xs
xsm
sm
md
lg

‘ประชาธิปไตย’ของไทยจะเดินไปทางไหน (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ฌอน ดับเบิลยู คริสพิน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Do or die for Thai democracy
By Shawn W Crispin
12/04/2011

ในขณะที่ประเทศไทยเดินมาถึงหลักหมายครบรอบ 1 ปีภายหลังการเสียชีวิตและความเสียหายจากการประท้วงของ “พวกเสื้อแดง” การแข่งขันในการเลือกตั้งซึ่งเป็นที่คาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่าจะเป็นการชิงชัยกันอย่างเข้มข้นระหว่างกลุ่มพลังงานทางการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้เนรเทศตนเองไปอยู่ในต่างแดน กับพรรคประชาธิปัตย์ของนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็กำลังตั้งเค้าก่อตัวขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดเจน คำถามที่ใหญ่โตยิ่งกว่านั้นเสียอีกก็คือว่า ฝ่ายที่เป็นผู้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งจะยอมรับการปราชัยของพวกตนหรือไม่ ในยามที่หากมีสัญญาณใดๆ ของความปั่นป่วนวุ่นวายปรากฏขึ้นมาให้เห็น ก็อาจกลายเป็นการเร่งให้ฝ่ายทหารเข้ามายึดอำนาจและระงับใช้ระบอบประชาธิปไตย

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

การเข้ามาแทรกแซงของพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งรวมถึงเกมการรอคอยอันยืดเยื้อในเรื่องที่ว่าเขาจะแต่งตั้งใครให้เป็นผู้นำพรรคเพื่อไทยเข้าชิงชัยในการเลือกตั้งคราวต่อไปนี้ กำลังทำให้พรรคนี้เกิดการแตกแยกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ที่แข่งขันกันเอง จนมีนักวิเคราะห์บางคนประเมินว่าอาจถึงขั้นทำให้เกิดการแปรพักตร์ยกกันไปอยู่กับพรรคอื่นในช่วงก่อนการเลือกตั้งได้ทีเดียว แต่ในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณเองนั้น ดูจะมีความเป็นไปได้มากขึ้นทุกทีว่าเขาจะเลือกนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวผู้ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ทางการเมืองของเขา มากกว่านายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ ทั้งนี้ก็เพื่อพยายามที่จะควบคุมพรรคและวาระของพรรคเอาไว้อย่างแน่นหนาต่อไป โดยที่วาระสำคัญของพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องรวมถึงการผลักดันให้เขาได้รับการนิรโทษกรรมและสามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้โดยปราศจากความผิดติดตัว

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตโฆษกของ พ.ต.ท.ทักษิณ และอดีตรัฐมนตรียุติธรรม ได้บอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า ผลโพลหยั่งเสียงที่จัดทำเป็นการภายในของพรรคเพื่อไทย แสดงให้เห็นว่าพรรคจะได้ที่นั่งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ 30 ที่นั่ง ถึงแม้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจากการประมาณการดังกล่าวมีความหมายไปถึงขั้นที่ว่า พรรคเพื่อไทยจะสามารถครองที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งซึ่งจะทำให้จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้หรือไม่ สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นที่เป็นอิสระของหลายๆ สำนักนั้นชี้ว่า เพื่อไทยน่าจะกวาดที่นั่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด ขณะที่จะแบ่งที่นั่งในภาคเหนือและภาคกลางกับพรรคประชาธิปัตย์ตลอดจนพรรคอื่นๆ และจะได้ที่นั่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในกรุงเทพมหานคร

