xs
xsm
sm
md
lg

มือวางนโยบายด้านจีนของ‘รอมนีย์’เจองานหิน (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เบนจามิน เอ โชเบิร์ต

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Romney’s China hand encounters rough seas
By Benjamin A Shobert
16/08/2012

มิตต์ รอมนีย์ ประกาศแต่งตั้งให้ โรเบิร์ต เซลลิก ผู้เพิ่งพ้นตำแหน่งประธานธนาคารโลกมาได้ไม่กี่เดือน เป็นหัวหน้าดูแลด้านความมั่นคงแห่งชาติ ในทีมเตรียมการรับมอบงานรับมอบอำนาจของเขา (ในกรณีที่รอมนีย์เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี) เรื่องนี้น่าจะทำให้พวกอนุรักษนิยมใหม่ ยิ่งบังเกิดความหวาดผวาอย่างที่สุด เกี่ยวกับจุดยืนด้านนโยบายการต่างประเทศ ของว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯของพรรครีพับลิกันผู้นี้ ด้วยความกลัวเกรงว่ามันจะเป็นความจริงตามที่เคยตั้งสมมุติฐานกันไว้ นั่นคือ เมื่อได้เข้าไปนั่งในทำเนียบขาวแล้ว รอมนีย์จะกลับทำตัวเป็นพวกสายกลางและมุ่งเน้นผลทางปฏิบัติ ไม่เน้นเรื่องอุดมการณ์และความพร้อมที่จะประจันหน้าท้าทาย อย่างที่พวกอนุรักษนิยมใหม่ปรารถนา นอกจากนั้นการนำเอาเซลลิกเข้ามาอยู่ในทีมงานของเขา ยังจะทำให้รอมนีย์ประสบความลำบากยากยิ่งที่จะชี้ชวนให้กลุ่ม “ทีปาร์ตี้” พวกอนุรักษนิยม+อิสรเสรีนิยม+ประชานิยม ซึ่งกำลังมีอิทธิพลอย่างมากมายในพรรครีพับลิกัน เชื่อมั่นว่ารอมนีย์จะกระทำตามคำพูดคำจาอันขึงขังของเขาเองที่ว่าจะ “เล่นบทโหดกับจีน”

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

มิตต์ รอมนีย์ใช้ความพยายามอย่างหนักจนกระทั่งประสบความสำเร็จได้เสียงเป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของพวกตัวแทนที่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกันปลายเดือนกันยายนนี้แล้ว ดังนั้นเขาจึงจะได้รับการโหวตให้เป็นตัวแทนของพรรคเพื่อลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในการเลือกตั้งต้นเดือนพฤศจิกายนนี้อย่างไม่มีปัญหา ทั้งนี้ชัยชนะของเขาได้รับการวิเคราะห์ว่าเนื่องมาจากการรณรงค์หาเสียงอันหลักแหลมและเชี่ยวชาญ, การส่งข้อความต่างๆ ที่ต้องการ ออกไปอย่างมีระเบียบวินัย, และการก้าวถอยหลังกลับอย่างระมัดระวังจากจุดยืนในแต่ละเรื่องที่เขาเคยทำไปในอดีตแล้วกลับเป็นเรื่องที่เสียคะแนนในปัจจุบัน ถึงแม้การถอยกลับเช่นนั้นจะทำให้เขาไม่สามารถหยิบยกความสำเร็จสำคัญๆ ในอดีตของเขาขึ้นมาอวดโอ่หาเสียงได้อีก

