xs
xsm
sm
md
lg

การเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองในประเทศไทย (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ฌอน ดับเบิลยู คริสพิน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Changing of the guard in Thailand
By Shawn W Crispin
05/07/2011

สัญญาณต่างๆ เท่าที่ปรากฏจวบจนถึงบัดนี้ ล้วนบ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนถ่ายอำนาจอย่างราบรื่นในประเทศไทย ภายหลังที่พรรคเพื่อไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ถูกโค่นลงจากอำนาจ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องปราชัยอย่างยับเยินอีกคำรบหนึ่งในการเลือกตั้งทั่วไป อย่างไรก็ดี เสถียรภาพทางการเมืองของไทยในอนาคตนั้น สิ่งที่จะมีบทบาทในการตัดสินเป็นอย่างมากทีเดียว ได้แก่การที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งก็คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะดำเนินการอย่างจริงจังเพียงใดและอย่างรวดเร็วแค่ไหน ในการผลักดันให้มีการประกาศนิรโทษกรรม ซึ่งจะแผ้วถางทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านโดยไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใดๆ

*รายงานข่าวชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

วาณิชธนกิจ เอชเอสบีซี เขียนเอาไว้ในรายงานวิจัยส่งถึงลูกค้าภายหลังการเลือกตั้งว่า พวกนโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยเป็นภัยคุกคามที่จะเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ มากกว่าที่จะช่วยผ่อนคลายอันตรายทางด้านนี้ซึ่งกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว รายงานวิจัยนี้ระบุว่า เรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำยังจะ “หวนกลับมาทำร้าย” พวกผู้บริโภคชาวไทย ในเมื่อทั้งผู้ผลิตและนายจ้างย่อมต้องผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้ซื้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น อีกทั้งมีความเป็นไปได้ที่เรื่องนี้จะสร้างความเสียหายให้แก่ความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะในเรื่องความพยายามที่จะเป็นจุดหมายปลายทางของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในระดับภูมิภาค

นักวิเคราะห์อีกหลายรายคาดการณ์ว่าจะได้เห็นการปะทะกันระหว่างทีมเศรษฐกิจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในรูปลักษณ์ของการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายที่เน้นการเจริญเติบโตกับฝ่ายที่มุ่งเรื่องการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ตั้งแต่ก่อนหน้าการเลือกตั้งแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ตั้งท่าจะขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 3% ในปัจจุบัน สู่ระดับ 3.75%ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อที่จะควบคุมจำกัดอัตราเงินเฟ้อ นโยบายการเงินที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเช่นนี้ ซึ่งรวมไปถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกรอบหนึ่งในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ย่อมจะกระทบกระเทือนความคาดหวังที่จะได้เห็นอารมณ์ความรู้สึกดีๆ ภายหลังการเลือกตั้งสืบเนื่องจากการกระเด้งดีดตัวขึ้นของเศรษฐกิจ โดยเป็นที่แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยมุ่งที่จะสร้างบรรยากาศเช่นนี้ด้วยการเพิ่มการใช้จ่ายในลักษณะประชานิยมขึ้นอย่างมากมาย

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ใหญ่โตยิ่งกว่าทางด้านเศรษฐกิจเสียอีก จะยังคงเป็นอันตรายทางด้านการเมือง มีรายงานว่า ในข้อตกลงหลังฉากเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณทำไว้กับฝ่ายทหารและฝ่ายอื่นๆ นั้น ประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณตกลงยินยอมไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการของฝ่ายทหาร ซึ่งรวมไปถึงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป โดยที่การแต่งตั้งโยกย้ายเช่นนี้คือการพิจารณาจัดขบวนคณะผู้นำในกองทัพตลอดจนการเลือกเลื่อนนายทหารอาวุโสระดับรองๆ ลงมา สัญญาณส่อเป็นนัยๆ หลายประการที่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหมผู้กำลังจะพ้นตำแหน่ง อาจจะได้รับการแต่งตั้งกลับมาอีกภายใต้คณะรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ย่อมได้รับการตีความว่าเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับเงื่อนไขต่างๆ ของข้อตกลงระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ กับฝ่ายทหาร และฝ่ายอื่นๆ ดังกล่าวข้างต้น

