xs
xsm
sm
md
lg

‘น้ำท่วม’ทำ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์’เปียกปอนหนัก (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ฌอน ดับเบิลยู คริสพิน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

It’s all wet in Thailand
By Shawn W Crispin
19/10/2011

อุทกภัยที่กำลังสร้างความเสียหายอย่างมากมายกว้างขวางในประเทศไทย ตลอดจนการรับมืออย่างบกพร่องผิดพลาดของรัฐบาล ซึ่งได้ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ แก่การปกป้องคุ้มครองบรรดานิคมอุตสาหกรรมตลอดจนทรัพย์สินในเขตใจกลางกรุงเทพมหานคร ยิ่งกว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนระดับรากหญ้านั้น กำลังทำให้นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกตั้งคำถามและถูกตรวจสอบในเรื่องภาวะผู้นำทั้งทางด้านการเมืองและทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อตอนที่ได้รับเลือกตั้งโดยประสบชัยชนะอย่างถล่มทลายในช่วงกลางปีนี้ พรรคการเมืองของเธอได้เสนอนโยบายประชานิยมด้านต่างๆ ที่มุ่งเอาอกเอาใจคนยากคนจน จนกระทั่งได้ก่อให้เกิดความคาดหวังฝันหวานอันสวยหรูชนิดลอยล่องไม่ติดพื้น แต่เมื่อมาถึงเวลานี้ เป็นที่คาดหมายได้ว่า ศรัทธาความเชื่อถือตลอดจนความนิยมชมชอบในตัวเธอจะต้องจมดิ่งลงเหวอย่างแน่นอนในช่วงหลังน้ำลด

*รายงานข่าวชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**การแทรกแซงตลาดอย่างรุนแรง**

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หนักหน่วงที่สุดเกี่ยวกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่จะกลายเป็นการแทรกแซงตลาดอย่างร้ายแรง ส่วนใหญ่ทีเดียวรวมศูนย์อยู่ที่โครงการรับจำนำข้าว โดยที่รัฐบาลของเธอให้สัญญาที่จะจ่ายเงินรับจำนำข้าวในราคาตายตัวตันละ 15,000 บาท ในเวลาที่ราคาในตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่แถวๆ 10,000 บาทเท่านั้น ประเทศไทยในปัจจุบันมีฐานะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ปกติแล้วจะเป็นผู้ควบคุมข้าวที่ซื้อขายกันในตลาดโลกอยู่ประมาณ 30% พวกนักวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐกิจเสนอความเห็นโต้แย้งว่า โครงการนี้จะกลายเป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการผลิตจนล้นเกิน ตลอดจนกระตุ้นส่งเสริมให้คนงานอพยพเคลื่อนย้ายจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการไปทำมาหากินในภาคเกษตรกรรมซึ่งอยู่ในสภาพที่ด้อยประสิทธิผลยิ่งกว่า นอกจากนั้นโครงการนี้ยังจะกลายเป็นภาระของรัฐบาลคิดเป็นมูลค่าหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์ จากการที่จะต้องเกิดการขาดทุนอยู่ทุกปี รวมทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศของข้าวไทยด้อยลงไปมาก ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน โครงการนี้ยังไม่ได้ช่วยเหลือคุ้มครองเกษตรกรจากภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ที่พวกเขากำลังประสบอยู่ในเวลานี้แต่อย่างใด

ในด้านการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ผลักดันจนกระทั่งคณะกรรมการค่าจ้างกลาง มีมติเดินหน้าเรื่องนี้ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ถึงแม้มีเสียงเรียกร้องจากบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมท้องถิ่นให้ระงับแผนการนี้เอาไว้ก่อน จนกว่าพวกเขาจะสามารถฟื้นตัวจากความเสียหายอันมากมายมหาศาลเนื่องจากน้ำท่วมได้ และมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงขึ้นมาอีกคำรบหนึ่ง ตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่ออกมาในคราวนี้ จะมีการขยับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายวันขึ้นมาราว 40% เป็นวันละ 300 บาทในกรุงเทพมหานคร และในจังหวัดที่มีฐานะมั่งคั่งอื่นๆ อีก 6 จังหวัด ขณะที่ตามจังหวัดอื่นๆ ที่มีฐานะยากจนกว่า ก็ให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจากระดับปัจจุบันขึ้นไปอีก 40% เฉกเช่นเดียวกับเรื่องการจำนำข้าว การปรับค่าจ้างขั้นต่ำอย่างแรงมากเช่นนี้ ทำให้เกิดความห่วงใยในทางเศรษฐกิจว่าจะกระทบกระเทือนความสามารถในการแข่งขันของราคาสินค้าออกของไทย ตลอดจนกระทบกระเทือนความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตของพวกอุตสาหกรรม ทั้งนี้โรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังต้องแข่งขันช่วงชิงทั้งตลาดและทั้งเม็ดเงินลงทุน กับพวกประเทศที่มีระดับค่าจ้างต่ำกว่าไทย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม หรือ อินโดนีเซีย