อย่างไรก็ดี มาถึงตอนนี้ เมื่อเขาต้องเผชิญกับการถูกผลักดันให้ถอยกลับและเปลี่ยนแปลงหนึ่งในการตัดสินแรกๆ ทางด้านนโยบายการต่างประเทศของเขา เค้าโครงเรื่องเดิมๆ เดียวกันก็กำลังปรากฏออกมาให้เห็นกันอย่างชัดเจน พวกวิพากษ์วิจารณ์รอมนีย์ที่เป็นพวกอนุรักษนิยมนั้น พากันร้องตะโกนแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรวดเร็วกับการแต่งตั้งเซลลิก พวกเขาชี้ให้เห็นว่า การแต่งตั้งเซลลิกก็เหมือนกับการสะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์อันแท้จริงของรอมนีย์ที่จะเดินนโยบายสายกลางในเวลาที่ขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้สำเร็จแล้ว ซึ่งก็คือการประนีประนอมประเภทที่พวกอนุรักษนิยมใหม่เชื่อว่าจะทำให้สหรัฐฯดูอ่อนแอและตกอยู่ในอันตรายที่จะต้องเผชิญกับการถูกโจมตีแบบเหตุการณ์ 11 กันยายน อีกครั้ง ส่วนพวกสมาชิกของกลุ่มทีปาร์ตี้ก็เชื่อไปในทางที่ว่า มันจะก่อให้เกิดวิกฤตทางด้านการคลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ทั้งหมดเหล่านี้ทำให้การเมืองของสหรัฐฯดูมีเสน่ห์ดูคึกคักมีชีวิตชีวา กระนั้นมันก็ยังคงมีคำถามอยู่ว่า พลวัตเช่นนี้กำลังบ่งบอกให้เห็นอะไรในเรื่องทิศทางโดยรวมๆ ของนโยบายการต่างประเทศของพรรครีพับลิกัน ตลอดจนเมื่อนำเอาทิศทางโดยรวมนี้มาพิจารณาใช้กับจีนโดยเฉพาะเจาะจงแล้ว มันจะออกมาในลักษณะไหน ทั้งนี้เราจะต้องตระหนักเอาไว้ว่า เมื่อพูดกันถึงภาพองค์รวมแล้ว ความคิดแบบอนุรักษนิยมในสหรัฐฯนับตั้งแต่เหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 เป็นต้นมา ก็คือทิศทางมุ่งไปสู่การยอมรับความบริสุทธิ์และความเคร่งครัดในทางอุดมการณ์ มากกว่าการมุ่งถือผลในทางปฏิบัติและการมุ่งให้เกิดฉันทามติ

ในปัจจุบันเมื่อวิเคราะห์ทัศนะความคิดเห็นแบบอนุรักษนิยม ไม่ว่าจะในประเด็นปัญหาทางสังคม, เรื่องทางเศรษฐกิจ, หรือนโยบายการต่างประเทศ เราก็จะพบว่ามันได้กลายเป็นทัศนะความคิดเห็นชนิดที่ไม่ค่อยมีที่ทางให้แก่การประนีประนอม ไม่ค่อยมีช่องให้แก่การอ่อนข้อลงบ้างเสียแล้ว ไม่ว่าคุณจะมองว่าการยืนกรานความคิดเห็นในลักษณะเช่นนี้เป็นเรื่องถูกหรือเรื่องผิด มันก็ดูจะไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรแล้ว ถึงอย่างไรธรรมชาติของขบวนการอนุรักษนิยมสมัยใหม่ของสหรัฐฯ ก็ยังคงให้ความสำคัญให้คุณค่าแก่ความบริสุทธิ์ทางด้านอุดมการณ์ ถือว่าความบริสุทธิ์ทางด้านอุดมการณ์อย่างชนิดไม่ยินยอมประนีประนอม คือ คุณธรรม

