(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)
Changing of the guard in Thailand
By Shawn W Crispin
05/07/2011
สัญญาณต่างๆ เท่าที่ปรากฏจวบจนถึงบัดนี้ ล้วนบ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนถ่ายอำนาจอย่างราบรื่นในประเทศไทย ภายหลังที่พรรคเพื่อไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ถูกโค่นลงจากอำนาจ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องปราชัยอย่างยับเยินอีกคำรบหนึ่งในการเลือกตั้งทั่วไป อย่างไรก็ดี เสถียรภาพทางการเมืองของไทยในอนาคตนั้น สิ่งที่จะมีบทบาทในการตัดสินเป็นอย่างมากทีเดียว ได้แก่การที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งก็คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะดำเนินการอย่างจริงจังเพียงใดและอย่างรวดเร็วแค่ไหน ในการผลักดันให้มีการประกาศนิรโทษกรรม ซึ่งจะแผ้วถางทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านโดยไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใดๆ
*รายงานข่าวชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *
กรุงเทพฯ – ด้วยการรณรงค์หาเสียงที่มีการเตรียมบทเอาไว้ให้เดินอย่างเข้มงวดและมีเงินสนับสนุนอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง พรรคเพื่อไทยของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็สามารถกวาดที่นั่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา และทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องประสบความปราชัยอย่างยับเยินอีกคำรบหนึ่ง ถึงแม้มีความวิตกกังวลกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการก่อรัฐประหารยึดอำนาจภายหลังทราบผลการเลือกตั้ง หรือไม่ก็มีการลุกฮือก่อความปั่นป่วนวุ่นวายตามท้องถนน ทว่าสัญญาณต่างๆ เท่าที่ปรากฏให้เห็นจวบจนถึงบัดนี้ ล้วนบ่งชี้ว่าจะมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจตามแบบแผนของระบอบประชาธิปไตยด้วยความราบรื่น
ขณะที่ข้อตกลงรอมชอมระหว่างตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ, ฝ่ายทหาร, และฝ่ายอื่นๆ ที่ทำกันไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งมีเงื่อนไขที่เป็นการเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยสามารถที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ (ดูเรื่อง The deal behind Thailand's polls, Asia Times Online, June 30, 2011) ยังคงได้รับการรักษาเอาไว้อย่างน้อยก็ในระยะเวลาเฉพาะหน้าภายหลังการเลือกตั้ง กระนั้นก็มีความเป็นไปได้อยู่มาก ที่ในช่วงไม่กี่เดือนต่อจากนี้ไป จะเกิดภาวะไร้เสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น เมื่อพรรคเพื่อไทยมีการเคลื่อนไหวเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำมั่นสัญญาจำนวนมากที่ให้ไว้ในช่วงรณรงค์หาเสียง หนึ่งในสัญญาเหล่านี้ก็ย่อมรวมถึงการนิรโทษกรรมให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกศาลไทยตัดสินลงโทษจำคุกด้วยความผิดทางอาญา ทั้งนี้การนิรโทษกรรมจะใช้ข้ออ้างเหตุผลในเรื่องการสร้างความปรองดองขึ้นภายในชาติ
