xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์จับตาสัญญาณเศรษฐกิจบ่งชี้ทิศทางตลาดหุ้นโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

          ในขณะที่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวลงในช่วง กลางปีนี้ นักลงทุนก็จะมองเห็นได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงไม่กี่วันข้างหน้าว่า  การชะลอตัวดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการกำหนดนโยบายและต่อตลาดการเงิน
          ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงในวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค. ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน เหตุการณ์เพียงไม่กี่ครั้งในปีนี้ ที่ตลาดการเงินที่เฟื่องฟูได้รับผลกระทบจากภาวะความเป็นจริงทางเศรษฐกิจที่ไม่สดใส
          เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแนวโน้มในเวลาต่อมา หลังจากนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณ ในสัปดาห์ที่แล้วว่า เฟดอาจจะปรับลดวงเงินในการเข้าซื้อตราสารหนี้รายเดือนในเร็วๆนี้ หลังจากมาตรการดังกล่าวส่งผลให้มีเม็ดเงินใหม่ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นเป็นจำนวนมาก
          ตลาดได้รับผลกระทบจากผลสำรวจภาคธุรกิจที่อ่อนแอในจีนด้วย โดยผลสำรวจดังกล่าวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังสูญเสียแรงหนุน ขณะที่จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐ
          ถึงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่จะมีการรายงานออกมาในสัปดาห์นี้ แทบไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นได้มากเท่ากับในวันที่ 23 พ.ค. แต่ตลาดก็กลับมาอยู่ภายใต้บรรยากาศของความวิตก กังวลอีกครั้งในระยะนี้
          นางลีนา โคมิเลวา ผู้อำนวยการบริษัทจีพลัส อิโคโนมิคส์ กล่าวว่า  "แรงหนุนพื้นฐานในเศรษฐกิจโลกขณะนี้ อยู่ในระดับที่อ่อนแอกว่าระดับที่ควรจะอยู่ในจุดนี้ของวัฏจักรเศรษฐกิจ หรือในเวลา 5 ปีหลังจากเกิด วิกฤติเศรษฐกิจโลก"
          "เรายังไม่เห็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่า เกิดวงจรป้อนกลับในทางบวกที่น่าเชื่อถือและดำเนินต่อไปได้ด้วยตัวเอง ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง และภาวะเงินเฟ้อของมูลค่าในตลาด"
          นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เคยตั้งความหวังในเดือนม.ค.ว่า ความเชื่อมั่นในตลาดจะส่งผลบวกไปถึงภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยเขาเรียกสิ่งนี้ว่า "การลุกลามในทางบวก" อย่างไรก็ดี  สิ่งที่เขาคาดหวังไว้อาจจะยังไม่กลายเป็นความจริงในขณะนี้
          เศรษฐกิจยูโรโซนยังไม่สามารถเติบโตขึ้นได้ในขณะนี้ เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศในยุโรปกำลังดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด
          ในวันพุธที่ 29 พ.ค. คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) จะเปิดเผยผลการทบทวนนโยบายลดหนี้ของประเทศต่างๆในยุโรป โดยผลการทบทวนนี้จะช่วยยืนยันว่า ฝรั่งเศส, สเปน และสโลเวเนียจะได้รับการต่อเวลาออกไป อีกหรือไม่ในการบรรลุเป้าหมายด้านการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณ
          องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) จะออกรายงานรอบครึ่งปีสำหรับประเทศเศรษฐกิจสำคัญของโลกในวันที่ 29 พ.ค. เช่นกัน หลังจาก OECD เคยระบุว่ากิจกรรมในเศรษฐกิจโลก "เพิ่มมากขึ้น"  ในรายงานประเมินระหว่างกาลในเดือนมี.ค.
          ปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเติบโตอย่างอ่อนแอ แต่ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะมีปัจจัยใดที่จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง
          ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ออกมาในสัปดาห์ที่แล้วแสดงให้เห็นว่า กิจกรรมภาคการผลิตในจีนปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ขณะที่ภาคการผลิตของสหรัฐเติบโตในอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2012
          นายแอนดรูว์ เคนนิงแฮม นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทแคปิตัล อิโคโนมิคส์  กล่าวว่า "ผลสำรวจเหล่านี้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจจีนอยู่ในภาวะเลวร้ายกว่าที่คาดเล็กน้อย และเศรษฐกิจยุโรปดีขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ผลสำรวจเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เราปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ที่ว่า เศรษฐกิจโลกจะยังคงเติบโตอย่างอ่อนแอ และอย่าง ไม่สมดุลสำหรับช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้"
          อย่างไรก็ดี นายเคนนิงแฮมตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจอังกฤษและญี่ปุ่นอยู่ในภาวะที่ดีกว่าที่คาดในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ดังนั้นเศรษฐกิจโลกอาจจะอยู่ ในภาวะที่แข็งแกร่งกว่าที่รายงานดัชนี PMI ในสัปดาห์ที่แล้ว่บ่งชี้ไว้ ขณะที่รายงาน PMI ในสัปดาห์ที่แล้วไม่ได้ครอบคลุมอังกฤษและญี่ปุ่น
          นับตั้งแต่ตลาดหุ้นดิ่งลงในวันพฤหัสบดีที่แล้ว นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็มีความเห็นตรงกันว่า ราคาสินทรัพย์เสี่ยงจะชะลอตัวลง แต่จะไม่ปรับฐานลงครั้งใหญ่
          ตลาดยุโรปมักจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จากความเปลี่ยนแปลง ของกระแสความเชื่อมั่นในตลาดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยอิตาลีจะจัดการประมูลพันธบัตรรัฐบาล 3 รายการในสัปดาห์นี้ และผลการประมูลดังกล่าว อาจบ่งชี้ได้ว่า นักลงทุนตั้งใจลงทุนในพันธบัตรมากเพียงใด
          อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสเปนปรับตัวขึ้นในการประมูลสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการดีดตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ส่วนการประมูลพันธบัตรอิตาลีจะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะการประมูลในสัปดาห์นี้ถือเป็นการประมูลครั้งแรกนับตั้งแต่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่า ธนาคารกลางจะไม่อัดฉีดเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบตลอดไป
          รัฐบาลสเปนและอิตาลีเคยได้รับประโยชน์เป็นอย่างมากจากต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลงในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เฟดและธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและญี่ปุ่นตามลำดับ
          เม็ดเงินจากเฟดและบีโอเจได้ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นด้วยเช่นกัน และการแทรกแซงตลาดของนายเบอร์นันเก้จะเป็นสิ่งที่กำหนดแนวโน้มใหม่ให้แก่ตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ในขณะที่ภาวะไม่แน่นอนใน ตลาดเพิ่มสูงขึ้น
          ดัชนีความผันผวนของ Euro STOXX 50 พุ่งขึ้น 13 % สู่จุดสูงสุดรอบ 3 สัปดาห์ในวันพฤหัสบดีที่แล้ว โดยดัชนีนี้ใช้วัดว่า นักลงทุนต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในยูโรโซนมากเพียงใด
          นายกาย ฟอสเตอร์ จากบริษัทเบรวิน ดอลฟิน กล่าวว่า "เรายังคงคาดการณ์ในทางบวกต่อตลาดหุ้นโดยรวม แต่ตลาดหุ้นอาจจะสูญเสียแรงหนุนไปบ้างแล้ว เนื่องจากตลาดต้องกังวลกับการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ"
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น