xs
xsm
sm
md
lg

ประธานธ.กลางยุโรปส่งสัญญาณพร้อมลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

          นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งสัญญาณว่าอีซีบีจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนหน้า โดยเขากล่าวว่า อีซีบี "พร้อมที่จะดำเนินมาตรการ" เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซนที่ตกอยู่ในภาวะถดถอย
          นายดรากีกล่าวในการแถลงข่าวว่า การหารือกันในการประชุมอีซีบี ประจำเดือนเม.ย.ครอบคลุมประเด็นในวงกว้าง และมติของที่ประชุมคือ การคงนโยบายการเงินไว้ตามเดิม โดยอีซีบีประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75 % แต่อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถือเป็น อัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดาธนาคารกลางของประเทศสำคัญ แห่งอื่นๆ
          นายดรากีกล่าวเสริมว่า อีซีบีกำลังศึกษาภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ อย่างใกล้ชิด เพราะยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะฟื้นตัวขึ้น
          นายดรากีกล่าวว่า "ในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ เราจะจับตาอย่างใกล้ชิดต่อข้อมูลเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเงิน และจะประเมินผลกระทบต่อแนวโน้มของเสถียรภาพราคา" 
          ทั้งนี้ ในช่วงที่นายฌอง-คล็อด ทริเชต์ดำรงตำแหน่งประธานอีซีบีนั้น นายทริเชต์มักจะใช้วลีบางวลีเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการปรับนโยบายการเงินในอนาคต โดยหนึ่งในวลีที่ นายทริเชต์มักจะใช้คือ   "จับตาอย่างใกล้ชิด" เพื่อเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า อีซีบีจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอีก 2 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ดี นายดรากีไม่เคยใช้วิธีการส่งสัญญาณแบบเดียวกับนายทริเชต์ในช่วงก่อนหน้านี้
          ขณะเดียวกัน นายดรากียังเปิดโอกาสสำหรับอีซีบีในการดำเนิน "มาตรการแบบพิเศษ" ด้วย โดยมาตรการแบบพิเศษนี้ คือมาตรการอื่นๆนอกเหนือจากมาตรการมาตรฐาน (การปรับอัตราดอกเบี้ย) และมาตรการแบบพิเศษนี้ครอบคลุมถึงมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล และมาตรการจัดสรรเงินทุน เช่น การปล่อยกู้ระยะ 3 ปีแก่ธนาคารพาณิชย์ที่อีซีบีเคยประกาศใช้เมื่อราวหนึ่งปีก่อน
          นายดรากีกล่าวว่า "เรากำลังพิจารณาทั้งมาตรการมาตรฐาน และมาตรการแบบพิเศษ และเรากำลังพิจารณามาตรการแบบพิเศษอย่างรอบด้าน"
          ราคาสัญญาล่วงหน้าของพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีและสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยยูโรโซนปรับตัวขึ้นต่อไป ในขณะที่นักลงทุนกล่าวว่า ถ้อยแถลงของนายดรากีเป็นการปูทางไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
          นางแอนนาลิซา พิอาซซา จากบริษัทนิวเอดจ์ สเตรเทจี กล่าวว่า  "เราสามารถกล่าวสรุปได้ว่า อีซีบีมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือ มีโอกาสดำเนินมาตรการแบบพิเศษเพิ่มเติมในเดือนพ.ค."