ทางด้านนายกอบศักดิ์ สภาวสุ นักยุทธศาสตร์การเลือกตั้งระดับท็อปของพรรคประชาธิปัตย์ทำนายว่า พรรคของเขาจะทำได้ดีกว่าเมื่อปี 2007 ตอนที่เข้าป้ายเป็นอันดับ 2 รองจากพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคสนับสนุนทักษิณที่มีมาก่อนพรรคเพื่อไทย นายกอบศักดิ์เชื่อว่าวิกฤตด้านการนำของพรรคเพื่อไทยจะส่งผลทำให้พรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์เป็นฝ่ายได้เปรียบในการเลือกตั้ง นอกจากนั้นเขายังคาดหมายว่า การแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งเมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งเพิ่มจำนวน ส.ส.ตามบัญชีรายชื่อ และลดจำนวน ส.ส.เขตลงมา ตลอดจนการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ที่กำลังดำเนินการกันอยู่ ต่างก็จะเป็นประโยชน์ของผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ยังกำลังได้แต้มจากภาวะเศรษฐกิจที่ไปได้อย่างสดใส โดยที่อัตราการเติบโตของจีดีพีได้ดีดตัวขึ้นมาจาก -2.3% ในปี 2009 เป็น 7.8% ในปีที่แล้ว ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากในช่วงไม่กี่เดือนหลังมานี้กำลังทำให้เครดิตดังกล่าวมีอันลดถอยน้อยลงไปมากก็ตามที นายกอบศักดิ์เชื่อว่านโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่เป็นนโยบายช่วยเหลือคนยากจน เป็นต้นว่ามาตรการสนับสนุนราคาข้าวของชาวนา, การให้เงินรายเดือนแก่ผู้ชรา, ตลอดจนชุดนโยบายทางด้านการกำหนดเพดานราคาและการให้การอุดหนุนด้านต่างๆ จะส่งผลกลายเป็นลดเสน่ห์ดึงดูดใจของข้อเสนอแบบประชานิยมในอดีตของ พ.ต.ท.ทักษิณ และจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ชนะใจได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนระดับรากหญ้าเพิ่มมากขึ้น

**จะยอมรับความพ่ายแพ้กันไหม**

สืบเนื่องจากมีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่าการแข่งขันจะเป็นไปอย่างคู่คี่มากๆ คำถามที่ฉกาจฉกรรจ์ยิ่งกว่าด้วยซ้ำจึงกลับอยู่ตรงที่ว่า ฝ่ายที่เป็นผู้พ่ายแพ้จะยอมรับความปราชัย และยินยอมให้พรรคที่เป็นฝ่ายปรปักษ์สามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดต่อไปได้อย่างเสรีหรือไม่ พวกที่คุ้นเคยกับสถานการณ์เป็นอย่างดีชี้ว่า เป็นเพราะความสำคัญของแง่มุมนี้นั่นเอง ฝ่ายทหารจึงไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในระหว่างการทำความตกลง “ปรองดองผ่านการเลือกตั้ง” ซึ่งค่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้เห็นชอบร่วมกันในที่สุดเมื่อปลายปีที่แล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมาแถลงว่าเขาสนับสนุนการเลือกตั้ง และยินดีที่จะก้าวลงจากเก้าอี้ถ้าหากพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลและต้องการให้เขาพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ทั้งนี้เห็นกันว่า มีความเป็นไปได้ที่ว่าคณะรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่พรรคนี้นำโดยน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะดำเนินการให้มีการสอบสวนกันใหม่ในเรื่องที่กล่าวหากันว่า พล.อ.ประยุทธ์ และนายอภิสิทธิ์ มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการสังหารพวกผู้ประท้วงของ นปช.หลายสิบคนในปีที่แล้ว

ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์จะออกมากล่าวยืนยันต่อสาธารณชนอยู่หลายครั้งแล้วก็ตามที แต่ภาพสมมุติสถานการณ์ดังกล่าวก็ยังคงก่อให้เกิดความวิตกกังวลขึ้นมาอยู่ดี เนื่องจากมีแง่มุมที่ว่าฝ่ายทหารอาจมองเห็นข้อดีในการที่จะล้มเลิกการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีเป็นที่ชัดเจนมากขึ้นว่า การเลือกตั้งคราวนี้พรรคเพื่อไทยจะเป็นฝ่ายได้ชัยชนะอย่างงดงาม ผลการหยั่งเสียงสำรวจความคิดเห็นของประชาชนซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ที่เป็นหน่วยงานปฏิบัติการลับๆ ของฝ่ายทหาร จัดทำขึ้นอย่างเป็นการภายในในระยะไม่กี่สัปดาห์มานี้ แสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ที่นั่ง ส.ส.มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ประมาณ 10 ที่นั่ง ทั้งนี้ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าวรายหนึ่งที่ได้เห็นผลโพลคราวนี้