ในการเลือกตั้งคราวนี้ พรรคเพื่อไทยนำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถือว่าเป็นมือใหม่เพิ่งย่างก้าวเข้าสู่วงการเมืองอย่างเต็มตัว แต่ก็สามารถกำชัยชนะได้ที่นั่ง ส.ส. 265 ที่นั่งจากที่มีให้ชิงชัยกันที้งสิ้น 500 ที่นั่ง ทิ้งห่างอันดับสองอย่างพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้เพียง 159 ที่นั่ง ต่อมาเมื่อวันจันทร์(4) น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ประกาศแผนการที่จะจัดตั้งคณะรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยพรรคการเมือง 5 พรรค ซึ่งถ้าหากทำได้สำเร็จก็จะมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 299 ที่นั่ง ตัวเลขเหล่านี้อาจลดน้อยลงไปหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสินลงโทษผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งบางคนด้วยเหตุผลว่ากระทำการทุจริตผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งนี้ในเวลานี้ยังไม่ทราบว่าผู้ชนะที่จะไม่ได้รับการรับรองหล่านี้จะเป็นจำนวนเท่าใด แต่คณะกรรมการกำลังพิจารณาวินิจฉัยคำร้องเรียนต่างๆ รวม 190 คำร้อง และเมื่อดูจากในอดีตที่ผ่านมา ก็อาจจะมีผู้สมัครที่ไม่ได้รับการรับรองจำนวนหลายสิบคนทีเดียว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ รณรงค์หาเสียงโดยอาศัยทั้งคำมั่นสัญญาแบบนักประชานิยม ทั้งการผลักดันให้เกิดการปรองดองในชาติ ตลอดจนนามสกุลของเธอเองผสมผสานกัน ถึงแม้การที่เธอก้าวขึ้นไปเป็นผู้สมัครอันดับหนึ่งของพรรคเพื่อไทยตลอดจนภูมิหลังความเป็นมาของเธอ บ่งบอกให้เห็นถึงลัทธิเล่นพรรคเล่นพวกเอาแต่วงศาคณาญาติ ทว่าพวกมือประชาสัมพันธ์ของพรรคนี้ก็ดูจะประสบความสำเร็จในการใช้ความไร้ประสบการณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์มาเป็นจุดขายอันแข็งแกร่ง ขณะที่พวกสื่อมวลชนท้องถิ่นและคอมเมนเตเตอร์ต่างชาติ ต่างแสดงความชื่นชอบต่อรูปร่างหน้าตาของเธอ, ความเป็นผู้หญิงของเธอ, ตลอดจนโปสเตอร์หาเสียงที่จัดทำอย่างประณีตเนี๊ยบเนียน พ.ต.ท.ทักษิณนั้นได้ระบุอ้างอิงถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าเป็น “โคลน” (clone) ของเขา ในระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายต่อหลายครั้งจากนครดูไบที่เขาใช้เป็นที่พำนักลี้ภัยของตนเอง ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศว่าเขาคือมันสมองที่อยู่เบื้องหลังการลงสมัครและการรณรงค์หาเสียงของเธอนั่นเอง
กระนั้นก็ตาม รูปทรงของการลงคะแนนในการเลือกตั้งคราวนี้ก็ดำเนินไปในลักษณะที่สอดคล้องกับการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา โดยที่พรรคการเมืองซึ่งสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถควบคุมเสียงในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีจำนวนประชากรมากกว่าภาคอื่นๆ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ก็ดึงดูดผู้ออกเสียงได้อย่างเหนียวแน่นในเขตเมืองหลวงและทางภาคใต้ที่มีจำนวนประชากรน้อยกว่า นักวิเคราะห์บางคนอธิบายตีความชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในคราวนี้ว่า คือการที่ประชาชนคนยากคนจนในชนบทลงคะแนนเสียงสั่งสอนพรรคประชาธิปไตยที่ได้รับการหนุนหลังจากพวกชนชั้นนำในเขตเมืองใหญ่ ทว่าเมื่อดูจากผลการลงคะแนนตามพื้นที่ต่างๆ แล้ว กลับแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การลงคะแนนเป็นไปตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์มากกว่าจะเป็นเรื่องของความคิดอุดมการณ์ พรรคขนาดใหญ่ทั้งสองต่างยังคงสามารถรักษากลไกทางการเมืองอันน่าเกรงขามในฐานที่มั่นทางภูมิศาสตร์ของตนเองเอาไว้ได้อย่างมั่นคง
อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ดูจะมีจุดอ่อนอยู่ใน 2 แนวรบที่สำคัญมาก กล่าวคือ พรรคประสบความล้มเหลวในการเข้ายึดเขตที่ราบลุ่มภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวและก็เป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่การลงคะแนนเสียงอยู่ในลักษณะเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา พรรคประชาธิปัตย์จึงเล็งเป็นเป้าหมายเอาไว้ขณะครองอำนาจเป็นรัฐบาล โดยมุ่งที่จะใช้นโยบายแบบประชานิยมของตน เป็นต้นว่า โครงการประกันราคาข้าว ซึ่งคาดหมายว่าจะสามารถเรียกคะแนนเสียงจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวได้เป็นกอบเป็นกำ ในอีกแนวรบหนึ่ง พรรคภูมิใจไทย ที่เป็นพันธมิตรอย่างหลวมๆ ของประชาธิปัตย์ ก็ทำได้ต่ำกว่าการคาดหมายในความพยายามที่จะช่วงชิงแบ่งคะแนนเสียงจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่แตกออกมาจากพรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุนทักษฺณเมื่อปี 2008
