาง โคอิชิกับเพื่อนๆนั่งนับเงินกันแล้วก็พบว่า ยังขาดค่าตั๋วรถไฟอยู่พอสมควร พวกเขาจึงพยายามทุกวิถีทางในการหาเงินเล็กๆน้อยๆ ตั้งแต่เอาของเล่นเก่าไปขาย คุ้ยหาเศษเหรียญตามถนน หารายได้พิเศษด้วยวิธีต่างๆเท่าที่เด็กวัยประถมจะทำได้ จนในที่สุดก็มีเงินเพียงพอ

เมื่อถึงฤกษ์งามยามดี เด็กๆทั้งสองกลุ่มมารวมตัว และออกเดินทางไปด้วยกัน ระหว่างทางไปยังเมืองซึ่งเป็นจุดวิ่งสวนกันของรถไฟชินคันเซ็น เด็กๆทั้งหมดต้องไปขออาศัยนอนค้างในบ้านคุณลุงคุณป้าที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ซึ่งก็เป็นมุมน่ารักๆในสังคมต่างจังหวัดของประเทศญี่ปุ่น ที่ทำให้บรรยากาศของหนังดูอบอุ่นยิ่งขึ้น

เช้าวันต่อมา เด็กทุกคนเดินทางไปยังจุดหมายได้ทันเวลา และเมื่อถึงนาทีสำคัญที่รถไฟวิ่งสวนกัน แต่ละคนก็ตะโกนอธิษฐานในสิ่งที่ตนปรารถนา เว้นเสียแต่โคอิชิ ที่ยืนมองรถไฟซึ่งสวนกันไปอย่างนิ่งสงบ เหตุที่เป็นเช่นนั้น คงเพราะเขานึกถึงคำที่คุณตาเคยบอกไว้ว่า หากภูเขาไฟระเบิดขึ้นมาจริงๆ ต้องมีคนบาดเจ็บล้มตาย และมีการอพยพเดือดร้อนไปทั่ว ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจึงแวบเข้ามาในความคิดของโคอิชิ และสุดท้ายเขาก็ไม่ได้อธิษฐานอะไร

บทสรุปของหนังเรื่องนี้ จบลงด้วยกลิ่นอายเชิงปรัชญาเล็กน้อย เพราะสุดท้ายก็ไม่ได้สรุปว่า คำอธิษฐานจะเป็นจริงหรือไม่ และพี่น้องสองคนต่างก็เดินทางกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ส่วนความมุ่งหวังของเด็กๆที่เหลือ ก็ทิ้งไว้ให้ผู้ชมคิดต่อยอดกันไปเอง

แต่ถ้าเราตีความและเข้าใจความหมายที่แท้จริงของ “อธิษฐาน” ในทางพุทธศาสนาแล้ว จะพบคำตอบไปในตัว เพราะอธิษฐานตามหลักพุทธศาสนา หมายถึง “การตั้งมั่น ตั้งใจ กำหนดในใจ” ดังนั้น การอธิษฐานจึงไม่ใช่การขออะไรแบบดื้อๆ เลื่อนลอย หรือคาดหวังให้ได้มาง่ายๆโดยไร้ความพยายาม

ยกตัวอย่างการอธิษฐานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงตั้งจิตอธิษฐานที่จะบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ เพื่อช่วยเหลือสัตว์โลก อันเป็นอธิษฐานบารมี หรือการอธิษฐานให้ชีวิตมีเป้าหมายบรรลุไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งท้ายที่สุดพระพุทธองค์ก็ทรงตรัสรู้ และทรงทำได้ตามที่อธิษฐานไว้

ดังนั้น คำอธิษฐานทางพุทธศาสนา จึงเป็นการกำหนดแบบแผนแนวทางของการดำเนินชีวิต การตั้งมั่นตั้งใจ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ความเพียรพยายาม ความอดทน และมุ่งมั่นอย่างไม่ย่อท้อ เพื่อให้คำอธิษฐานเป็นจริง โดยต้องยึดเอากฎแห่งการกระทำของตนเป็นสำคัญด้วย มิใช่เพียงนั่งๆนอนๆไม่ทำการอันใด

เมื่อโยงเข้ากับเรื่องราวในหนัง “คำอธิษฐาน” ที่สำคัญกว่าสิ่งใด จึงเป็นความตั้งใจที่เด็กๆทั้งหลาย ต่างพยายามที่จะเดินทางไปยังจุดหมายที่รถไฟวิ่งสวนกันให้ได้ โดยเริ่มตั้งแต่การวางแผน การเก็บเงิน การเดินทางไปให้ถึง ซึ่งในที่สุดพวกเขาก็ทำสำเร็จ ส่วนคำอธิษฐานตรงจุดหมายนั้น จะเป็นจริงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่า เด็กแต่ละคนจะดำเนินชีวิตไปตามความตั้งใจที่กำหนดไว้มากน้อยแค่ไหน

สำหรับในวาระปีใหม่ 2556 นี้ ก็เช่นกัน เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงมีโอกาสได้ประกอบบุญกุศล และคงได้อธิษฐานในเรื่องต่างๆเอาไว้ จึงหวังว่าบทความธรรมบันเทิงฉบับนี้จะมีส่วนช่วยให้ทุกท่าน “อธิษฐานตามหลักของพุทธศาสนา” เพื่อที่จะได้เกิดเป็นอธิษฐานบารมีและนำไปสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 145 มกราคม 2556 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)





กำลังโหลดความคิดเห็น