xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"สวน"แม้ว"ปมแก้รธน. ยันไม่ใช่ระเบิดแต่ไว้กันขโมย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการเดินทางไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 67 ที่กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ตามเวลาท้องถิ่น นายกรัฐมนตรี เดินทางไปยังที่ทำการนิตยสาร Time เพื่อพบปะกับบรรณาธิการระดับอาวุโส โดยทางนิตยสาร Time ได้สอบถามนายกฯ ถึงมาตรการและนโยบายของรัฐบาลในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เช่น นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้อธิบายถึงที่มาของแนวนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ที่ได้วิเคราะห์ กลั่นกรอง และศึกษาอย่างครบถ้วน เพื่อปูพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง เช่น การลดช่องว่างทางรายได้ ลดภาระค่าใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีกำลังซื้อ เข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการค้าการลงทุน ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ และจุดแข็งของไทยในการเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงนโยบายสำคัญเร่งด่วนในการสร้างความปรองดอง เพื่อให้ประเทศสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน

** รธน.เครื่องมือกันขโมยไม่ใช่ระเบิด

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงประเด็นที่พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ ว่า รัฐบาลจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่จะแก้เพียงรายมาตรา โดยอ้างว่าถ้าไม่แก้ มันก็เหมือนเป็นกับดัก เหมือนระเบิดที่อยู่ในบ้านที่ทำให้รัฐบาลนี้ยุ่งยาก จะทำอะไรก็เป็นปัญหาติดขัดไปหมด ว่า คงเป็นการส่งสัญญาณที่สับสน เพราะคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อให้มาดูแลเรื่องนี้ ที่มีนายโภคิน พลกุล เป็นประธานเพิ่งมีแนวโน้มที่จะสรุปว่า ให้เดินหน้าในการลงมติแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยจะเสนอในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน แต่ทางฝ่ายรัฐบาล หรือพ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนใหญ่เขาไม่ค่อยจริงจังเท่าไร ว่าพูดอะไรแล้วต้องเป็นไปตามนั้น พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
แต่ประเด็นที่พ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่า จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญนั้น เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ที่พยายามจะบอกว่า มี ระเบิด อยู่ในบ้าน ความจริงไม่ใช่ คือพ.ต.ท.ทักษิณ กำลังจะเข้าใจว่า คนมาเป็นรัฐบาลนั้น จะต้องทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ จริงๆ ถ้าจะเปรียบไปแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเปรียบเทียบว่า รัฐบาลนั้นเข้ามาดูแลบ้าน ซึ่งบ้านนั้นเป็นของประชาชนทั้งประเทศ
สิ่งที่พ.ต.ท.ทักษิณไม่พอใจขณะนี้ก็คือว่า มันมีเครื่องกันขโมยอยู่ ไม่ใช่ระเบิด เพราะฉะนั้นถ้าดูแลบ้านดี ๆ ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าคิดจะขโมยของจากบ้าน สัญญาณมันก็ดังขึ้น สัญญาณดังขึ้นแล้ว ก็อาจจะถูกจับ ถูกดำเนินคดี ก็เลยมาบอกว่า รัฐบาลจะทำอะไรก็ไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่ ต้องเปรียบเทียบให้ถูกต้อง
