xs
xsm
sm
md
lg

ชาวกัมพูชาผู้ยากไร้ ‘ถูกขาย’ ไปต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ไมเคิล โทลสัน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Impoverished Cambodians For Sale
By Michelle Tolson
24/01/2014

สืบเนื่องจากสูญเสียที่ดินทำกิน, ติดหนี้ติดสิน, ได้ค่าจ้างต่ำ, และราคาน้ำมันตลอดจนค่าไฟฟ้าพุ่งขึ้นลิ่วๆ เหล่านี้กลายเป็นปัจจัยผลักดันให้คนหนุ่มคนสาวของกัมพูชาจำนวนมาก เดินทางออกไปทำมาหากินในต่างแดน โดยที่บางครั้งพวกเขาก็ประสบกับชะตากรรมอันสุดเลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นกรณีของผู้หญิงชาวเขมรในเกาหลีใต้หรือจีน หรือว่าผู้ชายซึ่งเดินทางไปเมืองไทยและทำงานบนเรือประมง

พนมเปญ – ผู้หญิงชาวกัมพูชาจำนวนมาก พากันเดินทางไปยังเกาหลีใต้หรือจีนด้วยความหวังที่จะได้แต่งงานสร้างฐานะ แต่แล้วพวกเธอกลับพบว่าตนเองถูกคัดเลือกเพื่อนำไปเป็นเมียน้อย นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานหลายรายระบุ ในเวลาเดียวกันนั้น ผู้ชายหนุ่มๆ ชาวเขมรซึ่งเดินทางไปเมืองไทย และได้งานบนเรือประมง ลงท้ายก็มักตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอกล่อบังคับให้ใช้ยาเสพติด

สืบเนื่องจากสูญเสียที่ดินทำกิน, ติดหนี้ติดสิน, ได้ค่าจ้างต่ำ, และราคาน้ำมันตลอดจนค่าไฟฟ้าพุ่งขึ้นลิ่วๆ เหล่านี้กำลังกลายเป็นปัจจัยผลักดันให้คนหนุ่มคนสาวจำนวนมาก เดินทางออกไปกัมพูชาที่แสนจะยากจน เพื่อไปหาลู่ทางทำมาหากินในต่างแดน โดยที่บางครั้งพวกเขาก็ประสบกับชะตากรรมอันสุดเลวร้าย

เงื่อนไขสภาพการทำงานที่แสนจะย่ำแย่ในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชาเอง มีแต่ยิ่งทำให้สถานการณ์การค้ามนุษย์เพื่อนำไปเป็นทาสแรงงานนี้ ยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้นไปอีก

โตลา เมือน (Tola Moeun) ผู้อำนวยการของ ศูนย์การศึกษาด้านกฎหมายเพื่อชุมชน (Community Legal Education Centre ใช้อักษรย่อว่า CLEC) กล่าวว่า ชาวนาที่อยู่ในชนบทมีจำนวนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของประชากรกัมพูชาทั้งหมด แต่พวกเขาเหล่านี้กลับกำลังติดหนี้ติดสินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากต้องกู้ยืมเงินที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูงลิบลิ่ว ผลก็คือ คนวัยหนุ่มสาวต่างต้องการออกจากบ้านไปหางานทำ ไปเสาะแสวงหาลู่ทางโอกาสที่ดีกว่า

เขาหยิบยกอุตสาหกรรมสิ่งทอของกัมพูชาขึ้นมาเป็นตัวอย่างด้วย โดยกล่าวว่าเนื่องจากอนาคตของคนงานในอุตสาหกรรมนี้ดูย่ำแย่เหลือเกิน ทำให้บ่อยครั้งทีเดียวพวกผู้หญิงตัดสินใจที่จะทำอะไรก็ได้เพื่อหลีกเลี่ยงชะตากรรมอันเลวร้ายนี้

“คนงานสิ่งทอที่เป็นผู้หญิง มักตัดสินใจเดินทางไปเกาหลีใต้ เพื่อหลีกหนีจากสถานการณ์ที่พวกเธอเผชิญอยู่ในกัมพูชา” โตลา เล่าให้ สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS) ฟัง

ศูนย์ CLEC ของโตลา ได้รับการติดต่อเป็นจำนวนมากจากพวกครอบครัวซึ่งลูกสาวเดินทางไป “แต่งงาน” กับผู้ชายชาวจีนและชาวเกาหลีใต้ แต่แล้วกลับพบว่าถูกหลอกลวง หรือไม่ก็เจอกับชีวิตแต่งงานที่ลำบากยากเข็ญ

