xs
xsm
sm
md
lg

ประธานาธิบดีจีนวางแผนปฏิรูปครั้งใหญ่ ขณะหลีกเลี่ยงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้เข้าควบคุมการร่างแผนการปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจีน โดยปธน.สีหลีกเลี่ยงการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเกรงว่ามาตรการดังกล่าวจะ ส่งผลให้ปัญหาหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นเลวร้ายลงไปอีก และจะทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงขึ้นด้วย
          แหล่งข่าวกล่าวว่า ผู้นำระดับสูงของจีนได้บรรลุความเห็นตรงกันว่า การปฏิรูปเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนมีสถานะที่ยั่งยืน โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอยู่ที่ 7.8 % ในปี 2012 ซึ่งเป็น ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1999 หรือระดับต่ำสุดในรอบ 13 ปี ถึงแม้ว่า ระดับ 7.8 % นี้ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แห่งอื่นๆ
          แหล่งข่าวกล่าวว่า ปธน.สีจะนำเสนอแผนการปฏิรูปนี้ในการประชุมครั้งสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงต่อไปในปีนี้ และแผนปฏิรูปนี้จะเป็นการกำหนดแนวทางสำหรับช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นสัญญาณ บ่งชี้ว่า ปธน.สีมีความจริงจังเป็นอย่างมากในการผลักดันความคืบหน้าในเรื่องนี้  
         แหล่งข่าวกล่าวเตือนว่า แผนปฏิรูปนี้อาจเผชิญกับเสียงต่อต้านจากกลุ่มผลประโยชน์ โดยเฉพาะบริษัทของรัฐบาล
          มาตรการปฏิรูปนี้จะส่งผลให้มีการเปิดเสรีอัตราดอกเบี้ย และการปฏิรูประบบการคลังของรัฐบาลระดับท้องถิ่น เพื่อเป็นการรับประกันว่า รัฐบาลท้องถิ่นจะมีรายได้ด้านภาษีไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แทนที่จะต้องพึ่งพาการขายที่ดินในการระดมทุน
          มาตรการปฏิรูปนี้จะส่งผลให้มีการผ่อนคลายระบบการจดทะเบียนผู้พำนักอาศัย (hukou) ที่มีความเคร่งครัดมากในจีนด้วย หลังจากระบบนี้ทำให้ประชาชนจีนไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานได้ ถ้าหากประชาชนดังกล่าวอยู่นอกเขตพำนักอาศัยอย่างเป็นทางการของตนเอง
          นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งกล่าวว่า "มีการจัดตั้งทีมงานระดับสูงขึ้นชุดหนึ่งเพื่อร่างแผนการปฏิรูปสำหรับใช้ในการประชุมพรรค โดยประธานาธิบดีสีเข้าควบคุมเรื่องนี้ด้วยตนเอง ซึ่งเขาต้องการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง"
          ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนไม่มีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หลังจากนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีนกล่าวในวันพุธว่า มีโอกาสอันจำกัดในการนำงบรายจ่ายของรัฐบาลมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
          นายซี เสี่ยวหมิน รองประธานสมาคมการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของรัฐบาล กล่าวว่า "รูปแบบเศรษฐกิจจีนได้มาถึงจุดที่จำเป็น ต้องมีการปฏิรูปแล้ว ถึงแม้ว่าการปฏิรูปเป็นสิ่งที่ง่ายที่จะพูดถึงมากกว่าจะทำกันจริงๆ"
          "ประธานาธิบดีสีและนายกรัฐมนตรีหลี่ส่งสัญญาณของภาวะวิกฤติออกมามากกว่าผู้นำจีนคนก่อนๆ"
          ปธน.สีและนายกรัฐมนตรีหลี่ได้เข้ารับตำแหน่งในเดือนมี.ค.ปีนี้ ขณะที่จีนเปลี่ยนตัวผู้นำทุกๆ 10 ปี
          นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า คณะผู้บริหารชุดก่อนของจีนที่อยู่ภายใต้ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า สร้างความล่าช้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจ และประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนวงเงิน 4 ล้านล้านหยวน (6.50 แสนล้านดอลลาร์) ในปี 2008 โดยมาตรการดังกล่าวช่วยให้จีนไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกในปีดังกล่าว แต่ส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นของจีนมีหนี้สินจำนวนมาก และราคาบ้านพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
          ในทางตรงกันข้าม ปธน.สีและนายกรัฐมนตรีหลี่มีแนวโน้มที่จะดำเนิน มาตรการปฏิรูป แทนที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
          นายหวัง จุน นักเศรษฐศาสตร์ของศูนย์การแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจระหว่าง ประเทศของจีน (CCIEE) กล่าวว่า "ประธานาธิบดีสีและนายกรัฐมนตรีหลี่  มีความกระตือรือร้นมากกว่าผู้นำชุดก่อน ในการแก้ไขปัญหาระยะยาวโดยผ่านทางมาตรการปฏิรูป เพราะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง"