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง พวกผู้นำของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ระบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยด้วยหลายต่อหลายคน ย่อมจะได้รับการคาดหมายว่าพวกเขาจะต้องพยายามผลักดันให้ฝ่ายพลเรือนสามารถควบคุมกิจการทางการทหารได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งต้องสร้างความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิตจำนวน 91 คนในช่วงที่เกิดการประท้วงและฝ่ายทหารเข้าปราบปรามในปีที่แล้ว แต่การมุ่งมั่นผลักดันให้มีการดำเนินการฟ้องร้องกล่าวโทษนายทหารใหญ่ ย่อมเป็นอันตรายต่อการตกลงรอมชอมที่ได้กระทำกันไว้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง และก็เป็นการทำให้รัฐบาลชุดใหม่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก้าวไปบนเส้นทางที่จะต้องชนกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก รัฐมนตรีกลาโหม พล.อ.ประวิตร นั้น ได้ออกมากล่าวแล้วว่าฝ่ายทหารยอมรับผลการเลือกตั้ง ขณะที่ในเวลาเขียนรายงานชิ้นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ได้แถลงแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชน

**การออกนิรโทษกรรมให้แก่ทุกฝ่าย**

การเมืองไทยในอนาคตจะมีเสถียรภาพหรือไม่ สิ่งที่จะมีบทบาทในการตัดสินเป็นอย่างมากทีเดียว ได้แก่การที่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะดำเนินการอย่างจริงจังเพียงใดและอย่างรวดเร็วแค่ไหน ในการผลักดันให้มีการประกาศนิรโทษกรรม ซึ่งจะแผ้วถางทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านโดยไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใดๆ ภายหลังจากที่เขาถูกโค่นล้มลงจากอำนาจด้วยการก่อรัฐประหารของฝ่ายทหารในเดือนกันยายน 2006 และต่อมาก็หลบหนีออกจากประเทศไทย ไม่นานนักก่อนที่ศาลไทยจะพิพากษาว่าเขามีความผิดเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นในปี 2008 ถ้าหากพรรคเพื่อไทยประสบชัยชนะได้ที่นั่งได้สภาผู้แทนราษฎร 300 ที่นั่งหรือกว่านั้น ซึ่งจะเป็นการครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด และดังนั้นก็จะต้องพึ่งพาอาศัยพวกพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ น้อยลงไปในการสร้างเสถียรภาพแล้ว ในเงื่อนไขเช่นนั้น บรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะต้องตั้งจุดมุ่งหมายให้มีการออกประกาศนิรโทษกรรมกันแบบฟาสต์แทร็ก อย่างไรก็ดี น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงเรื่อยมาว่ารัฐบาลของเธอจะให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกสุดแก่เรื่องการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ

พวกผู้คนที่คุ้นเคยกับแผนการต่างๆ ของพรรคเพื่อไทยที่จัดทำไว้ก่อนการเลือกตั้ง เปิดเผยให้ฟังว่า จะมีการจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาองค์กรหนึ่ง เคียงคู่ขนานกันไปกับ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลผสมของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้ทำหน้าที่จัดทำข้อเสนอแนะต่างๆ สำหรับการจัดให้มีการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการปรองดองแห่งชาติ แหล่งข่าวเหล่านี้ระบุว่า การออกเสียงลงประชามติดังกล่าวจะเป็นการแผ้วถางทางให้แก่การเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกนักการเมืองคนสำคัญๆ ที่เคยอยู่ในพรรคการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 111 คน ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ภายหลังที่เกิดการรัฐประหารในปี 2006 แล้ว จะสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยจำนวนมาก รวมทั้งตัวผู้นำพรรคอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย กำลังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเหล่านักการเมืองซึ่งทรงอิทธิพลมากกว่าแต่ถูกห้ามเล่นการเมืองเหล่านี้

