- ดัชนีความเชื่อมั่นฝรั่งเศสในเดือน พ.ค.ลดลงมาอยู่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 79 จุด จากเดือนก่อน 83 จุด เนื่องมาจากเศรษฐกิจถดถอย และการขึ้นภาษีทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง
- ดัชนีราคาบ้านของสหรัฐในเดือน มี.ค.เพิ่มขึ้น 10.87% จากปีก่อน เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 7 ปี จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่อยู่ในระดับต่ำ
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐในเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 ปีเป็น 76.2 จุด จาก 69 จุดในเดือนก่อน เนื่องจากราคาบ้านและดัชนีตลาดหุ้นสูงขึ้นจนส่งผลให้ฐานะการเงินของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น
- เศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ในไตรมาสแรกขยายตัวเพียง 0.9% ชะลอลงจาก 2.1% ในไตรมาสก่อนเพราะโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งหยุดซ่อมบำรุง ทำให้ผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวลง
- นายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจจะช่วยให้จีนมีการเติบโตที่ยั่งยืนมากขึ้น และการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับ 7.7% ถือเป็นระดับที่เหมาะสม
- รมช.การค้าของจีน เปิดเผยว่า การดำเนินการของสหภาพยุโรป (EU) เพื่อคุ้มครองการค้าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และจีนจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ทั้งนี้ จีนและ EU กำลังมีข้อพิพาททางการค้าเกี่ยวกับแผงรับแสงอาทิตย์ กับเครือข่ายโทรคมนาคมไร้สาย เนื่องจาก EU อาจมีมาตรการภาษีเพื่อตอบโต้การทุ่มตลาดของจีน
- ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเกาหลีใต้ในเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 97.2 จุด ลดลง 2.6 จุดจากเดือนก่อน หดตัวลง 3 เดือนติดต่อกันจากความกังวลในภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของไทยในเดือน เม.ย.ลดลง 3.84% จากปีก่อน และลดลง 18.69% จากเดือนก่อน ด้วยอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ 60.28% โดยดัชนีที่ลดลงเป็นผลมาจากวันหยุดจำนวนมากในเดือน เม.ย. และการชะลอการผลิตของผู้ประกอบการเพื่อรองรับการขาดแคลนไฟฟ้าจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงจ่ายก๊าซธรรมชาติของเมียนมาร์
- ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธปท. เตือนว่า ไทยต้องระมัดระวังความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจากมาตรการ QE ของสหรัฐและญี่ปุ่นให้มาก เพราะแม้แต่จีนยังได้รับผลกระทบจนเศรษฐกิจอ่อนแรงลง ทั้งนี้ เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐและญี่ปุ่นจะไม่ฟื้นตัวจากมาตรการ QE แต่ฟื้นตัวจากการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ที่สำคัญและผูกขาดตลาดได้ เช่น การค้นพบเชลแก๊สของสหรัฐ
- ผู้ว่าการ ธปท. ยืนยันว่า ไม่ได้รับแรงกดดันจากการเข้าร่วมประชุม ครม.วานนี้ และการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอยู่กับ กนง. ทั้งนี้ วานนี้ ครม.ได้เชิญหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเข้าชี้แจงตัวเลขเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกัน และถือเป็นครั้งแรกที่มีการเชิญ ธปท.ให้ร่วมประชุม
- ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นว่า กนง.ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมวันนี้ เพื่อช่วยให้อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพมากขึ้น และสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่ควรมีใช้มาตรการเสริมอื่นๆเข้ามาดูแลปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์
- SET Index ปิดที่ 1,619.57 จุด เพิ่มขึ้น 26.47 จุด หรือ +1.66% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 51,250.72 ล้านบาท เป็นการเคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาค ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารและอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากความคาดหวังต่อการประชุม กนง.ในวันนี้ว่าน่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
- จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า การปรับฐานของหุ้นไทยในช่วงนี้เป็นไปตามภูมิภาค จากการเคลื่อนไหวของเงินทุนต่างชาติที่กังวลเรื่องการถอนมาตรการ QE ของสหรัฐ ทำให้ตลาดหุ้นค่อนข้างผันผวน อย่างไรก็ตาม พื้นฐานตลาดหุ้นไทยในระยะกลางยังน่าลงทุน เพราะบริษัทจดทะเบียนสามารถทำกำไรได้ดีมาก และจากการที่ไทยอยู่ในภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็ว พร้อมทั้งตั้งเป้าที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีมาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนล้านเหรียญภายใน 3 ปี จาก 4.5-5 แสนล้านเหรียญในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้กลายเป็นตลาดหุ้นอันดับ 1 ของอาเซียน และเทียบเท่าตลาดหุ้นไต้หวัน
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้น 0.01% ถึง 0.03% โดยเป็นการปรับขึ้นในช่วงบ่ายหลังมีข่าวเกี่ยวกับความพร้อมของธปท.ในการดำเนินมาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้าในกรณีที่เงินบาทแข็งค่ามากเกินไป สำหรับวันนี้ไม่มีการประมูลพันธบัตร
- Marc Faber
“หนี้ที่น่าเกลียด น่าขยะแขยง คือหนี้ของประเทศที่เกิดจากระบบการปกครองด้วยวัตถุประสงค์ที่ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติหรือประชาชน หนี้อย่างนั้นควรเป็นหนี้ส่วนตัวของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ก่อหนี้ ไม่ใช่หนี้ของประเทศชาติหรือประชาชนโดยรวม
- Nouriel Rubini
“พันธบัตรรัฐบาลอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดๆ ของสหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น จะผลักดันให้ผู้ลงทุนแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่าในประเทศอื่นๆ
ตราบใดที่เศรษฐกิจโลกยังเติบโตเพียง 1.5%-2.0% และเรายังมีเงินสะพัดจากการอัดฉีดของรัฐบาล ตลาดก็จะยังไปได้สูงกว่านี้ แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้เชื่องช้ากับโดยมีอัตราการเติบโตของกำไรที่ชะลอตัวลงเพราะยอดขายกับกำไรไม่ได้ดีอย่างแต่ก่อน แต่ Margin จะสูง จะเกิดฟองสบู่ในราคาทรัพย์สินต่างๆ (เพราะมีต้นทุนกู้ยืมที่ต่ำตามอัตราดอกเบี้ย โดยกู้ได้ถูก แล้วเอา ไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ทำให้ราคาสินทรัพย์พุ่งขึ้นสูง)
แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะเกิดการปรับฐาน แล้วฟองสบู่ก็จะแตกภายใน 1-2 ปีข้างหน้า”