xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : 6 ปัจจัยที่ทำให้ อายุสั้นและอายุยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่านผู้อ่านครับ ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึง ทีโลเมียร์ (Telomere) ที่อยู่บริเวณปลายสายโครโมโซม ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องสายโครโมโซมไม่ให้ถูกทำลาย และเอนไซม์ทีโลเมอร์เรส (Telomerase) ซึ่งเป็นตัวช่วยไม่ให้ทีโลเมียร์สั้นลงร็วเกินไป

การที่ทีโลเมียร์สั้นลงก็ทำให้เราอายุสั้นลงนั่นเอง ปกติเซลล์จะแบ่งตัวอยู่เสมอ ทุกครั้งที่เซลล์แบ่งตัว ทีโลเมียร์จะสั้นลง แต่เอนไซม์ทีโลเมอร์เรสจะช่วยให้ทีโลเมียร์ยาวอยู่เสมอ ทีโลเมียร์จึงเป็นตัวกำหนดอายุของเรา ถ้าทีโลเมียร์สั้นลงเร็ว อายุเราก็สั้นลง ถ้าทีโลเมียร์ยาว อายุเราก็ยืน (อ่านเรื่องนี้ได้ในฉบับเดือนมีนาคม56)

ผู้เขียนได้กล่าวถึง การค้นพบเอนไซม์ทีโลเมอร์เรส ของ ดร.อลิซาเบท แบล็คเบิร์น ทำให้เธอได้รับรางวัลโนเบลในปี 2009เธอสนใจการทำงานของทีโลเมียร์และทีโลเมอร์เรส ในโรคมะเร็งและภาวะชราภาพของคนเรา ห้องทดลองของเธอสามารถวัดความยาวของทีโลเมียร์ได้ และเจาะเลือดหาค่าการทำงานของเอนไซม์ทีโลเมอร์เรสได้

งานวิจัยที่น่าสนใจส่วนหนึ่งเป็นงานที่เธอทำร่วมกับ ดร.เอลิสสา เอปเปล (Elissa Epel) ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาสุขภาพ ทำงานที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก เหมือนกัน ดร.เอปเปลเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับความเครียด (Stress Researcher) และได้ทำวิจัยร่วมกับ ดร.แบล็คเบิร์น หลายเรื่อง เช่น งานวิจัยในคนที่มีอาชีพดูแลผู้ป่วย (Caregiver) พบว่า คนเหล่านี้มีความเครียดมากและเรื้อรังโดยลักษณะอาชีพ ความเครียดเรื้อรังทำให้ทีโลเมียร์สั้นลง การทำงานของทีโลเมอร์เรสลดลง และทำให้อายุสั้นลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับคนทั่วไป

ต่อมาดร.เอปเปลได้ศึกษาถึงปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อความยาวของทีโลเมียร์ ซึ่งเธอพบว่า

1. การขาดการออกกำลังกาย ทำให้ทีโลเมียร์สั้นลง การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยให้ทีโลเมียร์ยาวขึ้น
2. ความอ้วน ทำให้ทีโลเมียร์สั้นลง
3. การได้รับอนุมูลอิสระมากๆ ทำให้เกิดภาวะ Oxidative Stress และเกิดการอักเสบในร่างกาย ทำให้ทีโลเมียร์สั้นลง เป็นที่มาของโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน

ดังนั้น เราต้องลดอาหารไขมันลง กินผักผลไม้มากขึ้น กินปลาที่มีไขมันโอเมก้า 3 ธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ กินอาหารแนวมังสวิรัติ ซึ่งมีไขมันต่ำ ไฟเบอร์มาก
4. การกินวิตามินและสารแอนติออกซิแดนซ์เสริม ช่วยรักษาความยาวของทีโลเมียร์ได้
5. การนอนหลับอย่างเพียงพอ ช่วยรักษาความยาวของทีโลเมียร์ได้
6. ปัจจัยด้านจิตใจ มีดังนี้

