xs
xsm
sm
md
lg

‘คนงานอพยพชาวจีน’ในสิงคโปร์สไตรก์นัดหยุดงาน (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เมกาวาตี วิจายา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Migrants’ woes on display in Singapore
By Megawati Wijaya
12/12/2012

การสไตรก์นัดหยุดงานของคนงานอพยพชาวจีนในสิงคโปร์เมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ชะตากรรมของพวกเขาในนครรัฐอันมั่งคั่งร่ำรวยแห่งนี้ ได้เป็นที่รับรู้และเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น หลังจากที่มักไม่ค่อยได้รับความสนใจนำเสนอสู่สายตาสู่โลกภายนอก ถึงแม้กฎหมายที่บังคับใช้กันอย่างเข้มงวดของสิงคโปร์ ยังคงเป็นตัวจำกัดกีดกั้นความสามารถของพวกเขาที่จะทำการประท้วงโดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกตอบโต้คิดบัญชีแก้เผ็ด แต่กระนั้นข้อพิพาทช่วงสั้นๆ ที่เกิดขึ้นคราวนี้ ก็ทำให้รัฐบาลต้องเร่งมีปฏิบัติการในทางบวกบางอย่างบางประการ

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ทุกวันนี้ เมื่อพิจารณาจากเกณฑ์ต่างๆ จำนวนมากแล้ว สิงคโปร์คือหนึ่งในประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดในโลก แต่ขณะเดียวกันค่าจ้างโดยเฉลี่ยของนครรัฐแห่งนี้กลับยังคงอยู่ในหมู่ประเทศที่อยู่ในระดับต่ำที่สุด ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศเฉลี่ยต่อประชากรแต่ละคนของสิงคโปร์เมื่อปี 2010 นั้น อยู่ในระดับเท่ากับ 70,000 ดอลลาร์ทีเดียว ทั้งนี้ตามรายงาน “เดอะ เวลธ์ รีพอร์ต 2012” (The Wealth Report 2012) อันเป็นการศึกษาวิจัยเรื่องทรัพย์สินและความมั่งคั่งร่ำรวยของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งรวบรวมจัดทำโดย ไนต์ แฟรงก์ (Knight Frank) และ ซิตี้ ไพรเวต แบงก์ (Citi Private Bank) ทว่าในเรื่องค่าจ้างแล้ว นครรัฐแห่งนี้กลับอยู่ในภาวะล้าหลังอย่างมาก ดังเห็นตัวอย่างได้จากกรณีของคนขับรถโดยสารที่เป็นผู้อพยพชาวจีนผู้ประสบความเดือดร้อนเหล่านี้

ในขณะที่คนงานอพยพมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับความสำเร็จทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ แต่พวกเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของรัฐกลับกำลังล้าหลังถูกทิ้งห่างเอาไว้ไกลลิบ ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิผลประโยชน์ของคนงานเหล่านี้ พวกนักเคลื่อนไหวแรงงานระบุเอาไว้เช่นนี้ พร้อมกันนั้นพวกเขายังเน้นย้ำเป็นพิเศษในข้อเท็จจริงที่ว่า ปัจจุบันบรรดานายจ้างในสิงคโปร์สามารถที่จะส่งคนงานอพยพกลับประเทศไปเมื่อใดก็ได้ตลอดช่วงเวลาของการทำสัญญาว่าจ้างงาน โดยที่ไม่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงกำลังแรงงานได้ออกเอกสารแถลงข่าวฉบับหนึ่งซึ่งบอกว่า ในกรณีการบอกเลิกการจ้างงานนั้น นายจ้างจะต้องแจ้งให้คนงานทราบภายในระยะเวลาตามที่ระบุเอาไว้ในสัญญาว่าจ้าง หรือหากไม่มีการระบุเอาไว้ในสัญญา ก็จะต้องทำตามข้อกำหนดของรัฐบัญญัติการจ้างงาน (Employment Act) แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว คนงานจำนวนมากถูกปกปิดไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลยจนกระทั่งเหลือเวลาไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่พวกเขาจะถูกส่งตัวกลับประเทศ องค์การ TWC2 ได้รวบรวมข้อมูลของกรณีร้องเรียนจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนงานอพยพทราบเรื่องการถูกเนรเทศกลับบ้านของพวกเขาในตอนที่พวกเขากำลังอยู่ระหว่างเดินทางไปยังสนามบินแล้ว