นอกจากนั้นแล้ว ช่วงเวลาของการลงคะแนนเสียงก็ดูไม่เป็นใจให้แก่พรรคประชาธิปัตย์เอาเลย พวกนักวิเคราะห์เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ปล่อยโอกาสให้หลุดลอยไปเปล่าๆ ปลี้ๆ จากการที่ไม่รีบจัดการเลือกตั้งเสียตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ ซึ่งยังจะสามารถใช้ประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจอันสดใสของปีที่แล้วที่กระเตื้องดีดตัวพ้นออกจากวิกฤตระดับโลก มาช่วยให้ตนเองเป็นฝ่ายได้เปรียบในการโหวต แต่เมื่อรอคอยมาจนถึงเวลาที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีผู้บัดนี้กลายเป็นผู้แพ้พ่ายไปแล้ว ประกาศจัดการเลือกตั้งขึ้นมานั้น ก็ปรากฏว่าราคาสินค้าต่างๆ ที่ขยับสูงขึ้นตามแรงขับดันระดับโลก ได้สำแดงฤทธิ์ส่งผลกระทบลงไปจนถึงระดับรากหญ้าในประเทศไทยเสียแล้ว ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยมีการหาเสียงโดยอวดความสามารถของตนในการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อราคาข้าวของแพง ด้วยการประกาศให้สัญญาที่จะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นในระหว่าง 40% ถึง 75% ทีเดียว
**จากคำมั่นสัญญามาสู่สภาพความเป็นจริง**
ขณะที่ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยมักนิยมพรรณนากันว่าเป็นชัยชนะชนิดถล่มทลาย แต่รัฐบาลผสมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอและมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีอายุสั้น
พวกนักลงทุนต่างชาติได้เทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทยไปเป็นมูลค่ากว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ตอนที่เริ่มปรากฏออกมาในต้นเดือนพฤษภาคมว่าพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำในการหยั่งเสียงความนิยมของสำนักโพลต่างๆ พวกวานิชธนกิจระหว่างประเทศต่างแนะนำลูกค้าให้ขายหุ้นไทยก่อนหน้าการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นการลงคะแนนล่วงหน้าอย่างทรงพลังว่าไม่เชื่อน้ำมนตร์รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยว่าจะสามารถประคับประคองรักษาเสถียรภาพทางการเมือง ตลอดจนสามารถบริหารจัดการเศรษฐกิจได้
แต่เมื่อมองกันว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจน่าที่จะเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ ตลาดหลักทรัพย์ก็ดีดตัวกลับขึ้นมาร่วมๆ 5%ในวันถัดจากวันลงคะแนน กระนั้นก็ตามที พวกนักวิเคราะห์เศรษฐกิจเตือนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะถูกบังคับเร่งรัดเอาแบบระบบราชการ ตลอดจนได้รับคำแนะนำชนิดแย่ๆ ในทางการคลัง ให้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาแบบนักประชานิยมทุกๆ ประการที่พรรคของเธอได้ให้ไว้ตลอดเส้นทางการหาเสียง ซึ่งรวมทั้งการแจกจ่ายคอมพิวเตอร์แท็บเลตฟรีๆ ให้แก่นักเรียนทุกๆ คนทั้ง 8 ล้านคนทั่วประเทศ และการประกันราคาข้าวซึ่งสูงกว่าระดับปัจจุบันในตลาดเกือบเท่าตัว
ฌอน ดับเบิลยู คริสพิน เป็นบรรณาธิการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของเอเชียไทมส์ออนไลน์
