ท่ามกลางตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง นอกจากความตึงเครียดจากการทำงานอันกดดัน การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรม ตลอดจนระบบและระเบียบภายในองค์กรแล้ว พนักงานยุคใหม่ที่คาดหวังจะเติบโตในองค์กรและฉายแสงศักยภาพในตัวต้องมีการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต (Life Skill) ส่วนบุคคลด้วย
จากการศึกษาโดยบริษัท APM Group พบว่า แนวโน้มความต้องการด้านแรงงานในองค์กรยุคใหม่จะเน้นบุคลากรที่มีทักษะการใช้ชีวิต (Life Skills) มากกว่าทักษะด้านความรู้ (Knowledge Skills) เนื่องด้วยปัจจุบันอัตราการจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทมีมากขึ้น อีกทั้งการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายดาย ส่งผลให้ระดับความรู้ของคนยุคใหม่ไม่ได้แตกต่างกันมากแต่อย่างใด
พนักงานยุคใหม่ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ.2523-2542 หรือนักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษาต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะปัญหาการปรับตัวเมื่อเข้าทำงาน เช่น การสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า และลูกค้า การพัฒนาศักยภาพของตนเอง และการจัดการกับอารมณ์ หรือความกดดันที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องจากการที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอกน้อยกว่าอดีต โดยมีชีวิตในสังคมเสมือนจริง หรือสังคมออนไลน์เสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การสื่อสารแบบซึ่งหน้า (Confront) หรือการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในหลายบทบาทหน้าที่กลายเป็นเรื่องยาก
“กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ Generation Y เติบโตขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่รุดหน้า ชีวิตไม่อาจแยกขาดจาก Widescreen หรือจอภาพที่เชื่อมโยงชีวิตทำงานและเรื่องส่วนตัวเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้ขาดทักษะการใช้ชีวิตที่เอื้อประโยชน์ต่อการทำงาน ผลที่ได้คือขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หมกมุ่นแต่กับเนื้อหาข้อมูลที่ตนเองชื่นชอบ สิ่งนี้จึงทำให้บุคคลที่มี Life Skill มากกว่าคนอื่นกลายเป็นที่ต้องการของเหล่าบรรดา HR ในองค์กร เพราะเป็นคนที่ใส่ใจด้านการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น มีความยืดหยุ่น มั่นคงทางอารณ์ และพัฒนาได้” อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท APM Group กล่าว
APM Group จึงได้เสนอแนวทางในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่ม Generation Y โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต หรือ “Life Skill” เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้กลุ่มเจเนอเรชันวายปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จในระยะยาวต่อไป
1. การพัฒนาทางอารมณ์ (Coping with emotion) คือการพัฒนาให้บุคคลมีศักยภาพในการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเองเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา หรือการปฏิบัติงาน รวมถึงปัญหาที่ประสบในชีวิต
2. การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บุคคลคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลไม่ได้เริ่มจากการพัฒนากระบวนการคิด หากแต่ต้องเริ่มจาก “การฟัง” เนื่องจากจะนำมาซึ่งการสั่งสมข้อมูล การจำแนกข้อมูลอย่างเป็นระบบ และเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลที่ได้เป็นองค์ความรู้ในที่สุด
3. การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) กระบวนการคิดที่ดีต้องเกิดจากการคิดในสภาวะที่บุคคลมีความพร้อมทั้งทางด้านสติปัญญา อารมณ์ และสภาวะแวดล้อม เนื่องจากจะทำให้สามารถรังสรรค์ความคิดออกมาได้อย่างเป็นระบบ ปราศจากสิ่งรบกวนที่อาจทำให้เกิดการบิดเบือนทางความคิด ทั้งนี้จะต้องมีการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความพร้อมต่อสภาวการณ์ที่ต้องเผชิญในการทำงานอยู่เสมอ จุดย้ำสำคัญคือการคิดเชิงสร้างสรรค์ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด หรือปัจจัยทางพันธุกรรม หากแต่เป็นสิ่งที่ฝึกฝนและพัฒนาได้
4. การเตรียมพร้อมต่อสภาวะ “ความกดดัน” (Coping with stress) กลุ่ม Generation Y ไม่ได้เผชิญเฉพาะความกดดันจากงานเพียงเท่านั้น หากยังต้องเผชิญกับวัฒนธรรมที่แตกต่างของกลุ่มคนในรุ่นก่อนหน้าที่มีอยู่เดิมในองค์กร ซึ่งมีแนวคิด ค่านิยม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความกดดันที่ต้องเผชิญ กลุ่มเจเนอเรชันวายจะต้องมีการปรับตัวกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้องค์กรจะต้องเข้าใจและเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าว
5. การสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์ (Communication and Interactive) กับบุคลากรร่วมองค์กรและสังคมภายนอกเป็นสิ่งสำคัญ องค์กรที่มุ่งสู่ความสำเร็จในอนาคตต้องให้ความสำคัญต่อการสื่อสาร โดยเฉพาะการสื่อสารภายในองค์กร เนื่องจากเป็นพื้นฐานในการสังเคราะห์องค์ความรู้และการปฏิบัติงานในด้านอื่นๆ ต่อไป
6. การตัดสินใจอย่างชาญฉลาด (Decision Making) บุคลากรขององค์กรในทุกระดับต้องมีความสามารถในการตัดสินใจเลือกกระทำ เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องการข้อสรุป หรือแนวทางที่ชัดเจน “การตัดสินใจ” เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้บริหารตั้งแต่ระดับกลางถึงระดับสูงเป็นทักษะสำคัญที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่ม Generation Y ที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำขององค์กรต้องการอาศัย “การตัดสินใจอย่างชาญฉลาด”
7. การแก้ปัญหา (Problem solving) การแก้ปัญหาต้องอาศัยทักษะอื่นๆ จากทุกข้อที่กล่าวมาในข้างต้น เป็นรากฐานสำคัญในการมุ่งแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดจนสามารถนำพาองค์กรก้าวพ้นจากจุดวิกฤต หรือไต่ระดับสู่ความสำเร็จได้ในอนาคต
8. ความเข้าใจในผู้อื่น (Empathy) การรู้จักรับฟังและเข้าใจในความรู้สึกของผู้อื่นเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะทำให้องค์กรดำเนินไปอย่างราบรื่น ความสามารถในการเข้าใจความคิด ความรู้สึกของผู้อื่นจึงเป็นทักษะที่บุคลากรขององค์กรพึงมี ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรในระดับไหนล้วนแต่ต้องการความเข้าใจ ความเคารพซึ่งความเป็นมนุษย์และยอมรับในการมีอยู่ของบุคคล
“แนวทางข้างต้นเป็นทักษะสำคัญในการพัฒนาบุคคลไปสู่ศักยภาพสูงสุด ไม่เฉพาะแต่การทำงาน แต่รวมถึงการดำเนินชีวิต ท้ายที่สุดการพัฒนาศักยภาพของบุคคลให้ก้าวไปสู่ขีดสูงสุดต้องอาศัย Life Skill หรือทักษะการใช้ชีวิตเป็นสำคัญ เพราะจะเป็นมิติที่ทำให้บุคลากรและองค์กรเชื่อมผสานในวิสัยทัศน์ที่เป็นหนึ่งเดียว ส่งผลให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อเกิดแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังอันจะนำพาองค์ก้าวสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป” อริญญา เถลิงศรี กล่าวทิ้งท้าย