ในอดีตที่ผ่านมา ทหารเคยแสดงบทบาทเป็นผู้ค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัยให้แก่การเลือกตั้งครั้งต่างๆ ในประเทศไทย ทว่าสำหรับบริบททางการเมืองในปัจจุบัน ทหารที่ถูกส่งออกไปประจำตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ สามารถตกเป็นเป้าหมายของการถูกกล่าวหา (ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาแบบมุ่งสร้างเรื่องหรือแบบชอบธรรมสมเหตุสมผลก็ตามที) ได้อย่างง่ายๆ ว่า มีพฤติกรรมโกงการเลือกตั้ง หรือมีการขัดขวางการใช้สิทธิ์ของผู้ออกเสียง

ความเสี่ยงที่การเลือกตั้งจะตกอยู่ใน “ภาวะหลอมละลาย” ดูจะเพิ่มมากขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อรัฐบาลปฏิเสธด้วยเหตุผลแบบลัทธิชาตินิยม ไม่ยอมรับข้อเสนอขอให้มีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งระหว่างประเทศ เข้ามาทำหน้าที่เป็นฝ่ายอิสระในการจับตาติดตามการลงคะแนนคราวนี้ด้วย

ทางพรรคเพื่อไทยนั้นก็กำลังพยายามรวบรวมจัดตั้งหน่วยสังเกตการณ์การเลือกตั้งของตนเองขึ้นมา เพื่อวินิจฉัยจากมุมมองของตนว่า การแข่งขันชิงชัยกันที่คาดหมายกันว่าจะเป็นไปอย่างคู่คี่มากนั้น ดำเนินไปโดยที่มีสิ่งผิดปกติหรือไม่ พันธมิตรของ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างนายพงศ์เทพ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ถ้าหากการเลือกตั้งมีการใช้กลโกงต่างๆ มาเล่นงานผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็จะก่อให้เกิด “ความหายนะ” ขึ้นมาได้ นอกจากนั้น นปช. ก็ “จะไม่ยืนอยู่เฉยๆ” ด้วย ถ้าหากมีการแทรกแซงของฝ่ายทหารในการจัดตั้งรัฐบาลชุดต่อไป

มีผู้สังเกตการณ์อิสระบางรายแสดงความกังวลว่า กอ.รมน.อาจจะร่วมมือประสานงานหรือกระทั่งสร้างกลุ่มคนสวมเสื้อแดงขึ้นมา และอาจมีการระดมกลุ่มคนเหล่านี้มาทำลายการเลือกตั้งโดยแอบอ้างว่าเป็นฝีมือของฝ่ายนิยม พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นต้นว่า ระหว่างการเสนอผลงานวิจัยของเขาในกรุงเทพฯเมื่อเร็วๆ นี้ เคลาดิโอ โซปรันเซตตี (Claudio Sopranzetti) นักศึกษาปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เวลานี้ กอ.รมน.เป็นผู้จ่ายเงินค่าเช่าสำนักงานให้แก่สมาคมของพวกผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งหนึ่งซึ่งเป็นพวกที่ให้การสนับสนุน นปช.แต่ในนาม

ยังมีฝ่ายอื่นๆ ซึ่งมองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิด “การรัฐประหารทางการบริหาร” ที่ฝ่ายทหารให้การหนุนหลัง ในเงื่อนไขที่ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอันต้องสลายตัวไปอย่างฉับพลันทันด่วน โดยที่ก็ได้มีสมาชิกบางคนในคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน ออกมาระบุถึงความจำกัดของพวกตนในการจัดการเลือกตั้งคราวนี้อยู่แล้ว ทั้งนี้เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งยุบเลิกไป ก็จะก่อให้เกิดสูญญากาศในกระบวนวิธีดำเนินการ ซึ่งจำเป็นต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตัดสินก่อนจึงจะจัดการเลือกตั้งต่อไปได้ ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งสลายไปภายหลังมีการยุบสภาไปแล้ว ก็จะเกิดช่องโหว่ในทางทฤษฎีซึ่งเปิดทางให้มีการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการด้วยวิธีแต่งตั้งขึ้นมา เพื่อปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าปัญหากฎหมายในทางกระบวนวิธีดำเนินการ จะได้รับการแก้ไขให้ตกไป