          อีซีบีมีหน้าที่ในการทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่าระดับ 2 % เล็กน้อย โดยอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนร่วงลงสู่ 1.7 % ในเดือน มี.ค. ส่วนนายดรากีกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อ "กำลังขยับลง และอยู่ต่ำกว่าระดับ 2 % เป็นอย่างมาก"
          ผลสำรวจที่ออกมาเมื่อวานนี้แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะตกต่ำต่อไปในเดือนมี.ค. โดยกิจกรรมทางธุรกิจในฝรั่งเศสดิ่งลงอย่างรุนแรง และร่วงลงในอัตราที่รุนแรงกว่าในสเปนและอิตาลี
          นายดรากีกล่าวว่า "กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอต่อไปในช่วงต้นปีนี้ โดยเป็นที่คาดกันว่าเศรษฐกิจอาจฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลัง และการคาดการณ์นี้เผชิญกับความเสี่ยงช่วงขาลง"
          อีซีบีดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยกว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น  (บีโอเจ), ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในช่วงที่ผ่านมา โดยธนาคารกลาง 3 แห่งหลังนี้ดำเนินมาตรการเข้าซื้อ สินทรัพย์ขนาดใหญ่โดยใช้เงินใหม่ และปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ ใกล้ 0 %
          นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจ สร้างความประหลาดใจ ต่อตลาดเมื่อวานนี้ เมื่อเขาประกาศยกเครื่องการกำหนดนโยบายการเงิน ครั้งใหญ่ โดยเขาประกาศใช้เป้าหมายใหม่ด้านงบดุลบัญชี และให้สัญญา ว่าจะเพิ่มปริมาณการถือครองพันธบัตรรัฐบาลขึ้นเป็น 2 ภายในเวลา 2 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยุติภาวะเงินฝืดที่ดำเนินมานานเกือบ 20 ปี ในญี่ปุ่น
          ญี่ปุ่นพยายามหนุนอัตราเงินเฟ้อให้พุ่งสูงขึ้นในช่วงนี้ และมาตรการที่ญี่ปุ่นประกาศใช้ในครั้งนี้ก็กดดันเยนให้อ่อนค่าลง และกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปี ให้ร่วงลงแตะจุดต่ำสุด  รอบ 10 ปี
          หลายประเทศแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายของบางประเทศ ที่ส่งผลให้สกุลเงินของประเทศตนเองอ่อนค่าลง โดยมีความกังวลกันว่า อาจจะเกิดการแข่งขันกันในการจำกัดค่าเงินของประเทศตนเอง
          อีซีบีไม่มีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการกดดันยูโรให้อ่อนค่าลง ถึงแม้ว่าการแข็งค่าของยูโรอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจยูโรโซนก็ตาม
          นายดรากีกล่าวว่า "อัตราแลกเปลี่ยนของเราไม่ใช่เป้าหมายในการกำหนดนโยบาย โดยอัตราแลกเปลี่ยนของเราเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียภาพของราคา"
          นายโวล์ฟกัง ชอยเบล รมว.คลังเยอรมนี กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นไม่สามารถพึ่งพามาตรการของบีโอเจได้เพียงอย่างเดียวในการกระตุ้นเศรษฐกิจ  และกล่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างด้วย
          ในช่วงต้นสัปดาห์นี้ นายเบนัวท์ โคเออเร สมาชิกคณะกรรมการ บริหารอีซีบี กล่าวเตือนว่า ประเทศต่างๆไม่ควรแข่งขันกันในการปรับลดค่าเงินของตนเองลงโดยตรง โดยเฉพาะในช่วงที่ธนาคารกลางของประเทศ
อื่นๆมีโอกาสอันจำกัดในการปรับเปลี่ยนนโยบาย
          หลังจากเศรษฐกิจยูโรโซนเคยแสดงสัญญาณเข้าสู่เสถียรภาพในช่วง ต้นปีนี้ เศรษฐกิจก็ได้รับแรงกดดันในเดือนมี.ค. เมื่อไซปรัสเกือบประสบ ภาวะล่มสลายทางการเงิน และอิตาลีเผชิญกับภาวะทางตันทางการเมืองหลัง
การเลือกตั้ง
          ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนร่วงลงหลังจากปรับตัว ขึ้นมานานติดต่อกัน 4 เดือน และภาคการผลิตทั่วยูโรโซนตกต่ำลงอย่าง รุนแรงยิ่งขึ้น
         อีซีบีกังวลว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำของอีซีบียังไม่ได้ส่งผลบวกไปถึงภาคครัวเรือนและภาคเอกชนในประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอในยูโรโซน เนื่องจากต้นทุนการระดมทุนของธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอ อยู่ในระดับที่สูงกว่าในประเทศเศรษฐกิจสำคัญในยูโรโซน
          ปัจจัยนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เนื่องจากธุรกิจประเภทนี้มีทางเลือกไม่มากนักในการระดมทุนจากแหล่ง อื่นๆนอกเหนือจากธนาคาร
          อย่างไรก็ดี นายดรากีกล่าวย้ำว่า ภาระหน้าที่ของอีซีบีเป็นปัจจัยที่จำกัดความสามารถของอีซีบีในการช่วยให้ SME ได้รับผลบวกจากอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำของอีซีบี และเขากล่าวเสริมว่า อีซีบีกำลัง พิจารณาหนทางต่างๆในการช่วยเหลือ SME แต่รัฐบาลและธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรปก็สามารถให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้เช่นกัน
        นายดรากีกล่าวย้ำว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อ  ไซปรัสที่สร้างความเสียหายต่อผู้ฝากเงินรายใหญ่นั้น ไม่ได้ถือเป็น แม่แบบสำหรับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อประเทศอื่นๆ ในอนาคต
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น