• การศึกษาอันแรก เธอทำร่วมกับดร.ดีน ออร์นิช และ ดร.อลิซาเบท แบล็คเบิร์น โดยใช้วิธีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต สำหรับการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก ซึ่งไม่รุนแรง โดยให้ผู้ป่วยกินอาหารมังสวิรัติไขมันต่ำประมาณร้อยละ 15 ออกกำลังกายปานกลางวันละ 30 นาที ฝึกโยคะ เพื่อความผ่อนคลาย ทั้งหมดนี้ใช้เวลา3 เดือน

การเจาะเลือดเพื่อดูการทำงานของเอนไซม์ทีโลเมอร์เรส และวัดความยาวของทีโลเมียร์ ก่อนและหลังการเข้าโปรแกรม พบว่า การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบนี้เป็นเวลา 3 เดือน ทำให้ทีโลเมียร์ยาวขึ้น การทำงานของทีโลเมอร์เรสดีขึ้น นั่นคืออายุก็จะยาวขึ้นด้วย

• การทดลองที่สอง เป็นการศึกษาวิจัยทำในกลุ่มคนที่ปฏิบัติธรรมแบบสมถกรรมฐาน โดยให้เข้าอบรมฝึกการทำสมาธิ ฟังธรรม ถือศีล เป็นเวลา 4 เดือนในสถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งแถบเทือกเขาโคโรลาโด ผลการเจาะเลือดตรวจก่อนและหลังเข้าอบรม พบว่า การฝึกสมาธิแบบนี้ก็ทำให้ทีโลเมียร์ยาวขึ้น การทำงานของทีโลเมอร์เรสดีขึ้นเช่นกัน

• การทดลองที่ 3 ทำการศึกษาในกลุ่มผู้เข้าโปรแกรม การเจริญสติแบบ MBSR (Mindfulness stress Reduction Program) ของ ศ.จอห์น คาแบค ซิน และฝึกเจริญสติในการกินอาหารด้วย ใช้เวลาศึกษาอยู่ 4 เดือนเช่นกัน พบว่า การเจริญสติช่วยให้ทีโลเมียร์ยาวขึ้น ทีโลเมอร์เรสทำงานได้ดีขึ้น

ดังนั้น จะเห็นว่าความยาวของทีโลเมียร์และการทำงานของทีโลเมอร์เรสเอนไซม์ เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในด้านต่างๆ ตั้งแต่อาหาร การออกกำลังกาย การฝึกความผ่อนคลาย การฝึกสมาธิ การเจริญสติ ล้วนส่งผลให้รักษาความยาวทีโลเมียร์ไว้ได้ และทีโลเมอร์เรสทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งก็คือเราจะอายุยืนขึ้นได้

ดร.เอลิสสา เอปเปล จบปริญญาตรีด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในปี ค.ศ. 1990และจบปริญญาโทและเอกด้านจิตวิทยาสุขภาพ จากมหาวิทยาลัยเยล ในปี 1998 หลังจากนั้นเธอทำงานที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส( UCLA) โดยสอนและทำการศึกษาวิจัยถึงผลของความเครียดต่อสุขภาพและความชราภาพ ศึกษาผลของการเจริญสติ ต่อความเครียดและความชราภาพของมนุษย์

ปัจจุบัน ดร.เอลิสสา เอปเปล เป็นรองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก

เธอมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 100เรื่อง ในเวลา 15 ปีที่ผ่านมา เธอทำงานร่วมกับ ดร. แบล็คเบิร์น ในเรื่องทีโลเมียร์และทีโลเมอร์เรส ต่อความเครียด ความชราภาพ และมะเร็ง จากผลงานวิจัยอันดีเด่นของเธอทำให้ได้รับรางวัลทางวิชาการจากสมาคมจิตวิทยาอเมริกา และรางวัลระดับนานาชาติจำนวนมาก

ท่านผู้อ่านเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ www.chc.ucsf.edu/ ame_lab/epel_bio.html หรือฟังคำบรรยายของเธอใน www.Youtube.com พิมพ์ The new science of stress and stress resilence,เรื่อง stress and cellular aging และเรื่อง emotional stress and rate of telomere shortening และก็จะได้ความรู้มากมาย


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 148 เมษายน 2556 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)

ภาพโครโมโซม สีแดงคือ ทีโลเมียร์
ดร.อลิซาเบท แบล็คเบิร์น
ดร.เอลิสสา เอปเปล
กำลังโหลดความคิดเห็น