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
Changing of the guard in Thailand
By Shawn W Crispin
05/07/2011
สัญญาณต่างๆ เท่าที่ปรากฏจวบจนถึงบัดนี้ ล้วนบ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนถ่ายอำนาจอย่างราบรื่นในประเทศไทย ภายหลังที่พรรคเพื่อไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ถูกโค่นลงจากอำนาจ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องปราชัยอย่างยับเยินอีกคำรบหนึ่งในการเลือกตั้งทั่วไป อย่างไรก็ดี เสถียรภาพทางการเมืองของไทยในอนาคตนั้น สิ่งที่จะมีบทบาทในการตัดสินเป็นอย่างมากทีเดียว ได้แก่การที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งก็คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะดำเนินการอย่างจริงจังเพียงใดและอย่างรวดเร็วแค่ไหน ในการผลักดันให้มีการประกาศนิรโทษกรรม ซึ่งจะแผ้วถางทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านโดยไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใดๆ
*รายงานข่าวชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *
กรุงเทพฯ – ด้วยการรณรงค์หาเสียงที่มีการเตรียมบทเอาไว้ให้เดินอย่างเข้มงวดและมีเงินสนับสนุนอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง พรรคเพื่อไทยของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็สามารถกวาดที่นั่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา และทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องประสบความปราชัยอย่างยับเยินอีกคำรบหนึ่ง ถึงแม้มีความวิตกกังวลกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการก่อรัฐประหารยึดอำนาจภายหลังทราบผลการเลือกตั้ง หรือไม่ก็มีการลุกฮือก่อความปั่นป่วนวุ่นวายตามท้องถนน ทว่าสัญญาณต่างๆ เท่าที่ปรากฏให้เห็นจวบจนถึงบัดนี้ ล้วนบ่งชี้ว่าจะมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจตามแบบแผนของระบอบประชาธิปไตยด้วยความราบรื่น
ขณะที่ข้อตกลงรอมชอมระหว่างตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ, ฝ่ายทหาร, และฝ่ายอื่นๆ ที่ทำกันไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งมีเงื่อนไขที่เป็นการเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยสามารถที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ (ดูเรื่อง The deal behind Thailand's polls, Asia Times Online, June 30, 2011) ยังคงได้รับการรักษาเอาไว้อย่างน้อยก็ในระยะเวลาเฉพาะหน้าภายหลังการเลือกตั้ง กระนั้นก็มีความเป็นไปได้อยู่มาก ที่ในช่วงไม่กี่เดือนต่อจากนี้ไป จะเกิดภาวะไร้เสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น เมื่อพรรคเพื่อไทยมีการเคลื่อนไหวเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำมั่นสัญญาจำนวนมากที่ให้ไว้ในช่วงรณรงค์หาเสียง หนึ่งในสัญญาเหล่านี้ก็ย่อมรวมถึงการนิรโทษกรรมให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกศาลไทยตัดสินลงโทษจำคุกด้วยความผิดทางอาญา ทั้งนี้การนิรโทษกรรมจะใช้ข้ออ้างเหตุผลในเรื่องการสร้างความปรองดองขึ้นภายในชาติ
ในการเลือกตั้งคราวนี้ พรรคเพื่อไทยนำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถือว่าเป็นมือใหม่เพิ่งย่างก้าวเข้าสู่วงการเมืองอย่างเต็มตัว แต่ก็สามารถกำชัยชนะได้ที่นั่ง ส.