ตามการประมาณการของธนาคารโลก ภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ เป็นผู้ที่ว่าจ้างกำลังแรงงานของประเทศไทยถึงประมาณ 60% ด้วยเหตุนี้นักวิเคราะห์หลายๆ รายจึงระบุว่า เอาเข้าใจจริงนโยบายเรื่องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนี้ก็ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะถูกนำมาบังคับใช้ให้ปฏิบัติกันอย่างเห็นมรรคเห็นผลในตลอดทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจ ขณะที่นักวิเคราะห์อย่างเช่น ศรียาน ปิเอเทอร์ส (Sriyan Pietersz) หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ บริษัทหลักทรัพย์ เจพี มอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด ชี้ว่า พวกวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ตามต่างจังหวัด ซึ่งจำนวนมากเลยต้องดำเนินงานในสภาพที่มีอัตราผลกำไรบางเฉียบอยู่แล้ว แถมยังได้รับความเสียหายจากอุทกภัยคราวนี้ด้วย จะเป็นพวกที่รู้สึกถึงผลกระทบมากที่สุดจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำคราวนี้ ทั้งนี้นับเป็นเรื่องน่าประหลาดและน่าขบขันปนขมขื่นอยู่ไม่น้อย เนื่องจากพวกเอสเอ็มอีคือกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงระดับรากหญ้า ซึ่งมองเห็น พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้อุ้มชูช่วยเหลือพวกเขาเรื่อยมา จากการที่รัฐบาลในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณได้จัดทำโครงการให้เงินกู้ภาครัฐอัตราดอกเบี้ยต่ำแก่วิสาหกิจเหล่านี้ ทว่าจากนโยบายในเวลานี้ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลับกำลังคุกคามที่จะทำให้เอสเอ็มอีต้องล้มละลายถอยหายออกไปจากแวดวงธุรกิจ

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในคณะรัฐบาลชุดที่แล้วที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ เป็นผู้หนึ่งในบรรดานักวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่นายกรณ์เรียกว่าเป็น ลัทธิประชานิยม “เพื่อความตื่นเต้นเร้าใจแบบราคาถูก” ("cheap thrill" populism) ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผู้นี้ เปรียบเทียบนโยบายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลบักษณ์ กับนโยบายเพื่อชาวรากหญ้าของพรรคประชาธิปัตย์ แล้วก็แสดงทัศนะว่า สิ่งที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เสนอออกมานั้น ค่อนข้าง “สิ้นเปลืองไร้ประโยชน์” และแสดงให้เห็นถึง “การหักเหอย่างร้ายแรง” ออกจากความพยายามของรัฐบาลของเขาซึ่งมุ่งทำการแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและความบกพร่องผิดพลาดเชิงโครงสร้างต่างๆ ด้วย “หนทางที่ยั่งยืนและสามารถใช้ปฏิบัติได้” มากยิ่งขึ้น

“ทักษิณยังมีไอเดียที่สดใหม่ แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่มีไอเดียเอาเลย” นายกรณ์ปล่อย “หมัด” ใส่รัฐบาลชุดปัจจุบัน

