เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-เจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรี 2 รายของปากีสถาน ซึ่งรับผิดชอบด้านทรัพยากรน้ำและพลังงานของประเทศ แถลงยอมรับในวันจันทร์ (20) ระบุ ไม่มีหนทางใดที่ปากีสถานจะรอดพ้นจากวิกฤตด้านพลังงานได้ คาดประชาชนนับล้านในพื้นที่หลายส่วนของประเทศ จะต้องใช้ชีวิตท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัดถึง 40 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า โดยไม่มีไฟฟ้าใช้นานถึงวันละ 20 ชั่วโมง
รายงานข่าวระบุว่า มูซอดิก มาลิก และโซฮาอิล วาญาฮัต ซิดดิกี สองรัฐมนตรีที่รับผิดชอบนโยบายด้านทรัพยากรน้ำและการผลิตกระแสไฟฟ้าของรัฐบาลปากีสถานออกมายอมรับที่เมืองลาฮอร์ว่าปากีสถานไม่มีศักยภาพมากพอที่จะเอาชนะวิกฤตด้านพลังงานที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ไปได้ พร้อมยอมรับว่า พื้นที่หลายส่วนของประเทศอาจถูกตัดกระแสไฟฟ้านานถึงวันละ 20 ชั่วโมงไม่เว้นแม้แต่ในแคว้นปันจาบที่ได้ชื่อว่า “มั่งคั่งที่สุดของประเทศ” เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า แม้แนวทางดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนหลายล้านคนต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมาน ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัดถึง 40 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้น รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจต้องประกาศขึ้น “ค่าไฟ” ในเร็วๆนี้
ปัญหาการขาดแคลนพลังงานในปากีสถานกลายเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดการประท้วง และเกิดความรุนแรงตามพื้นที่ต่างๆของประเทศ และส่งผลให้มีการปลดแรงงานเรือนแสนออกจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งกลายเป็นข่าวร้ายซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ล้มเหลวและอัตราการว่างงานที่สูงลิ่วเป็นทุนเดิมของปากีสถาน
การออกมายอมรับของรัฐมนตรีทั้ง 2 ราย ถือเป็นการตอกย้ำความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการแก้ปัญหาวิกฤตขาดแคลนพลังงานของประเทศ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการที่ทางการไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจ่ายให้กับบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเพื่อเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงไม่สามารถชำระหนี้สินจำนวนมหาศาล ที่ภาครัฐติดค้างกับบริษัทพลังงานของเอกชนได้
ขณะเดียวกัน มีข้อมูลว่า กว่า 1 ใน 3 ของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ปากีสถานแต่ละปี ถูก “ขโมย” ออกไปใช้นอกระบบ ผ่านกระบวนการทุจริตของพวกนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ทั้งนี้ ปากีสถานมีขีดความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าในปัจจุบันได้ราววันละ 8,500 เมกะวัตต์ส แต่ปริมาณความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าของประเทศในขณะนี้มีสูงถึงราววันละ 13,000 เมกะวัตต์ส ขณะที่ราว 2 ใน 3 ของการผลิตกระแสไฟฟ้าในปากีสถานต้องพึ่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก
เมื่อปีที่แล้ว อินเดีย ประเทศเพื่อนบ้านของปากีสถานต้องเผชิญกับวิกฤตไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ หลังปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศพุ่งสูงเกินกว่าความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นเหตุให้ชาวอินเดียมากกว่า 680 ล้านคนต้องใช้ชีวิตอยู่ในความมืดนานหลายชั่วโมงต่อวัน