“นี่เองที่เป็นเหตุผลอธิบายว่าทำไมการเนรเทศคนขับรถชาวจีน 29 คนกลับบ้าน จึงมีผลชะงัดนักในการหยุดยั้งการประท้วงนัดหยุดงานคราวนี้ รัฐบาลกำลังเชือดคอไก่ให้ลิงดูนั่นแหละ” สินาปัน ซามีโดไร (Sinapan Samydorai)ผู้อำนวยการฝ่ายสมาคมอาเซียน ของ “ธิงค์ เซนเตอร์” (Think Centre) กลุ่มประชาสังคมในสิงคโปร์ กล่าวโดยอ้างอิงคำพังเพยของจีน “คนขับรถเหล่านี้ได้ทำการร้องเรียนมาเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว ทว่าฝ่ายบริหารของบริษัทไม่ยอมไม่ทำอะไรทั้งนั้น” ซามีโดไร พูดต่อ กลุ่มของเขาทำหน้าที่ช่วยเหลือคนงานในกรณีต่างๆ หลากหลายตั้งแต่การไม่ได้รับค่าจ้าง ไปจนถึงเรื่องการค้ามนุษย์

**แทบไม่ได้รับความคุ้มครองอะไรเลย**

ความหวาดกลัวที่ว่าพวกเขาจะถูกตอบโต้คิดบัญชีแก้เผ็ด กลายเป็นตัวหักห้ามยับยั้งผู้อพยพจำนวนมากที่ถูกกดขี่ขูดรีด ผู้สื่อข่าวจากฮ่องกงคนหนึ่งซึ่งได้รับมอบหมายให้ติดตามทำข่าวเรื่องการสไตรก์ของคนขับรถโดยสาร ได้เล่าในเวทีประชุมว่าด้วยประเด็นปัญหานี้ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ว่า คนขับรถชาวจีนคนหนึ่งได้ส่งกระดาษเขียนข้อความแผ่นเล็กๆ มาถึงเธอ โดยมีเนื้อความว่า ไม่มีคนงานคนไหนกล้าที่จะพูดประเด็นปัญหาอะไรทั้งหลายให้สื่อมวลชนฟังหรอก เนื่องจากหวาดกลัวว่าจะถูกเนรเทศส่งตัวกลับบ้าน ขณะที่สื่อมวลชนท้องถิ่นของสิงคโปร์เองก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลครอบงำของรัฐบาลที่นำโดยพรรคกิจประชา (People's Action Party หรือ PAP)

แหล่งข่าวหลายรายทีเดียวระบุว่า ปัญหาใหญ่ที่คนงานอพยพถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่บ่อยครั้งอีกประการหนึ่ง ได้แก่การไม่จ่ายค่าจ้าง โดยพวกนายจ้างมักใช้ประโยชน์จากการที่คนงานตกอยู่ในภาวะจำยอมไม่สามารถพึ่งพาใครได้ มาดำเนินการล่วงละเมิดพวกเขาด้วยการไม่จ่ายเงินตามกำหนดเวลาหรือไม่จ่ายให้ครบถ้วนเต็มจำนวน แหล่งข่าวเหล่านี้ชี้ว่า กระทรวงกำลังแรงงานนั้นมีการออกมาแถลงสนับสนุนให้คนงานนำกรณีแบบนี้ไปร้องเรียนเพื่อที่จะได้เข้าไปช่วยเหลือแก้ไข ทว่าในทางเป็นจริงแล้ว คนงานอพยพจำนวนมากไม่เคยได้รับเอกสารแจ้งการจ่ายค่าจ้างจากนายจ้าง หรือกระทั่งไม่ได้มีการทำสัญญาว่าจ้างกันอย่างถูกต้องด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องลำบากอย่างยิ่งสำหรับพวกเขาที่จะติดตามดำเนินการทางกฎหมายในกรณีที่พวกเขาถูกละเมิด

จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งก็คือ พวกคนขับรถที่เป็นชาวจีนอพยพซึ่งทำงานอยู่กับเอสเอ็มอาร์ทีเหล่านี้ ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานแห่งหนึ่งแห่งเดียวของสิงคโปร์ ซึ่งมีชื่อว่า สภาสหภาพแรงงานแห่งชาติ (National Trades Union Congress หรือ NTUC) ระบบแรงงานสัมพันธ์ของสิงคโปร์นั้นมีจุดเด่นในเรื่องการเน้นหนักความสัมพันธ์แบบไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายสหภาพแรงงาน, ฝ่ายนายจ้าง, และฝ่ายรัฐบาล โดยหลักการแล้ว ทั้ง 3 ฝ่ายจะทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิดเพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ในทางพฤตินัยแล้ว เอ็นทียูซีมักถูกมองว่าไปเข้าข้างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายนายจ้าง แทนที่จะเป็นปากเสียงให้พวกลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อน

ภายหลังเกิดเหตุการณ์การนัดหยุดงานของคนขับรถชาวจีนอพยพ สภาแรงงานเอ็นทียูซีได้รีบออกคำแถลงฉบับหนึ่งระบุว่า สนับสนุนการปฏิบัติการของฝ่ายรัฐบาลต่อ “การสไตรก์อย่างผิดกฎหมาย” ของพวกคนขับรถโดยสารของเอสเอ็มอาร์ที คำแถลงของเอ็นทียูซียังระบุด้วยว่า ตนไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะเข้าเป็นตัวแทนของคนงานที่ได้รับความเดือดร้อนเหล่านี้

“เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องส่งสัญญาณถึงคนงานทั้งหลายทั้งปวงอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนว่า ในฐานะที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่ใช้หลักนิติธรรมและนิติรัฐ จึงมีหนทางต่างๆ อันเหมาะสมและถูกต้องอยู่แล้วในการจัดการกับประเด็นปัญหาต่างๆ ตลอดจนความขัดแย้งทั้งหลาย” เอ็นทียูซีระบุในคำแถลง และกล่าวต่อไปว่า “การกระทำใดๆ ที่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย จะต้องถูกจัดการอย่างหนักแน่นจริงจัง โดยไม่มีการคำนึงว่าคนงานผู้กระทำความผิดเป็นคนท้องถิ่นหรือคนต่างชาติ เรามีระบบที่ใช้การได้อยู่แล้วในการจัดการกับประเด็นปัญหาต่างๆ ในที่ทำงาน ตลอดจนความเดือดร้อนทั้งหลายในที่ทำงาน มันเป็นระบบที่ต้องใช้ความอุตสาหะพยายามเป็นแรมปีในการสร้างขึ้นมา และก็สามารถรับใช้พวกเราได้เป็นอย่างดี ดังนั้น สิ่งนี้จักต้องดำเนินต่อไป”

ถึงแม้การสไตรก์นัดหยุดงานของคนงานอพยพชาวจีนจะดำเนินไปเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่มันก็ทำให้เกิดความตระหนักเกี่ยวกับชะตากรรมของคนงานอพยพผู้ถูกกดขี่ขูดรีดจำนวนมากในสิงคโปร์

กระทรวงกำลังแรงงานได้ดำเนินการสอบสอบเหตุการณ์คราวนี้ในทันที และมีข้อสรุปว่าการดูแลรักษาหอพักของพวกคนขับรถอยู่ใน “ระดับต่ำกว่ามาตรฐาน” จริงๆ และเป็นความจริงที่คนขับรถซึ่งทำงานกันคนละกะมักจะต้องนอนในห้องเดียวกัน ทำให้เป็นเรื่องลำบากที่คนงานจะได้พักผ่อนอะไรจริงจัง นอกจากนั้นการสอบสวนยังตำหนิวิจารณ์เอสเอ็มอาร์ทีว่า สามารถทำอะไรให้ดีขึ้นกว่านี้อีกมากในการแก้ไขความเดือดร้อนและความวิตกกังวลของฝ่ายแรงงาน