นโยบายแบบประชานิยมฉบับดั้งเดิมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งจัดทำกันขึ้นมาภายหลังจากที่พรรคการเมืองของเขาชนะเลือกตั้งแล้วไม่ใช่ก่อนการเลือกตั้ง ได้ถูกนำมา “ทำการตลาด” อย่างหนัก เพื่อให้กลายเป็นเครื่องรับรองภาพลักษณ์ความเป็นผู้เอาอกเอาใจคนยากคนจนของเขา ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณก็ได้ใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวนมากกว่านั้นเสียอีก ไปในการช่วยเหลือฟื้นฟูพวกนักอุตสาหกรรม, นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, และผู้ประกอบการภาคธุรกิจรายอื่นๆ ซึ่งติดหนี้สินรุงรังและอยู่ในอาการล้มคว่ำคะมำหงายจากวิกฤตทางการเงินในเอเชียช่วงปี 1997-1998 นอกจากนั้นนโยบายประชานิยมเหล่านี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังถูกเข็นออกมาดำเนินการ โดยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่า การใช้จ่ายเช่นนั้นมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหายใหญ่โตในทางการคลัง ทว่าคำเตือนเช่นนี้ไม่ได้กลายเป็นความจริงขึ้นมาแต่อย่างใด สืบเนื่องจากเขาหันไปอาศัยพวกธนาคารภาครัฐที่อยู่นอกงบประมาณแผ่นดิน มาเป็นผู้ออกเงินให้แก่โครงการจำนวนมากของเขา

รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็กำลังลอกเลียนขโมยใช้กลยุทธ์ต่างๆ จากวิถีทางแห่งนักประชานิยมของผู้เป็นพี่ชายของเธอ โดยที่โครงการจำนำข้าวซึ่งจะต้องใช้เงินประมาณ 114,000 ล้านบาท รัฐบาลชุดปัจจุบันได้กำหนดให้หน้าที่การหาเงินทุนมาใช้จ่ายเป็นความรับผิดชอบของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจ เธอยังแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญทางการเมืองอยู่หลายแวบเหมือนกัน ด้วยการยกเลิกหรือตัดทอนลดขนาดคำมั่นสัญญาแบบประชานิยมบางอย่างที่พรรคของเธอได้ประกาศไว้ในช่วงรณรงค์หาเสียง เป็นต้นว่า แผนการที่จะแจกจ่ายบัตรเครดิตซึ่งหนุนหลังโดยรัฐบาลให้แก่เกษตรกรที่ติดหนี้ติดสิน คำสัญญาในช่วงหาเสียงอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ การแจกจ่ายเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่นักเรียนทุกคนตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 8 ล้านคน เวลานี้ก็ได้ลดขนาดลงมาเหลือเพียงจะแจกจ่ายให้แก่นักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 เท่านั้น

จากการที่ในช่วงก่อนน้ำท่วม ยอดหนี้สินสาธารณะของประเทศไทยยังอยู่ในระดับไม่สูง คือ เท่ากับ 43% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่ในระดับโลกกำลังมีเสียงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ที่มีศักยภาพ เพิ่มการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและต่อต้านวงจรขาลงทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพื่อต่อสู้กับความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาลงลึกเป็นหนที่สอง (double dip recession) ขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงมีที่มีทางในด้านการคลังที่จะเคลื่อนไหวขยับตัว ทั้งนี้การสร้างความคาดหวังเรียกคะแนนนิยมจากประชาชนกันอย่างเอิกเกริกเต็มที่ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในเบื้องต้นเลยมีจุดมุ่งหมายที่จะใช้สนับสนุนความนิยมชมชอบในตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ และขณะเดียวกันก็ทำให้ฝ่ายทหารตกอยู่ในฐานะกลายเป็นช้างเท้าหลังไม่ค่อยกล้าขยับตัว ในเวลาที่เธอเร่งรัดผลักดันประดามาตรการทางการเมืองที่ธรรมดาแล้วอาจก่อให้เกิดการโต้เถียงขัดแย้งกันอย่างสูง เป็นต้นว่า การทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถกลับประเทศไทยโดยไร้ความผิดใดๆ

แต่จากความเสียหายอย่างหนักหน่วงและกว้างขวางของอุทกภัยคราวนี้ กำลังก่อให้เกิดคำถามฉกาจฉกรรจ์ขึ้นมา เกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางการเมืองของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยที่ไม่มีหลักประกันเลยว่า การยืนกรานยึดมั่นทำตามสัญญาด้านประชานิยมของนายกรัฐมนตรี“มือใหม่หัดขับ”ทางการเมืองผู้นี้ ในช่วงเวลาแห่งวิกฤตอย่างในปัจจุบันนี้ จะก่อให้เกิดดอกผลทางการเมืองอย่างเดียวกับนโยบายมุ่งเอาอกเอาใจคนยากคนจนของ พ.ต.ท.ทักษิณเคยทำได้หรือไม่

ฌอน ดับเบิลยู คริสพิน เป็นบรรณาธิการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น