xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : การฝึกสมาธิ ช่วยผู้ป่วยโรคหัวใจ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่านผู้อ่านครับ ฉบับที่แล้วผู้เขียนได้พูดถึง นพ.เมเยอร์ เฟรดแมน อายุรแพทย์ทางหัวใจที่ได้ทำวิจัยร่วมกับทีมจิตแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยนำผู้ป่วยโรคหัวใจมาฝึกความผ่อนคลาย ฝึกสมาธิ และพบว่า ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น โรคหายเร็วขึ้น

ครั้งนี้จะพูดถึงแพทย์โรคหัวใจอีกท่านหนึ่งที่มีงานวิจัยที่น่าสนใจ คือ ศาสตราจารย์ นพ. ดีน ออร์นิช (Dean Ornish) ซึ่งเป็นหมอโรคหัวใจอยู่ที่โรงพยาบาลแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เป็นแพทย์ที่นำเอาการฝึกสมาธิ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนเรื่องอาหารและการเดินวันละ 30 นาที มาใช้ในผู้ป่วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเขาแสดงให้เห็นว่า โดยวิธีการของเขาสามารถทำให้เส้นเลือดที่ตีบตันนั้นขยายออกได้ โดยไม่ต้องผ่าตัดหรือกินยา

หมอออร์นิช สนใจเกี่ยวกับเรื่องโรคหัวใจ และเริ่มศึกษาครั้งแรกเมื่อเป็นนักเรียนแพทย์อยู่ที่โรงเรียนแพทย์ Baylor เมืองฮุสตัน ในปี ค.ศ. 1977 หลังจากนั้นเขาไปเป็นแพทย์ฝึกหัดและแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจที่โรงพยาบาล Massachusetts General Hospital และโรงรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ในปี 1980 เขาได้ทำการศึกษาผู้ป่วยโรคหัวใจ 48 ราย โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 รักษาตามแบบแพทย์แผนปัจจุบัน คือ การกินยา และผ่าตัด อีกกลุ่มหนึ่งใช้วิธีธรรมชาติ ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างเข้มข้น โดยให้รับประทานอาหารมังสวิรัติ ไขมันไม่เกินร้อยละ 10 ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ รับประทานไข่ขาวและนมพร่องมันเนย และให้ผู้ป่วยออกกำลังกายด้วยการเดินวันละ 30 นาที รวมทั้งให้บริหารร่างกายแบบโยคะ ฝึกความผ่อนคลาย และสมาธิ และทำกิจกรรมกลุ่มบำบัด

หมอออร์นิชพบว่า ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกลดลงร้อยละ 91 สามารถออกกำลังกายได้มากขึ้น ร้อยละ 55 และสามารถลดไขมันในเส้นเลือดลงได้ ร้อยละ 21 รวมทั้งความดันก็ลดลงด้วย ผู้ป่วยรู้สึกว่าความเครียด อาการซึมเศร้า วิตกกังวลก็น้อยลง หมอออร์นิชใช้เวลา 24 วันในการศึกษาครั้งนี้ ซึ่งพบว่า การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในเวลาอันสั้นนี้ สามารถทำให้สุขภาพดีขึ้นมาก

ในปีค.ศ. 1984 หมอออร์นิชย้ายมาทำงานที่ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ซึ่งในตอนนั้นมีการคิดค้นเครื่องตรวจคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า PET scan ซึ่งใช้ตรวจดูขนาดของเส้นเลือด และปริมาณเลือดที่ผ่านเส้นเลือดนั้นได้ โดยผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บตัว เป็นวิธีที่สะดวกมาก

เขาจึงเริ่มทดลองอีกครั้งในปี ค.ศ. 1986-1992 โดยศึกษาในผู้ป่วย 48 ราย แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน มีการใช้ยาและผ่าตัด ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งใช้วิธีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามโปรแกรมของเขา

หมอออร์นิชได้ติดตามผู้ป่วยไป 1 ปีและ 5 ปี ก็พบว่าใน1 ปี ผู้ป่วยที่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต รักษาด้วยวิธีธรรมชาติ เมื่อวัดรูเส้นเลือดพบว่าเส้นเลือดตีบตันลดลงจากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 37.8 และไขมันเลวลดลงร้อยละ 37.2 อาการเจ็บหน้าอกลดลงร้อยละ 91

เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รักษาแบบปกติ พบว่า ไขมันเลวลดลงร้อยละ 6 อาการเจ็บหน้าอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 165 ขนาดเส้นเลือดตีบมากขึ้นจากร้อยละ 42.7 เป็น 46.1

เมื่อติดตามผู้ป่วยครบ 5 ปี พบว่า กลุ่มปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต มีอาการเจ็บหน้าอกน้อยกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง รูตีบที่เส้นเลือดเมื่อครบ 1 ปีและ 5 ปี ดีขึ้นร้อยละ 4.5 และ 7.9 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่รักษาตามปกติ พบว่า เมื่อครบ 1 ปี รูตีบที่เส้นเลือดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.4 เพิ่มเป็นร้อยละ 11.8 เมื่อครบ 5 ปี

หมอออร์นิชได้ตีพิมพ์ผลการค้นพบนี้ลงในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน (JAMA) ในฉบับเดือนธันวาคม 1998 การศึกษาของเขาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันนั้น สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องกินยา แต่ใช้การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างเข้มข้น ปัจจุบันมีโรงพยาบาลประมาณ 300 แห่งในสหรัฐอเมริกาใช้วิธีการรักษาแบบ นพ.ดีน ออร์นิช

ผู้ป่วยรายหนึ่งที่เข้าโปรแกรมของหมอออร์นิช อายุ 49 ปี เป็นนักกีฬา เขาคุมอาหาร ออกกำลังกาย และมีบุคลิกแบบ “เอ” ไม่สนใจเรื่องสมาธิและการเข้ากลุ่มบำบัด สองสามเดือนต่อมาขณะที่กำลังออกกำลังกายอยู่นั้น เกิดมีอาการแน่นหน้าอก และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

หมอออร์นิชจึงได้เน้นถึงความสำคัญเกี่ยวกับโปรแกรมของเขาว่า ไม่ใช่เรื่องอาหารไขมันต่ำเพียงอย่างเดียวที่ทำให้โรคหัวใจอาการดีขึ้น แต่เรื่องจิตใจสำคัญที่สุด เขาพบว่าคนไข้เหล่านี้มีปัญหาเรื่องอารมณ์อย่างมาก ความรู้สึกโดดเดี่ยว แปลกแยก ความรู้สึกขาด ไม่สมบูรณ์ ยังพบอยู่มาก ดังนั้น เขาจึงเน้นเรื่องการฝึกโยคะให้ผ่อนคลายและฝึกสมาธิ การเข้ากลุ่มบำบัด

เฮเบอร์สเตรท คนไข้คนหนึ่งที่เข้าร่วมโปรแกรมของเขากล่าวว่า “ผมมักจะสร้างความกดดันให้กับตนเอง ผมเป็นคนมีบุคลิกแบบเอ โกรธง่าย รีบร้อน สับสน ชอบขัดจังหวะคน ทนฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ไม่ค่อยได้ แต่ปัจจุบันผมฝึกหัดปล่อยวางได้มากแล้ว สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวผมไม่ได้ทำให้ผมหงุดหงิดมากเหมือนเดิม ผมอดทนได้มากขึ้น รอคอยได้มากขึ้น รับฟังสิ่งต่างๆได้มากขึ้น ทุกครั้งที่ผมเครียด ผมจะหายใจลึกๆ ช้าๆ จิตใจเริ่มผ่อนคลาย ทุกวันนี้ผมมีความสุขขึ้นมาก”

ศาสตราจารย์ นพ.ดีน ออร์นิช

ท่านผู้สนใจอาจจะหาข้อมูลจากหนังสือของศาสตราจารย์ นพ.ดีน ออร์นิช มาอ่านเพิ่มเติม ชื่อหนังสือของหมอออร์นิช คือ “Dr. Dean Ornish” Program for Reversing Heart Disease และดูข้อมูลใน Wikipedia.org พิมพ์ชื่อ Dr. Dean Ornish รวมทั้งฟังคำบรรยายของท่านใน youtube.com ซึ่งจะมีหัวข้อบรรยายที่น่าสนใจมากมาย โดยผู้เขียนขอแนะนำเรื่อง Hive 07 Dean Ornish, Dean Ornish : Healing and other natural wonders,Dean Ornish Transformation 2010 Mayo clinic

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 142 ตุลาคม 2555 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)


ศาสตราจารย์ นพ. ดีน ออร์นิช ( Dean Ornish)

กำลังโหลดความคิดเห็น