เหล่านักเคลื่อนไหวด้านแรงงานคาดหวังว่า กระทรวงกำลังแรงงานจะให้ความใส่ใจกับเรื่องน่าเป็นห่วงเหล่านี้กันมากขึ้นในอนาคต สืบเนื่องจากปัญหาพวกนี้มีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดภาพลักษณ์อันเลวร้ายในระดับระหว่างประเทศ ตลอดจนก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพภายในประเทศ

ในส่วนของพวกนักเคลื่อนไหวที่ทำงานในหมู่คนงานอพยพก็ยอมรับกันว่า ในช่วงหลังๆ มานี้ ทางกระทรวงได้ปรับปรุงเรื่องช่องทางการสื่อสารให้ทะมัดทะแมงยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถตอบสนองการร้องเรียนของฝ่ายแรงงาน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กระทรวงยังได้ริเริ่มผลักดันแก้ไขรัฐบัญญัติการว่าจ้างกำลังแรงงานต่างประเทศ (Employment of Foreign Manpower Act) ตามที่พวกนักเคลื่อนไหวทำการเรียกร้อง เพื่อให้มีการใช้กฎหมายลงโทษเล่นงานพวกนายจ้างที่ถูกตรวจพบว่าทำการกดขี่ขูดรีดคนงานอพยพ ด้วยความแข็งขันจริงจังยิ่งขึ้น

ข้อแก้ไขเหล่านี้ ซึ่งผ่านการลงมติของรัฐสภาแล้ว มีดังเช่น การเพิ่มโทษกรณีการละเมิดกฎหมายในหลายๆ ประเด็น, การเปลี่ยนลักษณะความผิดในหลายๆ เรื่องจากที่เคยถือเป็นคดีอาญาให้กลายเป็นคดีปกครอง เพื่อที่จะสามารถลงโทษนายจ้างที่กระทำผิดได้ด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น, นอกจากนั้นยังให้มีการแต่งตั้งกรรมาธิการตรวจการณ์ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่บังคับใช้ระเบียบกฎหมายของกระทรวงอย่างเข้มงวดกวดขันมากขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม โก๊ะ เม่งเส็ง (Goh Meng Seng) อดีตเลขาธิการพรรคสมานฉันท์แห่งชาติ (National Solidarity Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน บอกว่า เรื่องที่มีความสำคัญยิ่งกว่านี้ในประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิของคนงานอพยพนี้ ยังคงก้าวคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้ายิ่ง เนื่องจากนักการเมืองจำนวนมากมองไม่เห็นประโยชน์ทางการเมืองที่จะได้รับจากการแสดงตัวเป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองสิทธิของคนงานอพยพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสิงคโปร์เวลานี้กำลังเอนเอียงไปในทางการต่อต้านคนต่างชาติด้วยซ้ำ ดังที่มองเห็นได้จากผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้ว

เมกาวาตี วิจายา เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในสิงคโปร์ สามารถติดต่อกับเธอทางอีเมลได้ที่ megawati.wijaya@gmail.com
‘คนงานอพยพชาวจีน’ในสิงคโปร์สไตรก์นัดหยุดงาน (ตอนแรก)
การสไตรก์นัดหยุดงานของคนงานอพยพชาวจีนในสิงคโปร์เมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ชะตากรรมของพวกเขาในนครรัฐอันมั่งคั่งร่ำรวยแห่งนี้ ได้เป็นที่รับรู้และเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น หลังจากที่มักไม่ค่อยได้รับความสนใจนำเสนอสู่สายตาสู่โลกภายนอก ถึงแม้กฎหมายที่บังคับใช้กันอย่างเข้มงวดของสิงคโปร์ ยังคงเป็นตัวจำกัดกีดกั้นความสามารถของพวกเขาที่จะทำการประท้วงโดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกตอบโต้คิดบัญชีแก้เผ็ด แต่กระนั้นข้อพิพาทช่วงสั้นๆ ที่เกิดขึ้นคราวนี้ ก็ทำให้รัฐบาลต้องเร่งมีปฏิบัติการในทางบวกบางอย่างบางประการ
กำลังโหลดความคิดเห็น