xs
xsm
sm
md
lg

ชะตากรรมคนงานอพยพในสิงคโปร์

เผยแพร่:   โดย: คาลิงกา เสเนวิรัตเน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Singapore’s migrant workers struggle to secure better deal
By Kalinga Seneviratne
14/02/2012

กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของสิงคโปร์ ก้าวเข้าไปแสดงบทบาทอย่างรวดเร็วเพื่อให้กลุ่มคนงานอพยพที่ทำการสไตรก์นัดหยุดงาน ได้รับค่าจ้างที่นายจ้างยังติดค้างไม่ได้จ่ายให้ แต่พวกลูกจ้างประเภทเดียวกันนี้กลับถูกทอดทิ้งอย่างไม่ใยดี เมื่อพวกเขาถูก “นายหน้า” และ “บริษัทจัดส่งคนงานกลับบ้าน” หักเปอร์เซ็นต์เงินเดือนค่าจ้าง ตลอดจนยึดเอาเงินออมของพวกเขาไปอย่างหน้าเฉยตาเฉย

สิงคโปร์ – กลุ่มคนงานอพยพราว 100 คนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวบังกลาเทศ พากันสไตรก์นัดหยุดงานที่สถานที่ก่อสร้างแห่งหนึ่งในเดือนนี้ สืบเนื่องจากไม่ได้รับเงินเดือนค่าจ้าง ปรากฎว่าเหตุการณ์นี้สร้างแรงกระเพื่อมมิใช่น้อยให้แก่นครรัฐที่ขึ้นชื่อเรื่องความมั่งคั่งสมบูรณ์และความเป็นระเบียบเรียบร้อยแห่งนี้

กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของสิงคโปร์ ได้ก้าวเข้าไปแสดงบทบาทอย่างรวดเร็ว โดยสั่งการให้บริษัทก่อสร้างภาคเอกชนแห่งนั้นจ่ายเงินเดือนค่าจ้างซึ่งติดค้างพวกคนงานที่นัดหยุดงานมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว การสไตรก์คราวนี้ยุติลงภายในเวลา 8 ชั่วโมงหลังจากเริ่มต้นขึ้นในตอนเช้าของวันที่ 6 กุมภาพันธ์

“กระทรวงทรัพยากรมนุษย์จะไม่ปล่อยปละละเว้นนายจ้างที่บิดพริ้วไม่ยอมจ่ายค่าจ้างเงินเดือนให้ตรงเวลา หรือไม่ให้การดูแลตามสมควรแก่บรรดาคนงานต่างชาติที่พวกเขานำเข้ามา” นี่เป็นข้อความในคำแถลงอย่างเป็นทางการของกระทรวง

การนัดหยุดงานคราวนี้เป็นการเตือนชาวสิงคโปร์ให้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า 1 ใน 4 ของผู้คนประมาณ 4 ล้านคนที่พำนักอาศัยอยู่ในสิงคโปร์เวลานี้ คือพวกคนงานอพยพขายแรงงานราคาถูกๆ จากประเทศเอเชียอื่นๆ พวกเขาเป็นผู้ที่ทำงานหนักๆ อย่างงานก่อสร้าง ซึ่งพลเมืองชาวสิงคโปร์เองไม่ต้องการทำ

พวกนักเคลื่อนไหวทางสังคมบอกว่า บรรดาคนงานต่างชาติซึ่งเป็นคนยากจนที่มาจากประเทศเอเชียอย่างเช่น บังกลาเทศ, อินเดีย, จีน, และพม่า มักถูกเอารัดเอาเปรียบจากประดาสำนักงานนายหน้าจัดหางานไร้จริยธรรม โดยที่นายหน้าเหล่านี้ถนัดนักในการหาช่องทางหลบเลี่ยงระเบียบกฎเกณฑ์ที่กระทรวงทรัพยากรมนุษย์วางเอาไว้

เมื่อปีที่แล้ว กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะดำเนินการ “ป้องปรามอย่างเหมาะสมและเพียงพอ” เพื่อให้มั่นใจได้ว่านายหน้าทั้งหลายจะเคารพปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย แต่ว่าสิงคโปร์นั้นเป็นประเทศที่ไม่มีนโยบายกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และนายจ้างก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้อย่างง่ายดายมาก ถ้าหากคนงานขยับจะเรียกร้องขอค่าตอบแทนที่ยุติธรรม

ตัวเลขของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่า เวลานี้สิงคโปร์มีคนงานก่อสร้างอยู่แล้ว 240,000 คน ทว่ายังจำเป็นต้องได้เพิ่มอีกหลายหมื่นคน เพียงเฉพาะเพื่อทำโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ ที่ได้วางแผนเอาไว้แล้วเท่านั้น

โจโลวัน หว่าม (Jolovan Wham) ผู้อำนวยการบริหารขององค์การมนุษยธรรมเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานอพยพ (Humanitarian Organization for Migration Economics) กล่าวโทษพวกสำนักงานจัดหางานสันดานละโมบว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหา เพราะสำนักงานเหล่านี้เรียกค่าธรรมเนียมก้อนโตจากคนงานตั้งแต่ที่ยังอยู่ในบ้านเกิดแล้ว ครั้นพวกเขาเดินทางมาพำนักในสิงคโปร์ ก็กลับไม่ได้แสดงความรับผิดชอบเข้าไปดูแลเทคแคร์ใดๆ