" ที่คุณทักษิณพยายามจะต้องแก้รัฐธรรมนูญนั้นอ้างว่าการตรวจสอบถ่วงดุลมันเข้มงวดกวดขันเกินไปอะไร จริง ๆ มันก็ต้องแก้กันไปทีละเปลาะว่ามีตรงไหน ที่มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ผมก็ยกตัวอย่างว่า มันก็แปลกนะครับ สมัยรัฐบาลผมนั้น ก็กติกาเดียวกัน มีที่ผมเห็นเป็นปัญหาจริง ๆ ก็อาจจะเป็นมาตรา 190 ขณะนั้น ก็แก้ไข แต่ว่า การมีศาลปกครอง มีศาลรัฐธรรมนูญ มี กกต. ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผมก็ไม่เห็นว่าเป็นอุปสรรคในการบริหารประเทศ หรือถ้ามันเกิดปัญหา หรืออุปสรรคขึ้นมา เช่นกรณีที่มาบตาพุด มันก็มีเหตุผลของมัน แล้วมีแล้วรัฐบาลก็มีหน้าที่แก้ไข ผมก็ยอมรับตอนศาลปกครองตัดสินเรื่องมาบตาพุด ก็ทำให้การบริหารงานยากขึ้น แต่มันก็เป็นการบริหารยากขึ้นบนข้อเท็จจริงที่ว่า เราคงจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม แล้วก็สุขภาพของพี่น้องประชาชนที่มาบตาพุด ชัดเจนขึ้น มันก็เป็นการถ่วงดุลกัน มันไม่ใช่เป็นเรื่องระเบิดที่บอกว่าทำให้คนมาบริหารแล้วทำงานไม่ได้"
ส่วนที่บอกว่าจะมีการจำกัดอำนาจองค์กรอิสระ เพราะมองว่าองค์กรอิสระเป็นตัวขัดขวางการบริหารนั้น ตนเห็นว่า ไม่ใช่ แต่เป็นการกำหนดกรอบว่า การที่รัฐบาลจะบริหารนั้น ต้องบริหารอยู่ในกฎ ในเกณฑ์ ต้องไม่ทำขัดรัฐธรรมนูญ ต้องไม่ทำขัดกฎหมาย ต้องไม่ทุจริต ถ้ารัฐบาลทำตามรัฐธรรมนูญ ทำตามกฎหมาย ก็ไม่มีปัญหากับองค์กรเหล่านี้
" คือจริงๆ แล้ว องค์กรทุกองค์กรที่ทำงานตามรัฐธรรมนูญนั้น ต้องทำงานในลักษณะเอื้อให้แต่ละฝ่ายทำหน้าที่ของตนเองได้ เพราะฉะนั้น องค์กรอิสระเองก็ต้องระมัดระวังว่า ไม่ใช่ทำให้ฝ่ายบริหารเขาบริหารไม่ได้ ถ้าเขาบริหารโดยสุจริต ถูกต้องตามกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในทางกลับกัน รัฐบาลต้องส่งเสริมให้องค์กรตรวจสอบนั้นเขาทำหน้าที่เขาได้ แต่ขณะนี้เราก็เห็นได้ชัด ว่า ถ้าถามเรื่องดุลอำนาจแล้ว ผมกลับมองว่าหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงอาทิตย์ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมานั้น มีแต่คนมองว่า เอ๊ะ ฝ่ายบริหารนั้นรู้สึกว่าจะมีอำนาจ หรือเครื่องไม้เครื่องมือเยอะแยะไปหมด ป.ป.ช. ชี้ว่ามีการกระทำผิด ก็สามารถจะเอากลไกนั้น กลไกนี้ มาบอกว่าให้ไปล้างมลทิน ล้างมลทินแล้วไม่ต้องออกจากตำแหน่งอะไร จนกระทั่งทำให้คำตัดสินของ ป.ป.ช. ไม่มีความหมาย ซึ่งถูกหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็คงจะต้องว่ากันไป" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้พูดแค่ว่า ไม่อยากให้มีองค์กรอิสระ ในอดีตพูดมาหมด ฝ่ายค้านก็ไม่อยากให้มี โดยพฤติกรรมก็เห็นชัดว่า ไม่อยากให้มีสื่อที่มาตรวจสอบอย่างจริงจังด้วย คือสรุปแล้ว ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรอก แต่เป็นการอยากได้อำนาจเบ็ดเสร็จ นี่คือข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นวันนี้การแก้รัฐธรรมนูญนั้น ไม่มีใครปฏิเสธว่า บางมาตรานั้นปรับปรุงได้ หรือจะทำให้ระบบมันดีขึ้นได้ แต่ความอันตรายมันอยู่ที่ว่า แนวคิดพ.ต.ท.ทักษิณนั้นคือ ต้องการอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับฝ่ายบริหาร ในอดีต พ.ต.ท.ทักษิณ เคยมีเสียงข้างมาก เคยมีอำนาจมาแล้ว หากวันนี้ยังอยากได้อำนาจแบบนั้นอีก แล้วสังคมไทยจากนี้ไป จะตกอยู่ในชะตากรรมแบบไหน