โตลา เล่าว่า ครอบครัวของผู้หญิงเหล่านี้ยอมรับเงินที่จ่ายให้โดยพวกบริษัทนายหน้าหาคู่ โดยที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจสถานการณ์เอาเลย ความจริงกลับปรากฏออกมาว่า เมื่อผู้หญิงเขมรเหล่านี้ไปถึงเกาหลีใต้แล้ว พวกเธอก็ไม่ได้แต่งงานแต่งการอะไรทั้งนั้น หากแต่ถูกนำตัวไปเข้าแถวในห้องๆ หนึ่ง เพื่อรอให้ “สามี” มาเลือกตัว

“ผมเคยเดินทางไปเกาหลีใต้เมื่อปี 2011 แล้วได้รับคำอธิบายว่าพวกภรรยาชาวเกาหลีใต้นั้นไม่วิตกกังวลอะไรในเรื่องผู้หญิงทำงานทางเพศหรอก เนื่องจากฝ่ายสามีนั้นนิยมใช้วิธีมีเมียน้อยกันมากกว่า ดังนั้นเขาก็จะเลือกกับสาวเขมรสักคนหนึ่งมา ‘แต่งงาน’ด้วย” เขาบอก

“สำหรับในจีน ในเขตชนบทมีสภาพขาดแคลนผู้หญิงกันมาก ฝ่ายชายจึงต้องการได้ภรรยาสักคนนึงที่จะมาทำงานให้เขาโดยเขาไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ดังนั้นเธอจึงไม่เพียงตกอยู่ในฐานะเป็นแรงงานทาสเท่านั้น หากยังเป็นทาสบำเรอกามอีกด้วย” โตลา กล่าว

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าการไปแต่งงานในต่างแดนใช่ว่าจะมีแต่เรื่องหลอกลวงไปเสียทั้งหมด

ขณะที่ผู้หญิงวัย 24 ปีคนหนึ่งในกรุงพนมเปญ เล่าให้ทางสำนักข่าวไอพีเอสฟังว่า เธอรู้จักผู้หญิงมากมายที่ไปแต่งงานในต่างแดนโดยผ่านพวกสำนักงานนายหน้าหาคู่ แล้วก็ประสบความสำเร็จมีชีวิตสมรสที่ดี อย่างไรก็ตาม เธอได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากสำนักข่าวไอพีเอส เมื่อเกิดมีผู้หญิงอายุ 30 ปีคนหนึ่งถูกสำนักงานนายหน้าหาคู่กดดันตามติดไม่ยอมเลิก หลังจากที่เธอเปลี่ยนใจไม่ยอมรับข้อเสนอที่ได้มา ทั้งนี้สำนักงานนายหน้าหาคู่ยินยอมเลิกราไปในที่สุด หลังจากที่มีการเอ่ยถึงศูนย์ CLEC

“มีสาวชาวเขมรจำนวนมากที่ได้แต่งงานกับผู้ชายชาวเกาหลีใต้จริงๆ มันเป็นความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาจริงๆ แล้วก็มีคนที่จนจริงๆ ซึ่งมีประสบการณ์อย่างนี้ บางครั้งทางฝ่ายสาวเขมรเดินทางกลับบ้าน และก็สามารถสร้างบ้านให้พ่อแม่อยู่อาศัย และปรับปรุงยกระดับชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้น”

สำหรับหนุ่มๆ ชาวกัมพูชานั้น นิยมเดินทางไปประเทศไทยเพื่อทำงานในภาคก่อสร้าง, ในเรือประมง, หรือในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ การดำเนินการในเรื่องนี้มีทั้งที่ทำกันแบบเป็นทางการ มีการใช้สำนักงานนายหน้าจัดหางานซึ่งจะติดต่อขอวีซ่าเข้าเมืองให้ และก็มีที่ทำแบบแรงงานเถื่อนผิดกฎหมาย

โตลา เล่าว่า “ในกรณีที่เป็นการเสนองานให้แบบผิดกฎหมายนั้น พวกนักจัดหาแรงงานจะติดต่อมาและพูดจาชักชวนว่า ‘อยากทำงานไหม’ จากนั้นหนุ่มๆ ที่ตกลงก็จะถูกส่งตัวลักลอบข้ามชายแดนในตอนกลางคืน โดยไม่มีการผ่านด่านตรวจหรอก แต่ใช้วิธีแอบซ่อนอยู่ด้านหลังของรถบรรทุก ต้องนอนนิ่งศีรษะไปชนหัวแม่เท้าของอีกคนหนึ่ง จากนั้นก็ถูกข้าวของที่กำลังขนส่งอยู่ปกคลุมทับซุกซ่อนตัวเอาไว้”