แผนการนิรโทษกรรมนั้น ถ้าไม่ใช้วิธีจัดให้มีการออกเสียงประชามติรับรอง แต่หันมาเสนอผ่านรัฐสภาแทน ก็จะต้องทูลเกล้าฯถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย จึงจะเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ การผลักดันการนิรโทษกรรมในลักษณะเช่นนี้ได้เคยกระทำกันในเดือนเมษายน 2008 ในยุคของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งได้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงของ “พวกเสื้อเหลือง” ที่มีการเข้าไปยึดทำเนียบรัฐบาล และทำให้การปฏิบัติงานของคณะรัฐบาลที่เป็นฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณถึง 2 ชุดอยู่ในสภาพเป็นอัมพาต การประท้วงเหล่านี้ขึ้นสู่จุดไคลแมกซ์ด้วยการบุกเข้าไปในท่าอากาศยานระหว่างประเทศ 2 แห่งในกรุงเทพฯเป็นเวลา 1 สัปดาห์ อันเป็นความเคลื่อนไหวที่นักวิเคราะห์หลายรายคาดเดาว่าได้รับการหนุนหลังอย่างเป็นนัยๆ จากฝ่ายทหาร

ในเวลานี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า กำลังฝ่ายต่อต้านทักษิณกลุ่มเดียวกันนี้ มีพละกำลังหรือวัตถุประสงค์ที่เป็นเอกภาพกันที่จะเปิดฉากการเคลื่อนไหวตามท้องถนนเพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในระดับเท่าเทียมกับในอดีตหรือไม่ “พวกเสื้อเหลือง” นั้นเคยจัดการประท้วงเมื่อเร็วๆ นี้ แต่เป็นการพุ่งเป้าหมายใส่พรรคประชาธิปัตย์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพันธมิตรของพวกเขา ปรากฏว่าการชุมนุมประท้วงประสบความล้มเหลวไม่สามารถกระตุ้นให้มีประชาชนจำนวนมากออกมาแสดงการสนับสนุนวาระที่อยู่ในลักษณะลัทธิชาตินิยมของพวกเขาได้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นเสมือนเงาดำทะมึนที่อาจจะเป็นภัยคุกคามต่อคณะรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์มากกว่าเสียอีก น่าจะได้แก่การดำเนินการในทางตุลาการ ในทำนองเดียวกับที่นำไปสู่คำพิพากษาของศาลที่ให้ยุบเลิกพรรคการเมืองที่หนุนหลัง พ.ต.ท.ทักษิณถึง 2 พรรคมาแล้วเมื่อปี 2008 ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงคราวนี้เอง สมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์หลายคนก็ได้แสดงท่าทีบ่งบอกว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง พวกเขาก็จะฟ้องร้องขอให้มีการยกเลิกชัยชนะดังกล่าวด้วยเหตุผลที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังคงทำตัวเสมือนกับเป็นผู้นำของพรรคการเมืองนี้ ทั้งๆ ที่เขาเป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่ยังถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ขณะเดียวกัน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็กำลังทำท่าจะดำเนินการสอบสวนกรณีที่ตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์เองอาจจะได้ให้การอันเป็นเท็จ ในขณะที่เป็นพยานในคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณคดีหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้

ในเวลาเดียวกัน ตอนนี้ก็ปรากฏสัญญาณหลายประการออกมาแล้วที่ชี้ว่า ฝ่ายพรรคเพื่อไทยมีแผนการที่จะชิงลงมือเป็นฝ่ายรุกเพื่อต่อสู้กับข้อหาคดีความต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้นว่า ตั้งแต่ในระหว่างที่มีการลงคะแนนเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์(3) ได้ปรากฏเอกสารฉบับหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นบันทึกของ “พวกเสื้อแดง” ที่รั่วไหลออกมา เนื้อหาของเอกสารดังกล่าวนี้บ่งบอกถึงแผนการต่างๆ ที่จะมีการแต่งตั้งผู้พิพากษาใหม่ๆ ขึ้นสู่ศาลระดับสูงๆ ของไทย โดยจะมีการอ้างเหตุผลว่าเพื่อเป็นการดำเนินการปฏิรูปฝ่ายตุลาการ ทั้งนี้การร้องทุกข์ว่าสถาบันที่ได้ชื่อว่ามีความเป็นอิสระสถาบันนี้กำลังเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ได้เคยกระตุ้นให้เกิดการประท้วงอันนำไปสู่การที่ พ.ต.ท.ทักษิณถูกฝ่ายทหารขับไสโค่นลงจากอำนาจในปี 2006 มาแล้ว และถ้าหากพรรคเพื่อไทยมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับผู้พิพากษาระดับสูงขึ้นมาจริงๆ ก็อาจจะกลายเป็นชนวนเริ่มแรกของการประท้วงต่อต้านการปกครองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็เป็นได้

ฌอน ดับเบิลยู คริสพิน เป็นบรรณาธิการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น