“คนงานอพยพต้องจ่ายเงินในลักษณะนี้เป็นเงินก้อนโตมาก” หว่าม บอก “พวกนายหน้าจึงควรต้องช่วยเหลือคนงานเมื่อพวกเขาประสบกับปัญหาต่างๆ ในที่ทำงาน ทว่านายหน้าพวกนี้ไม่เคยทำอะไรให้เลย”

เป็นที่ทราบกันดีว่า คนงานต่างชาติจำนวนมาก ทั้งที่มาจากบังกลาเทศ, อินเดีย, จีน, และระยะหลังๆ มานี้ก็มีมาจากพม่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่างต้องจ่ายเงินจำนวนระหว่าง 2,400 ถึง 4,800 ดอลลาร์สหรัฐฯให้แก่พวกนายหน้าในประเทศบ้านเกิดของพวกเขา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้งานทำเมื่อเดินทางมาถึงสิงคโปร์

ครั้นมาทำงานที่นครรัฐแห่งนี้แล้ว ปกติแล้วคนงานก่อสร้างได้ค่าจ้างราวเดือนละ 480 ดอลลาร์ แต่ถ้าเป็นคนงานมีฝีมืออย่างเช่น ช่างไฟฟ้า และช่างเชื่อม ค่าจ้างก็จะเป็น 3 เท่าตัวของจำนวนนั้น อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า พวกนายหน้าและนายจ้างฉวยโอกาสหักเงินจากค่าจ้างรายเดือนของคนงานเหล่านี้ โดยอ้างว่าเป็น “เงินออมตามที่กฏหมายบังคับไว้”, ค่าชุดเครื่องแบบ, ค่าอาหาร, และค่าที่พัก

ราฟิกุล (นามสมมติ) เดินทางจากบังกลาเทศมาทำงานเป็นคนงานก่อสร้างที่สิงคโปร์ตั้งแต่เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน เขาต้องจ่ายเงินให้นายหน้าที่บังกลาเทศ 3,200 ดอลลาร์ เพื่อให้ได้งานทำในสิงคโปร์ซึ่งจ่ายค่าจ้างให้เขาเดือนละ 475 ดอลลาร์

เมื่อ 3 เดือนก่อน หนังสืออนุญาตให้ทำงานในสิงคโปร์ของราฟิกุลถูกยกเลิก และเขาได้รับตั๋วเครื่องบินให้เดินทางกลับบ้าน แต่เขาพบว่านายจ้างไม่ได้คืนเงินออมที่บังคับหักเอาไว้ทุกๆ เดือน รวมแล้วเป็นเงิน 1,902 ดอลลาร์

“ตอนนี้เขา (นายจ้าง) บอกว่าผมจะต้องจ่ายค่าหอพัก แต่เขาไม่เคยบอกผมมาก่อนเลยว่าจะเก็บค่าหอพักด้วย” เขากล่าวด้วยอารมณ์โกรธกริ้ว

ราฟิกุลได้ไปร้องเรียนกับกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งได้ยอมขยายระยะเวลาของหนังสืออนุญาตให้ทำงานของเขา เพื่อให้เขาสามารถยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลได้

ซาราวัน (Saravan) ช่างไฟฟ้าจากอินเดีย ต้องจ่ายเงิน 4,756 ดอลลาร์ให้นายหน้าในเมืองเชนไน เพื่อให้ได้งานในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่สิงคโปร์ซึ่งจ่ายค่าจ้างให้เดือนละ 1,426 ดอลลาร์ หลังจากทำงานได้ 6 เดือน งานนี้ก็หมดลงในเดือนธันวาคม โดยที่เขายังได้รับค่าจ้างจากนายจ้างไม่ครบ คิดแล้วเท่ากับเงินเดือน 3 เดือน

“พวกนายหน้ามักตั้งบริษัทเก๊ๆ ที่มีแค่ชื่อขึ้นมา นายหน้าในบังกลาเทศจะร่วมมือประสานงานกับนายหน้าที่สิงคโปร์นี่เพื่อสร้างตำแหน่งงานหลอกๆ จากที่ดิฉันพบเห็นมา นายหน้าเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นพวกหลอกลวงต้มตุ๋นทั้งนั้น” เป็นคำพูดของ เด็บบี้ ฟอร์ไดซ์ (Debbie Fordyce) อาสาสมัครที่ทำงานให้องค์กรเอ็นจีโอด้านช่วยเหลือแรงงานต่างชาติ ที่ใช้ชื่อว่า “แทรนเชินต์ เวิร์กเกอร์ส เคาต์ ทู (Transient Workers Count Too ใช้อักษรย่อว่า TWC2)