พราห์ม เพรสส์ (Brahm Press) แห่งมูลนิธิรักษ์ไทย (Raks Thai Foundation) องค์การที่คอยช่วยเหลือพวกคนงานอพยพ บอกว่าปัญหาส่วนใหญ่ที่สุดจะเกิดขึ้นเมื่อสัญญาทำงานของคนงานกัมพูชารายนั้นๆ สิ้นสุดลง

“ณ เดือนกรกฎาคม 2013 มีชาวกัมพูชาจดทะเบียนทำงานในกรุงเทพฯอยู่ประมาณ 8,000 คน ในจำนวนนี้ 5,000 คนเป็นชาย และที่เป็นเหลือเป็นหญิง พวกเขาน่าจะทำงานอยู่ในภาคก่อสร้างกันทั้งหมด ผมได้ยินมาว่าหลังจากถูกหักค่าธรรมเนียมสำหรับพวกบริษัทจัดหางานและค่าเช่าบ้านแล้ว พวกเขาจะเหลือเงินกันไม่ถึงระดับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน” เพรสส์ กล่าวกับสำนักข่าวไอพีเอส

เขาชี้ว่าปัญหามักเกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดในเรื่องการจัดหางานและค่าธรรมเนียมของพวกสำนักงานจัดหางาน หรือไม่ก็ในกรณีที่หนังสือเดินทางของคนงานถูกยึดเอาไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่าคนงานจะต้องยอมจ่ายหนี้สินค่าธรรมเนียมจัดหางาน

เมื่อเร็วๆ นี้มีหนุ่มสาวชาวเขมร 11 คน เป็นชาย 11 และหญิง 2 ซึ่งมีอายุระหว่าง 15 ถึง 23 ปี เดินทางเข้าไทยโดยได้รับความช่วยเหลือจากพวกนายหน้า โดยที่คนงานเหล่านี้จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้คนละ 500 ดอลลาร์ สี โงน (Si Ngoun) พ่อของหนุ่มสาวเหล่านี้คนหนึ่งเล่าให้ไอพีเอสฟัง

“ทางนายหน้าให้สัญญาว่าจะได้งานดีๆ ทำ และได้ค่าแรงดีๆ คนละ 300 บาทต่อวัน”

ปรากฏว่าพวกเขาถูกส่งตัวไปทำงานอยู่ 2 เดือนที่โรงงานทำยางรัด จากนั้นก็ย้ายไปอยู่โรงงานช่างโลหะ และสุดท้ายจึงไปทำงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นจุดที่พวกเขาเริ่มประสบปัญหา

“เราได้เงินค่าแรงแค่นิดเดียวเอง ราวๆ วันละ 120 บาท เราเลยไม่อยากทำงานต่อไปอีก เพราะเราต้องอดอยากกันมากเกินไป” สี เปสิธ (Si Pesith) วัย 20 ปี ซึ่งเป็นคนงานในกลุ่มนี้คนหนึ่งบอกกับไอพีเอส

โตลากล่าวว่า คนงานเหล่านี้ร้องขออาหารและแสดงการประท้วงด้วย แต่ถูกนายจ้างแจ้งความและถูกจับตัวไปคุมขังในข้อหาเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ปกติแล้วพวกเขาต้องถูกจองจำนาน 6 ถึง 9 เดือน แต่เอกอัครราชทูตกัมพูชา ยู อาย (You Ay) เข้ามาแทรกแซง พวกเขาจึงถูกส่งตัวกลับบ้านภายในเวลา 1 สัปดาห์

ไอพีเอสได้พูดกับ เปสิธ หลังจากเขาถูกส่งตัวกลับมากัมพูชาแล้ว เขาบอกว่า “ถ้าเราเปรียบเทียบงานที่ทำในไทยกับที่ทำในเขมร มันก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกันนักหรอก”

อันที่จริงแล้ว เรือประมงในไทยถูกตีตราเอาไว้โดยรายงานการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (US State Department Trafficking in Persons (TIP) Report) ด้วยซ้ำว่า เป็นพวกที่อาจหลอกลวงค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงาน โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ผู้อพยพชาวกัมพูชา