ส. 265 ที่นั่งจากที่มีให้ชิงชัยกันที้งสิ้น 500 ที่นั่ง ทิ้งห่างอันดับสองอย่างพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้เพียง 159 ที่นั่ง ต่อมาเมื่อวันจันทร์(4) น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ประกาศแผนการที่จะจัดตั้งคณะรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยพรรคการเมือง 5 พรรค ซึ่งถ้าหากทำได้สำเร็จก็จะมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 299 ที่นั่ง ตัวเลขเหล่านี้อาจลดน้อยลงไปหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสินลงโทษผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งบางคนด้วยเหตุผลว่ากระทำการทุจริตผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งนี้ในเวลานี้ยังไม่ทราบว่าผู้ชนะที่จะไม่ได้รับการรับรองหล่านี้จะเป็นจำนวนเท่าใด แต่คณะกรรมการกำลังพิจารณาวินิจฉัยคำร้องเรียนต่างๆ รวม 190 คำร้อง และเมื่อดูจากในอดีตที่ผ่านมา ก็อาจจะมีผู้สมัครที่ไม่ได้รับการรับรองจำนวนหลายสิบคนทีเดียว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ รณรงค์หาเสียงโดยอาศัยทั้งคำมั่นสัญญาแบบนักประชานิยม ทั้งการผลักดันให้เกิดการปรองดองในชาติ ตลอดจนนามสกุลของเธอเองผสมผสานกัน ถึงแม้การที่เธอก้าวขึ้นไปเป็นผู้สมัครอันดับหนึ่งของพรรคเพื่อไทยตลอดจนภูมิหลังความเป็นมาของเธอ บ่งบอกให้เห็นถึงลัทธิเล่นพรรคเล่นพวกเอาแต่วงศาคณาญาติ ทว่าพวกมือประชาสัมพันธ์ของพรรคนี้ก็ดูจะประสบความสำเร็จในการใช้ความไร้ประสบการณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์มาเป็นจุดขายอันแข็งแกร่ง ขณะที่พวกสื่อมวลชนท้องถิ่นและคอมเมนเตเตอร์ต่างชาติ ต่างแสดงความชื่นชอบต่อรูปร่างหน้าตาของเธอ, ความเป็นผู้หญิงของเธอ, ตลอดจนโปสเตอร์หาเสียงที่จัดทำอย่างประณีตเนี๊ยบเนียน พ.ต.ท.ทักษิณนั้นได้ระบุอ้างอิงถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าเป็น “โคลน” (clone) ของเขา ในระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายต่อหลายครั้งจากนครดูไบที่เขาใช้เป็นที่พำนักลี้ภัยของตนเอง ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศว่าเขาคือมันสมองที่อยู่เบื้องหลังการลงสมัครและการรณรงค์หาเสียงของเธอนั่นเอง
กระนั้นก็ตาม รูปทรงของการลงคะแนนในการเลือกตั้งคราวนี้ก็ดำเนินไปในลักษณะที่สอดคล้องกับการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา โดยที่พรรคการเมืองซึ่งสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถควบคุมเสียงในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีจำนวนประชากรมากกว่าภาคอื่นๆ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ก็ดึงดูดผู้ออกเสียงได้อย่างเหนียวแน่นในเขตเมืองหลวงและทางภาคใต้ที่มีจำนวนประชากรน้อยกว่า นักวิเคราะห์บางคนอธิบายตีความชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในคราวนี้ว่า คือการที่ประชาชนคนยากคนจนในชนบทลงคะแนนเสียงสั่งสอนพรรคประชาธิปไตยที่ได้รับการหนุนหลังจากพวกชนชั้นนำในเขตเมืองใหญ่ ทว่าเมื่อดูจากผลการลงคะแนนตามพื้นที่ต่างๆ แล้ว กลับแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การลงคะแนนเป็นไปตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์มากกว่าจะเป็นเรื่องของความคิดอุดมการณ์ พรรคขนาดใหญ่ทั้งสองต่างยังคงสามารถรักษากลไกทางการเมืองอันน่าเกรงขามในฐานที่มั่นทางภูมิศาสตร์ของตนเองเอาไว้ได้อย่างมั่นคง
อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ดูจะมีจุดอ่อนอยู่ใน 2 แนวรบที่สำคัญมาก กล่าวคือ พรรคประสบความล้มเหลวในการเข้ายึดเขตที่ราบลุ่มภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวและก็เป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่การลงคะแนนเสียงอยู่ในลักษณะเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา พรรคประชาธิปัตย์จึงเล็งเป็นเป้าหมายเอาไว้ขณะครองอำนาจเป็นรัฐบาล โดยมุ่งที่จะใช้นโยบายแบบประชานิยมของตน เป็นต้นว่า โครงการประกันราคาข้าว ซึ่งคาดหมายว่าจะสามารถเรียกคะแนนเสียงจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวได้เป็นกอบเป็นกำ ในอีกแนวรบหนึ่ง พรรคภูมิใจไทย ที่เป็นพันธมิตรอย่างหลวมๆ ของประชาธิปัตย์ ก็ทำได้ต่ำกว่าการคาดหมายในความพยายามที่จะช่วงชิงแบ่งคะแนนเสียงจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่แตกออกมาจากพรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุนทักษฺณเมื่อปี 2008