"ถ้าวันนี้คิดจะทำอะไรก็ได้ ไม่ผิดกฎหมาย หรือผิดแต่กฎหมายเอาผิดไม่ได้ เพราะมีอำนาจ วันนี้ก็เห็นว่าคนเสื้อแดงทำอะไรก็ได้ ปิดถนนก็ได้ พันธมิตรฯไปสัมมนาที่โรงแรมก็ไปไล่เขาก็ได้ มันก็กลายเป็นว่าในสังคมนี้ทำอะไรก็ได้แล้วไม่ผิดกฎหมาย หรือผิด แต่ไม่มีคนบังคับใช้กฎหมาย แล้วจะทำให้กลายเป็นสังคมที่ไร้ขื่อแปไปในที่สุดหรือไม่ สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้น คือ 2 มาตรฐานที่แท้จริง แล้วสุดท้ายก็จะเกิดความขัดแย้งในสังคม ที่จะนำไปสู่วิกฤติ ผมขอเรียกร้องว่า รัฐบาลก็ดี คุณทักษิณก็ดี อยากให้ประเทศไทยเดินบนเส้นทางนั้นทำไม คุณมีอำนาจแล้ววันนี้ คุณยังมาสนใจแต่ว่า จะเพิ่มอำนาจให้ตัวเองอย่างไร ในขณะที่คนกำลังบอกคุณไปแก้ของแพง ไปแก้ทุจริต ไปแก้น้ำท่วมดีกว่า แล้วถ้าคุณบอกได้นะครับ ว่าที่แก้ของแพงไม่ได้เพราะขาดอำนาจตรงไหน ผมว่าขอมาแล้วประชาชนอาจจะให้ " นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**เหลือง-แดง"ปะทะ ปรองดองเกิดยาก

ส่วนที่นายกฯให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ ที่นิวยอร์ค ก็พูดถึงเรื่องความปรองดอง แต่ภาพที่เกิดขึ้นที่กองปราบฯ ในเรื่องการปรองดองที่ว่ายากอยู่แล้ว หรือทำท่าว่าจะคุยกันได้บ้าง ส่วนรายงาน คอป. แม้รัฐบาลจะยังไม่แสดงท่าทีว่าจะยอมรับ แต่ก็มีมุมมองที่สังคมพอจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้บ้าง แต่หลังจากที่เกิดภาพที่กองปราบฯ จะทำให้แนวคิดเรื่องความปรองดองจากนี้ไป เป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น หรือเป็นไปไม่ได้เลยหรือไม่
"ผมว่าถ้ารัฐบาลมองอย่างรัฐมนตรีกลาโหมมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ผมว่าเรื่องงานปรองดอง ก็จะไม่มีทางประสบความสำเร็จ แต่ถ้าพยายามจะมองว่าตรงนี้เป็นสัญญาณนะ เป็นสิ่งที่เตือนใจเราอีกครั้งหนึ่ง ว่าสังคมเรายังมีความขัดแย้งกันสูง และขณะนี้เราจะมีเครื่องมืออะไรที่จะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ได้ แล้วก็คิดได้ เหมือนกับที่ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะที่เป็น 1 ใน คอป. ได้มาขอโอกาสให้กับประเทศไทยนั้น ก็ต้องพลิกสถานการณ์นี้ให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะสร้างความปรองดองอย่างจริงจัง แต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำ ก็แสดงว่ารัฐบาลไม่ได้มีความตั้งใจจริงในเรื่องของนโยบายปรองดองแต่อย่างใด ผมว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาสะสางปัญหานี้กัน เพราะว่าตอนนี้ก็ต้องรอดูครับว่า ท่าทีรัฐบาลจะเป็นอย่างไร ทางฝ่ายประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้าน เราชัดเจนอยู่แล้วนะครับ เราก็บอกว่ามันมีประเด็นที่จะต้องเดินหน้าในการปรองดอง แล้วก็เรามีกรอบที่ คอป. เขาเสนอมา เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ก็มาตั้งหลักคุยกันด้วยเหตุด้วยผล" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น