xs
xsm
sm
md
lg

สาเหตุที่ทำให้คนเรา อายุสั้นหรืออายุยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่านผู้อ่านครับ คนเราจะมีอายุยืนหรือไม่ ก็อาศัยปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่พันธุกรรม ไปจนถึงการดำเนินชีวิต เช่น

• คนที่กินอาหารที่มีพลังงานมาก พวกไขมัน แป้ง น้ำตาล จำนวนมาก จะทำให้อายุจะสั้นลง

• คนที่ได้รับอนุมูลอิสระเข้าไปในร่างกายจากสิ่งแวดล้อมมาก ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นในร่างกาย ก็จะอายุสั้นลง

• คนที่ไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ ก็มีแนวโน้มจะเป็นโรคเรื้อรังต่างๆได้มาก และอายุสั้นลง

• คนที่มีความเครียดมาก อายุก็จะสั้นลง


ปัจจุบันนี้ มีงานวิจัยที่น่าสนใจ และเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างมากในหมู่นักวิจัยเรื่องคนสูงอายุก็คือเรื่องของหน่วยพันธุกรรมของคนเรา ที่เรียกว่า “โครโมโซม” ซึ่งเป็นตัวควบคุมลักษณะทางร่างกายและการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย

โครโมโซมมี 23 คู่ 46 อัน เราลองนำเอามา 1 คู่มาดูดังภาพ จะเห็นว่า 1 คู่มี 2 อันเชื่อมติดกัน ตรงปลายสายโครโมโซมจะมีลักษณะคล้ายหมวกคลุมอยู่ (สีแดงในภาพ)เรียกว่า ทีโลเมียร์ (Telomere) เวลาเซลแบ่งตัว เจริญเติบโตขึ้นทุกๆปี ทีโลเมียร์จะสั้นลง ในคนหนุ่มสาวทีโลเมียร์จะยาวกว่าคนสูงอายุ ทีโลเมียร์จะเป็นตัวป้องกันปลายสายโครโมโซมต่ออนุมูลอิสระต่างๆที่จะมาทำลาย ถ้าไม่มีตัวนี้ปลายสายจะบานออก และจะเชื่อมติดกับปลายสายอันอื่น ทำให้สูญเสียหน้าที่และแตกสลายไป

ทีโลเมียร์เปรียบเหมือนปลอกพลาสติกที่หุ้มปลายเชือกผูกรองเท้า ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้ปลายบานออก เวลาสนปลายเชือกเข้ากับรูของรองเท้าก็จะสะดวกง่ายดาย แต่ถ้าไม่มีปลอกพลาสติกหุ้ม ปลายสายเชือกจะบานออก ก็จะใช้งานไม่ได้

ทีโลเมียร์ที่สั้นลงหมายความว่า อายุของเราก็สั้นลงด้วย แต่ธรรมชาติก็สร้างเอนไซม์ตัวหนึ่งที่จะมาช่วยให้ดำรงสภาพความยาวของทีโลมียร์เอาไว้ เรียกว่า เอนไซม์ทีโลเมอร์เรส (Telomerase)

เอนไซม์ตัวนี้ช่วยทำให้ทีโลเมียร์ไม่สั้นลงเร็วเกินไป เซลปกติแบ่งตัวแต่ละครั้งมันจะสั้นลงบ้าง จำนวนครั้งของการแบ่งตัวก็มีจำกัด นั่นหมายความว่า ถ้าเอนไซม์ตัวนี้ทำงานได้ดี เราก็จะมีอายุยืน แต่ถ้าเอนไซม์ตัวนี้ทำงานได้น้อยลง อายุเราก็จะสั้นลง

ผู้ที่ค้นพบเอนไซม์ตัวนี้ คือ ดร.อลิซาเบท แบล็คเบิร์น (Elizabeth Blackburn) เธอเป็นศาสตราจารย์ด้านชีวโมเลกุล อยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก (UCSF) จากผลงานการค้นคว้าเรื่องนี้ เธอและคณะได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาทางการแพทย์ในปี 2009

ปัจจุบัน เธอทำงานที่ห้องทดลองแบล็คเบิร์น ภาควิชาชีวเคมีและชีวฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก เธอศึกษาโครงสร้างและการทำงานของทีโลเมียร์และเอนไซม์ทีโลเมอร์เรส ในเซลของคน ในแง่มุมต่างๆ เช่น ในโรคมะเร็ง ในคนสูงอายุ

ห้องปฏิบัติการนี้สามารถตรวจวัดความยาวของทีโลเมียร์ และวัดการทำงานของทีโลเมอร์เรสได้ นั่นหมายความว่า เราสามารถจะตรวจดูได้ว่า ในแต่ละปี ทีโลเมียร์ของเราสั้นลงหรือไม่ การทำงานของทีโลเมอร์เรสยังดีอยู่หรือไม่ ถ้าทีโลเมียร์สั้น อายุเราก็มีแนวโน้มจะสั้นลง หากทีโลเมียร์ยังเหมือนเดิมอยู่ อายุเราก็ยืนยาวต่อไป