นอกจากนั้นแล้ว ช่วงเวลาของการลงคะแนนเสียงก็ดูไม่เป็นใจให้แก่พรรคประชาธิปัตย์เอาเลย พวกนักวิเคราะห์เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ปล่อยโอกาสให้หลุดลอยไปเปล่าๆ ปลี้ๆ จากการที่ไม่รีบจัดการเลือกตั้งเสียตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ ซึ่งยังจะสามารถใช้ประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจอันสดใสของปีที่แล้วที่กระเตื้องดีดตัวพ้นออกจากวิกฤตระดับโลก มาช่วยให้ตนเองเป็นฝ่ายได้เปรียบในการโหวต แต่เมื่อรอคอยมาจนถึงเวลาที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีผู้บัดนี้กลายเป็นผู้แพ้พ่ายไปแล้ว ประกาศจัดการเลือกตั้งขึ้นมานั้น ก็ปรากฏว่าราคาสินค้าต่างๆ ที่ขยับสูงขึ้นตามแรงขับดันระดับโลก ได้สำแดงฤทธิ์ส่งผลกระทบลงไปจนถึงระดับรากหญ้าในประเทศไทยเสียแล้ว ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยมีการหาเสียงโดยอวดความสามารถของตนในการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อราคาข้าวของแพง ด้วยการประกาศให้สัญญาที่จะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นในระหว่าง 40% ถึง 75% ทีเดียว
**จากคำมั่นสัญญามาสู่สภาพความเป็นจริง**
ขณะที่ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยมักนิยมพรรณนากันว่าเป็นชัยชนะชนิดถล่มทลาย แต่รัฐบาลผสมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอและมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีอายุสั้น
พวกนักลงทุนต่างชาติได้เทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทยไปเป็นมูลค่ากว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ตอนที่เริ่มปรากฏออกมาในต้นเดือนพฤษภาคมว่าพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำในการหยั่งเสียงความนิยมของสำนักโพลต่างๆ พวกวานิชธนกิจระหว่างประเทศต่างแนะนำลูกค้าให้ขายหุ้นไทยก่อนหน้าการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นการลงคะแนนล่วงหน้าอย่างทรงพลังว่าไม่เชื่อน้ำมนตร์รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยว่าจะสามารถประคับประคองรักษาเสถียรภาพทางการเมือง ตลอดจนสามารถบริหารจัดการเศรษฐกิจได้
แต่เมื่อมองกันว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจน่าที่จะเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ ตลาดหลักทรัพย์ก็ดีดตัวกลับขึ้นมาร่วมๆ 5%ในวันถัดจากวันลงคะแนน กระนั้นก็ตามที พวกนักวิเคราะห์เศรษฐกิจเตือนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะถูกบังคับเร่งรัดเอาแบบระบบราชการ ตลอดจนได้รับคำแนะนำชนิดแย่ๆ ในทางการคลัง ให้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาแบบนักประชานิยมทุกๆ ประการที่พรรคของเธอได้ให้ไว้ตลอดเส้นทางการหาเสียง ซึ่งรวมทั้งการแจกจ่ายคอมพิวเตอร์แท็บเลตฟรีๆ ให้แก่นักเรียนทุกๆ คนทั้ง 8 ล้านคนทั่วประเทศ และการประกันราคาข้าวซึ่งสูงกว่าระดับปัจจุบันในตลาดเกือบเท่าตัว
ฌอน ดับเบิลยู คริสพิน เป็นบรรณาธิการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของเอเชียไทมส์ออนไลน์
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)