          ปัญหาเชิงโครงสร้างปรากฏชัดยิ่งขึ้นในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจจีนเติบโตเพียง 7.7 % ในไตรมาสแรก เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวลงจากระดับ 7.9 % ใน ไตรมาส 4 ของปี 2012 นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอต่อไป  ในเดือนเม.ย.ด้วย ถึงแม้สินเชื่ออยู่ในภาวะเฟื่องฟู
          การเปิดเสรีอัตราดอกเบี้ยจะช่วยจำกัดธุรกิจธนาคารเงาที่กำลังได้รับความนิยมสูงในจีน โดยธุรกิจธนาคารเงาคือผู้ปล่อยกู้ที่อยู่นอกภาคธนาคาร ซึ่งการที่รัฐบาลจีนควบคุมอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้ชาวจีนจำนวนมากหันไปลงทุนในทางเลือกอื่นๆที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ บริษัทของรัฐบาลจีนก็ได้รับ อภิสิทธิ์ในการขอกู้เงินด้วย และสิ่งนี้สร้างความเสียหายต่อบริษัทเอกชนที่ประสบภาวะขาดแคลนเงินสด
          การปฏิรูปที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดคือการปฏิรูประบบการคลังของรัฐบาล ท้องถิ่น เพราะรัฐบาลกลางของจีนหวังที่จะพึ่งพาโครงการขยายตัวเมืองในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยผ่านทางการส่งเสริมกำลังซื้อของคนงานชาวชนบท
          จีนวางแผนที่จะใช้เงิน 40 ล้านล้านหยวนในการนำประชาชน 400 ล้านคนเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ในช่วง 10 ปีข้างหน้า แต่รัฐบาลท้องถิ่นไม่มีรายได้ด้านภาษีที่สม่ำเสมอที่จะนำมาใช้ค้ำประกันการออกพันธบัตร โดยพันธบัตรประเภทนี้ เป็นสิ่งที่นำมาใช้เป็นทุนในการดำเนินโครงการตัดถนน, สร้างอพาร์ทเมนท์ และโครงการสาธารณูปโภคอื่นๆ ขณะที่ธนาคารกลางของจีนจะไม่กู้เงินจากธนาคารเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการประเภทนี้
          โครงสร้างภาษีของจีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี  1994 โดยภายใต้โครงสร้างนี้ รัฐบาลกลางของจีนเป็นผู้ที่ได้รับส่วนแบ่ง ใหญ่จากรายได้ด้านภาษี ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นต้องแบกรับค่าใช้จ่าย ส่วนใหญ่ และส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นต้องหันไปพึ่งพาการขายที่ดินเพื่อความอยู่รอดของตนเอง 
            นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า การปฏิรูประบบ hukou จะส่งผลให้คนงานอพยพจำนวนหลายล้านคนกลายมาเป็นผู้บริโภค ถ้าหากคนงานกลุ่มนี้มีช่องทางเข้าถึงสวัสดิการสังคมนอกภูมิภาคของตนเอง
          ฟิทช์ ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศประเมินว่า หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นมีขนาด 12.85 ล้านล้านหยวน ในช่วงสิ้นปี 2012 หรือราว 25 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน ประเทศ (จีดีพี) โดยพุ่งขึ้นจากระดับ 10.7 ล้านล้านหยวนในช่วง สิ้นปี 2010
          แผนปฏิรูปนี้จะได้รับการนำเสนอในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 18 โดยคาดกันว่า การประชุมนี้จะมีขึ้นในเดือนต.ค.
          นักเศรษฐศาสตร์หลายรายระบุว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับจีน ถ้าหากจีนต้องการจะหลีกเลี่ยงจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยกับดักนี้คือการที่ระดับความมั่งคั่งเข้าสู่ภาวะชะงักงัน ในขณะที่จีนสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปให้แก่ประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า และจีนไม่สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้
          การประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 เคยเป็นการประุชุมที่เป็นต้นกำเนิดของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในจีนในอดีต โดยนายเติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำจีน เคยประกาศการปฏิรูปครั้งประวัติศาสตร์ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดที่ 11 ในปี 1978 โดยมีจุด ประสงค์เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจจีนจากภาวะล่มสลาย หลังจากเกิดการปฏิวัติ วัฒนธรรมที่สร้างความเสียหายเป็นอย่างมากในจีน
          การประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดที่ 14 ในปี 1993 ส่งผลให้มีการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบตลาด "สังคมนิยม" ซึ่งปูทางไปสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่ที่มีนายจู หรงจี อดีตนายกรัฐมนตรีจีนเป็นแกนนำ
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thamasak
กำลังโหลดความคิดเห็น