ชาฟิก (Shafik) เป็นคนงานชาวบังกลาเทศผู้หนึ่งซึ่งไปติดต่อขอความช่วยเหลือจาก TWC2 เขาเล่าว่าทำงานในสิงคโปร์มา 5 ปีแล้ว และเวลานี้ต้องการเดินทางกลับบ้าน ในช่วงที่ทำงานอยู่ นายหน้าได้หักเงินเขาเดือนละ 79 ดอลลาร์โดยอ้างว่าเป็นเงินออมสะสม

มาถึงตอนนี้ ชาฟิกเรียกร้องขอเงินของเขาคืน ซึ่งรวมแล้วจะเป็นจำนวน 4,756 ดอลลาร์ นายหน้าดังกล่าวก็ปฏิเสธไม่ยอมจ่ายให้

“ผมต้องจ่ายเงินให้เขาไปแล้ว 6,341 ดอลลาร์ เมื่อตอนที่ผมเดินทางมาทำงานที่สิงคโปร์นี่ ดังนั้น ผมจึงไม่ต้องให้เงินเขาเพิ่มอะไรอีกแล้ว” เขาบอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส แต่ ฟอร์ไดซ์ กล่าวว่า ชาฟิกคงยากที่จะได้เงินที่ถูกหักไปทุกเดือนนี้กลับคืน เนื่องจากกฎหมายของสิงคโปร์ระบุเอาไว้ว่า การเรียกหนี้สินคงค้างใดๆ จากนายจ้าง จะต้องกระทำภายในเวลา 1 ปี

ประเด็นปัญหาอีกประเด็นหนึ่งที่พวกนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิให้คนงานต่างชาติทั้งหลาย ต้องการให้กระทรวงทรัพยากรมนุษย์เข้ามาหาทางแก้ไข ได้แก่เรื่องการบังคับส่งกลับคนงานที่ได้รับบาดเจ็บในสถานที่ทำงาน กรณีของ อับดุล (นามสมมุติ) เข้าข่ายนี้ เขาประสบอุบัติเหตุในขณะทำงาน เจ้านายของเขาจัดแจงดำเนินการยกเลิกหนังสืออนุญาตให้ทำงานของเขา และเรียก “บริษัทจัดส่งคนงานกลับบ้าน” (repatriation company) แห่งหนึ่งให้เข้ามาจัดการ อับดุลเล่าว่าเขาถูกข่มขู่คุกคาม และเมื่อเขาร้องเรียนไปที่กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และแจ้งความตำรวจ ปรากฏว่าคราวนี้เขาถูกซ้อมถูกทุบตี

พวกที่เรียกกันว่าบริษัทจัดส่งคนงานกลับบ้าน เป็นกิจการที่นายจ้างเรียกใช้บริการเพื่อการกำจัดคนงานอพยพที่สร้างปัญหาหรือทำให้เกิด “ความไม่สะดวก” ขึ้นมา

ครั้นเมื่อกลุ่มเรียกร้องสิทธิไปร้องเรียนให้กระทรวงทรัพยากรมนุษย์จัดการปราบปรามบริษัทจัดส่งคนงานกลับบ้านเหล่านี้ เพราะหลายๆ แห่งทีเดียวว่าจ้างเลี้ยงดูพวกนักเลงอันธพาลท้องถิ่น ทางกระทรวงตอบกลับโดยอ้างข้อมูลที่ว่า ในจำนวนคนงานอพยพราว 16,000 คนที่ถูกส่งตัวกลับบ้านเมื่อปีที่แล้ว มีเพียง 7 รายเท่านั้นที่ยื่นคำร้องเรียนอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ดี หว่ามอธิบายว่า “เมื่อคนงานถูกบังคับส่งตัวกลับบ้านไป มันก็ย่อมเป็นเรื่องลำบากยากเย็นอยู่แล้วที่พวกเขาจะสามารถเดินทางไปที่กระทรวงเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียน” เขากล่าวต่อไปว่า “ถึงแม้พวกบริษัทส่งคนงานกลับบ้านเป็นกิจการที่ถูกกฎหมาย แต่พฤติการณ์ของพวกเขาเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายแน่ๆ คุณจะไปเที่ยวบังคับกักขังหน่วงเหนี่ยวใครๆ ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เต็มใจไม่ได้หรอก มันผิดกฎหมายของที่นี่”

ฟอร์ไดซ์ระบุว่า มีคนงานอพยพราวเดือนละ 200 คนมาติดต่อกับทาง TWC2 ปรากฏว่าทุกคนล้วนแต่ถูกหลอกถูกต้มจากนายหน้ารายใดรายหนึ่งกันทั้งนั้น คนงานจำนวนมากเหลือเกินที่สูญเสียเงินก้อนโตให้แก่นายหน้า ซึ่งเที่ยวอ้างเหตุนั้นเหตุนี้มาเรียกเก็บ

“กระทรวงทรัพยากรมนุษย์แสดงท่าทีรับฟังคำร้องเรียนของพวกเรา แต่ก็ยืนยันว่าเราไม่สามารถทำอะไรเพื่อเรียกเงินคืนได้หรอก ในเมื่อตอนที่คนงานให้เงินแก่นายหน้าพวกนี้ก็ไม่ได้มีการทำหนังสือหลักฐานอะไรไว้เลย” เธอบอก

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น