- คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจในรัฐสภายุโรปได้ลงคะแนนเสียงผ่านร่างกฎหมายที่ระบุว่า ผู้ฝากเงินรายใหญ่ในสหภาพยุโรปอาจจะต้องแบกรับความสูญเสียหากธนาคารพาณิชย์แห่งใดแห่งหนึ่งประสบปัญหาร้ายแรงนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นไป โดยธนาคารพาณิชย์จะสามารถหักเงินจากบัญชีเงินฝากที่มีวงเงินสูงกว่า 100,000 ยูโรได้ก็ต่อเมื่อธนาคารได้ใช้วิธีการอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาไปจนหมดแล้ว ซึ่งรวมถึงการใช้ผู้ถือหุ้นและผู้ถือหุ้นกู้ อย่างไรก็ดี เงินฝากที่มีวงเงินต่ำกว่า 100,000 ยูโรจะไม่ได้รับผลกระทบ
- ธนาคารกลางเยอรมนีคาดว่า เศรษฐกิจของเยอรมนีจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในยูโรโซน โดยกิจกรรมในภาคการก่อสร้างของเยอรมนีจะดีขึ้น จากการที่บริษัทต่างๆ จะเริ่มลงทุนในด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น
- ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของเยอรมนีในเดือนเม.ย. ลดลง 0.2% จากเดือนมี.ค. เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลงได้ผ่อนคลายแรงกดดันด้านราคาในระดับโรงงานของเยอรมนี แต่หากเทียบรายปีดัชนี PPI ขยับขึ้น 0.1% ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2550
- อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษในเดือนเม.ย. แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2555 มาอยู่ที่ 2.4% ต่อปีจากระดับ 2.8% ในเดือนมี.ค. และต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ 2.6% เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงได้ช่วยผ่อนคลายแรงกดดันด้านราคา อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางอังกฤษเตือนว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงเพียงในช่วงสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งบ่งชี้ว่า การขยายตัวที่อ่อนแรงด้านค่าจ้างและแนวโน้มราคาที่เพิ่มขึ้น จะยังคงเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอังกฤษที่เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น
- ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ เตรียมเจรจาสุดยอดกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเป็นครั้งแรกหลังชนะการเลือกตั้งสมัย 2 ที่เมืองตากอากาศปาล์มสปิง รัฐแคลิฟอร์เนีย ในระหว่างวันที่ 7 - 8 มิถุนายนนี้ โดยผู้นำทั้งสองจะหารือกันในหลายประเด็นทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระดับโลก รวมถึงทบทวนความสัมพันธ์ทวิภาคีตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
- นายริชาร์ด ฟิชเชอร์ ประธานเฟด สาขาดัลลัส ได้แสดงความเห็นว่า โอกาสที่เฟดจะปรับลดขนาด QE3 ลงเล็กน้อย หรือดำเนินโครงการนี้ในอัตราปัจจุบันต่อไป มีมากกว่าโอกาสในการปรับเพิ่มขนาด QE3
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ได้จัดการประชุมนโยบายการเงินเป็นเวลา 2 วัน (21-22 พ.ค.) โดยมีแนวโน้มว่าอาจจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มการประเมินเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากข้อมูลที่แข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการฟื้นตัวของการบริโภคและการส่งออก
- นายทาเกชิ มากิตะ หัวหน้าสถาบันวิจัยญี่ปุ่น กล่าวว่า ค่าเงินเยนที่ระดับ 95-100 เยน/ดอลลาร์จะเป็นสิ่งที่เหมาะสม ซึ่งการที่ดอลลาร์พุ่งขึ้นเหนือ 95 เยน น่าจะสร้างความเสียหายต่อปริมาณการบริโภคในญี่ปุ่น ผ่านทางค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันเบนซิน อย่างไรก็ดี ผลกระทบในทางลบดังกล่าวถูกบดบังด้วยความมั่งคั่งของผู้บริโภคที่ได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้น ขณะที่ผู้นำเข้าญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการที่ดอลลาร์พุ่งขึ้นเหนือ 100 เยน
- สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารที่มีปัญหาของเวียดนามลดลงเล็กน้อยในไตรมาสแรก โดยมีสัดส่วน 4.51% ซึ่งหนี้เสียเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามชะงักงัน ขณะที่ธนาคารของเวียดนามมีสัดส่วนหนี้เสียที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปล่อยเงินกู้แก่บริษัทของรัฐ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว
- ผู้ว่าการ ธปท. ยอมรับว่า GDP ไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 5.3% ต่ำกว่าคาดการณ์ของ ธปท. ซึ่งทาง ธปท. พร้อมจะผ่อนคลายนโยบายการเงินหากเศรษฐกิจในประเทศส่งสัญญาณการชะลอตัวอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลการอุปโภคบริโภคภายในประเทศมีความแตกต่างกันมากเป็นพิเศษระหว่างสภาพัฒน์กับ ธปท. ซึ่งตัวเลขของสภาพัฒน์ออกมาเติบโต 4.2% ต่ำกว่าการคาดการณ์ของธปท. ที่มองไว้ที่ 5.8% ค่อนข้างมาก ดังนั้น ธปท.จะวิเคราะห์ข้อมูลการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ต่ำดังกล่าวก่อน ว่าเกิดจากสาเหตุใด เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจก่อนการดำเนินนโยบายการเงิน
- เกิดไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด ตั้งแต่เวลา 18.52 น. ของวันอังคาร เนื่องจากเกิดความขัดข้องของสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นสายส่งหลักที่ส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้ ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ไม่เพียงพอ และเวลา 19.35 น. หลายพื้นที่ ใน จ.ระนอง สงขลา กระบี่ นครศรีธรรมราช กระแสไฟฟ้ากลับใช้งานได้ตามปกติ
- SET Index ปิดที่ 1,643.43 จุด เพิ่มขึ้น 0.03 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขาย 57,451.27 ล้านบาท โดยตลาดหุ้นไทยผันผวนในกรอบแคบ เคลื่อนไหวใกล้เคียงกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียที่แกว่งตัวบวกลบเล็กน้อย เนื่องจากตลาดกำลังรอถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสในเรื่องของเศรษฐกิจของสหรัฐในวันพุธนี้ และจับตาสัญญาณว่าจะเดินหน้ามาตรการ QE ต่อไปหรือไม่ ขณะที่ความคาดหวังต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และตลาดยังมีแรงขับเคลื่อนจากหุ้นที่มีการนำเข้าคำนวณดัชนี MSCI Global Standard และหุ้นในกลุ่มที่คาดว่าจะถูกนำไปคำนวณใน SET50 รอบใหม่ด้วย ช่วยประคองภาพรวมการลงทุน
- ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดบวก ที่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี 5 เดือน เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มที่ต้องพึ่งพาการส่งออก หลังจากสกุลเงินดอลลาร์ดีดตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน ขณะที่ ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดตลาดปรับตัวลดลง หลังจากที่โกลด์แมน แซคส์ ได้ขายหุ้นที่ถืออยู่ในอินดัสเทรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า (ICBC) เป็นมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงในช่วง -0.01% ถึง -0.03% ด้วยแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ จากการที่ตลาดยังคาดว่าอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่สภาพัฒน์ได้ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจปีนี้ลง สำหรับวันนี้มีประมูลพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี และ 20 ปี วงเงิน 20,000 ล้านบาท
- บมจ.โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ (GBX) ประเมินราคาทองคำในเดือนมิถุนายนว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 1,365-1,500 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ โดยราคาทองคำมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงต่อได้ ด้วยปัจจัยลบต่างๆ อาทิเช่น 1) ความไม่แน่นอนในเรื่องปริมาณและระยะเวลาของมาตรการ QE ของสหรัฐ 2) แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ 3) ตลาดหุ้นที่ภาวะการลงทุนยังสดใสต่อเนื่อง 4) การลดสถานะอย่างต่อเนื่องของกองทุน SPDR 5) แนวโน้มเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีการซื้อทองคำในปริมาณมาก ที่อาจจะขยายตัวขึ้นไม่มากตามคาด และ 6) การที่อินเดียพยายามลดปริมาณนำเข้าทองคำเพื่อลดการขาดดุลโดยวางมาตรการจำกัดการนำเข้าและขึ้นภาษีทองคำ