ขณะนี้ได้มีการพัฒนาเป็นชุดตรวจสำเร็จรูปที่ให้เราเอาไปตรวจความยาวของทีโลเมียร์และการทำงานของทีโลเมอร์เรส ด้วยตัวเอง เข้าใจว่า อาจจะมีจำหน่ายเร็วๆนี้ ในอเมริกา

งานวิจัยของ ดร.แบล็คเบิร์นพบว่า ภาวะทีโลเมียร์สั้นลงมีความสัมพันธ์กับโรคต่างๆ คือ โรคมะเร็ง โรคติดเชื้อ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ภาวะสมองเสื่อม โรคอ้วน และในภาวะความเครียดเรื้อรัง

ในเซลล์ปกติ ความสามารถในการแบ่งตัวของเซลล์ จะถูกจำกัดโดยความยาวของทีโลเมียร์ พบว่า ทีโลเมียร์จะสั้นลงทุกครั้งที่เซลล์แบ่งตัว และเมื่อมีการแบ่งตัวหลายๆครั้งจนทีโลเมียร์สั้นถึงระดับหนึ่งแล้วเซลล์ก็จะตายลง

ในเซลล์มะเร็งมันสามารถจะแบ่งตัวได้โดยไม่จำกัด มากกว่าร้อยละ 90 ของเซลล์มะเร็งจะมีการสร้างและการทำงานของเอนไซม์ทีโลเมอร์เรสผิดปกติ เราสามารถตรวจพบในชิ้นเนื้อที่เป็นมะเร็ง และในเซลล์ที่เผชิญกับสารอนุมูลอิสระ ทีโลเมียร์จะสั้นลงเร็วกว่าเซลล์ปกติ

ผู้เขียนขอปูฟื้นฐานความรู้ไว้เพียงเท่านี้ก่อน ตอนหน้าจะเข้าสู่เรื่องของการเจริญสติ ซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานวิจัยเรื่องทีโลเมียร์โดยตรง จะทำให้เรามองออกว่า การเจริญสติทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์เลยทีเดียว

ยิ่งวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามากเท่าไหร่ ยิ่งจะช่วยพิสูจน์คำสอนของพระพุทธเจ้าได้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ ความเข้าใจเรื่องทีโลเมียร์ทำให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบต่อไปถึงการทำให้คนอายุยืนขึ้นได้

ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปฟังคำบรรยายของ ดร.อลิซาเบท แบล็คเบิร์น ได้ใน www.youtube. com พิมพ์คำว่า Elizabeth Blackburn (UCSF) ibio 1 Stress,Telomers and Teromerase in humans มี 3 ตอน

ดร.แบล็คเบิร์นจบปริญญาตรีและโทด้านวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิล์น ออสเตรเลีย ในปี 1970 และ 1972 ตามลำดับ จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ในปี 1975 จากนั้นได้มาเรียนเพิ่มเติมด้านชีวโมเลกุล ในปี 1975-77 ที่มหาวิทยาลัยเยล

เธอได้ทำงานที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์คเลย์ อยู่พักหนึ่งและย้ายมาอยู่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร์ ซานฟรานซิสโก เธอสอนหนังสือและทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 40 ปี มีผลงานตีพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 175 ชิ้น และเขียนหนังสือตำราไว้มากมาย

เธอได้รับรางวัลทางวิชาการไม่น้อยกว่า 40 รางวัล รวมทั้งรางวัลโนเบลในปี 2009 นับว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานยอดเยี่ยมมากที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษนี้

ดร.แบล็คเบิร์นเป็นสุภาพสตรีที่มีความโดดเด่นในวงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เธออุทิศเวลาชั่วชีวิตทำงานอย่างหนัก จนนิตยสารไทม์ยกย่องให้เธอเป็น 10 ใน 100 บุคคลผู้สร้างโลก ในปี 2007 ชื่อเสียงเกียรติคุณของเธอ จะได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของวงการแพทย์


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 147 มีนาคม 2556 โดย น.พ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
ดร.แบล็คเบิร์น กับผลงานการค้นพบเอนไซม์ทีโลเมอร์เรส

ดร.อลิซาเบท แบล็คเบิร์น (Elizabeth Blackburn)
ตัวอย่างโครโมโซม 1 คู่ มี 2 อันเชื่อมติดกัน ตรงปลายสายโครโมโซมจะมีลักษณะคล้ายหมวกคลุมอยู่ (สีแดงในภาพ) เรียกว่า ทีโลเมียร์
กำลังโหลดความคิดเห็น