เพรสส์แห่งมูลนิธิรักษ์ไทยกล่าวว่า สภาพการทำงานบนเรือประมงนั้นขึ้นชื่อฉาวโฉ่ว่ายากลำบากแก่การติดตามตรวจสอบ การทำงานเช่นนั้นยังถูกเชื่อมโยงกับการใช้ยาเสพติดด้วย เนื่องจากพวกผู้ใช้แรงงานจะต้องอดทนทำงานให้ได้ตลอดทั้งกะ ซึ่งกะหนึ่งๆ อาจจะนานถึง 20 ชั่วโมงทีเดียว

“เมื่อมีการใช้พวกผู้อพยพเข้าแทนที่แรงงานคนไทยส่วนใหญ่บนเรือ โดยตอนแรกจะใช้ชาวพม่ากัน จากนั้นก็หันมาใช้ชาวกัมพูชา ยาเสพติดจำพวกแอมเฟตามีน (amphetamine) ก็ถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง” เขาเล่า

“ตอนแรกๆ มันคือยาม้า ซึ่งถือว่าอ่อนกว่าพวกยาบ้าในเวลานี้ แต่ก็ทำให้เสพติดได้พอๆ กัน ระหว่างช่วงทศวรรษที่แล้วมีรายงานที่เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า ตอนแรกทีเดียวพวกคนงานอพยพบนเรือประมงเป็นฝ่ายสมัครใจขอเสพยาม้า จากนั้นก็มีเรื่องราวของไต้ก๋งเรือต่างๆ นำเอายาม้ามาผสมไว้ในน้ำดื่ม” เพรสส์ บอก อย่างไรก็ดี เขาระบุว่าเรื่องราวแบบนี้กลับปรากฏลดน้อยลงไปแล้วในระยะหลังๆ

ทางด้าน อีเลียต อัลเบอร์ส (Eliot Albers) ผู้อำนวยการบริหารขององค์การ เครือข่ายนานาชาติของผู้ใช้ยาเสพติด (International Network of People who Use Drugs ใช้อักษรย่อว่า INPUD) บอกว่า การที่ทางการถือว่าการใช้ยาเสพติดเป็นอาชญากรรม ทำให้มีความลำบากมากขึ้นในการช่วยเหลือผู้เสพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้เสพเป็นผู้อพยพ

“ความยากจนและการถูกล่วงละเมิดเอารัดเอาเปรียบในเรื่องแรงงาน เป็นสาเหตุทำให้ผู้คนมีความสัมพันธ์กับยาเสพติดอย่างเลวร้ายมากขึ้น พวกเขาเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากการถูกละเมิดทางด้านแรงงาน และยาเสพติดก็ช่วยให้พวกเขาผ่านเวลาในแต่ละวันไปได้” อัลเบอร์ส บอกกับไอพีเอส

พวกคนงานอพยพนั้นไม่มีสหภาพแรงงานที่คอยเป็นตัวแทนของพวกเขา จึงยิ่งทำให้พวกเขาอ่อนแอถูกเอารัดเอาเปรียบได้อย่างง่ายดายเป็นพิเศษ ถ้าหากพวกเขาต้องการเป็นคนงานที่เข้าเมืองมาอย่างถูกต้องเป็นทางการ กระบวนการในการเข้าเมืองก็มีราคาแพงมาก (อาจจะสูงถึง 700 ดอลลาร์ต่อคน) โดยที่จะต้องพึ่งพาอาศัยพวกนายหน้าจัดหางานและต้องไปกู้หนี้ยืมสิน แต่ถ้าหากพวกเขาเป็นแรงงานเถื่อน ก็จะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า ทว่าพวกเขามีความเสี่ยงที่จะถูกตำรวจไทยจับกุมคุมขังและถูกเนรเทศ ถ้าหากพวกเขาร้องทุกข์เรื่องสภาพการทำงาน

แต่แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เหล่านี้ บ่อยครั้งทีเดียวที่พวกคนงานซึ่งถูกเนรเทศส่งตัวกลับบ้าน ยังคงหาทางออกไปจากกัมพูชากันอีก

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจาก สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) http://www.ipsnews.net ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศที่มีสำนักข่าวระดับโลกเป็นแกนกลาง ไอพีเอสซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1964 มีความชำนาญเป็นพิเศษในการเสนอข่าวด้านพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ, สิทธิมนุษยชน, สิ่งแวดล้อม, และนโยบายการต่างประเทศของพวกมหาอำนาจพัฒนาแล้ว ในแง่มุมของการที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับพวกประเทศกำลังพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น