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าภาพสมมุติสถานการณ์จะออกมาในลักษณะไหน แต่ถ้าในช่วงของการเลือกตั้งหรือก่อนหน้าการเลือกตั้ง สถานการณ์เกิดบานปลายจนกลายเป็นความปั่นป่วนวุ่นวายแล้ว ก็อาจจะกลายเป็นการเปิดให้ฝ่ายทหารเข้ายึดอำนาจและระงับใช้ระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่มีกำหนดโดยผ่านทางคณะรัฐบาลที่เกิดขึ้นมาจากการแต่งตั้ง สภาพเช่นนี้ดูจะสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เป็น “พวกเสื้อเหลือง” โดยที่ระหว่างการชุมนุมของพวกเขาในช่วงหลังๆ นี้ ได้มีการเรียกร้องให้หยุดระบอบการเมืองการเลือกตั้งเป็นเวลา 3 ปี 5 ปี

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งการชุมนุมของพวกเขากลายเป็นการปูทางให้แก่การขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณเมื่อปี 2006 ของฝ่ายทหารนั้น กลับประสบความล้มเหลวไม่สามารถดึงดูดผู้คนให้ออกมาเป็นจำนวนมากได้ ในระหว่างช่วงการต่อสู้ของพวกเขาในปัจจุบันที่มุ่งคัดค้านนโยบายของนายอภิสิทธิ์ในการจัดการกับกรณีพิพาทชายแดนที่มีอยู่กับกัมพูชา

เวลานี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า พวกเขาจะสามารถดึงดูดผู้คนได้เป็นจำนวนมากขึ้นหรือไม่ สำหรับการตั้งข้อกล่าวหาในเรื่องการเลือกตั้งที่ไม่ได้เกิดผลดีอะไรขึ้นมา และดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้ง แต่จากผลการหยั่งเสียงความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่านมา ยังคงแสดงให้เห็นอย่างสม่ำเสมอว่า การยึดอำนาจอีกครั้งของฝ่ายทหารจะไม่เป็นที่นิยมของประชาชนจำนวนมาก รวมไปถึงในหมู่ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯที่เคยให้การสนับสนุนการรัฐประหารในปี 2006 ด้วย ในการแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ข่าวลือเรื่องรัฐประหารที่พูดกันอย่างกว้างขวางทว่าไม่มีหลักฐานหนักแน่นอะไรสนับสนุนนั้น เมื่อเร็วๆ นี้นายอภิสิทธิ์ได้เล่นมุกกับพวกผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า พล.อ.ประยุทธ์ให้สัญญาไว้ว่าจะเตือนเขา “ล่วงหน้า” ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์วางแผนการโค่นล้มรัฐบาลของเขาก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง

นักการเมืองอาวุโสอีกผู้หนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ก็ยืนยันว่า พวกนายทหารระดับสูงของกองทัพนั้น “หวั่นผวาชนิดขี้หดตดหาย” เมื่อมีการพูดถึงภาพสมมุติสถานการณ์ที่พวกเขาจำเป็นจะต้องเข้าบริหารปกครองประเทศ สืบเนื่องจากคณะรัฐบาลที่แต่งตั้งขึ้นมาภายหลังการรัฐประหารในปี 2006 มีฝีมือการทำงานชนิดแย่สุดๆ กระนั้นก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์คือผู้บัญชาการทหารบกในปัจจุบัน และยังไม่มีใครทราบได้ว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไรแน่ๆ

ขณะที่การประกาศจัดการเลือกตั้งขึ้นมาก่อนกำหนดของนายอภิสิทธิ์ ได้ก่อให้เกิดความหวังที่ว่าประชาธิปไตยสามารถที่จะแก้ไขปัญหาทางการเมืองอันฝังรากลึกของประเทศไทยได้ แต่มันก็ดูเหมือนกับว่า การเลือกตั้งก็ได้ก่อให้เกิดผลไปในทิศทางที่เป็นการต่อต้านประชาธิปไตยอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน

ฌอน ดับเบิลยู คริสพิน เป็นบรรณาธิการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น