ธรรมชาติของขบวนการอนุรักษนิยมสมัยใหม่เช่นนี้ ไม่สามารถที่จะกีดกันขวางกั้นไม่ให้ส่งอิทธิพลต่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนไปตลอดกาลได้ เมื่อถึงจุดบางจุด ความเคร่งครัดอุดมการณ์อย่างชนิดยอมหักไม่ยอมงอ ซึ่งในทุกวันนี้เป็นตัวที่ถักร้อยขบวนการอนุรักษนิยมสหรัฐฯให้รวมตัวกันเอาไว้ได้ ก็จะถูกนำมาประยุกต์ใช้กับจีนจนได้ มีความเป็นไปได้ที่ความเปลี่ยนแปลงในด้านทัศนคติและความเชื่อกันใหม่อีกรอบหนึ่งเช่นนี้ จะบังเกิดขึ้นในระหว่างช่วงเวลาแห่งความหงุดหงิดผิดหวังกับภาวะเศรษฐกิจ กระทั่งอาจจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่แนวความคิดต่างๆ เกี่ยวกับมาตรการเข้มงวดงบประมาณ ซึ่งพวกทีปาร์ตี้เชื่อกันว่าคือกุญแจสำคัญที่สุดในการจุดชนวนให้เศรษฐกิจอเมริกาลุกโพลงเป็นไฟลามทุ่งขึ้นมาอีกคำรบหนึ่งนั้น ได้ถูกพิสูจน์ว่ามันไม่ได้ผล มันไม่ได้เป็นจริงตามที่เชื่อถือกัน เมื่อถึงตอนนั้น พวกนักอุดมการณ์ก็จะเริ่มต้นมองออกไปข้างนอก เพื่อแสวงหาตัวแสดงอีกสักตัวหนึ่งที่สามารถจะนำมาใช้ประณามสาปส่งได้ว่าคือตัวการแห่งความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจของอเมริกา แล้วผู้ร้ายที่ควรแก่การประณามนี้จะมีใครดีไปกว่าจีน ประเทศซึ่งทัศนะในเรื่องสิทธิมนุษยชน, เสรีภาพ, และการตรวจสอบรัฐบาล ล้วนแล้วแต่ตรงกันข้ามอย่างสุดขั้วกับคุณค่าทั้งหลายที่ชาวอเมริกันเคารพยกย่อง

ไฟที่สามารถลุกโพลงด้วยความเข้มข้นรุนแรงอย่างที่พวกที่ทีปาร์ตี้ต้องการนั้น จำเป็นที่จะต้องมีเชื้อเพลิงหล่อเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอในรูปของแนวความคิดใหม่ๆ ที่จะเป็นเครื่องมือแห่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแรงๆ ตลอดจนต้องมีผู้ร้ายรายใหม่ๆ ที่จะให้ไล่ล่า ถ้าหากไฟนี้ไหม้ลุกลามไปจนหมดเชื้อภายในสหรัฐฯเสร็จแล้วก็พบว่าหนทางแก้ไขที่พวกตนเสนอขึ้นมายังแทบไม่ได้ทำให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้นเลย ความเข้มข้นรุนแรงของขบวนการนี้ก็จะต้องมองหาตัวแสดงใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้ประณามกล่าวโทษได้ ถ้าหากขบวนการนี้เกิดไปเผชิญหน้ากับจีนที่ยังคงแข็งตึงไม่ได้แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการปฏิรูปเพิ่มเติมขึ้นอีกในอนาคต ไม่ว่าในด้านเศรษฐกิจหรือในด้านการเมืองก็ตามที ก็ย่อมเป็นเรื่องลำบากที่จะป้องกันไม่ให้แดนมังกลายกลายเป็นจุดโฟกัสแห่งความโกรธเกรี้ยวของขบวนการอนุรักษนิยมได้

ถ้ารอมนีย์ชนะได้เป็นประธานาธิบดี บทบาทที่เซลลิกจะแสดงในคณะรัฐบาลของรอมนีย์ จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากทีเดียว หากเซลลิกได้รับโอกาสให้แสดงบทบาทระดับผู้นำแล้ว เขาก็น่าที่จะสร้างความโกรธกริ้วให้แก่กลุ่มอนุรักษนิยมใหม่ของพรรครีพับลิกัน และนำเอานโยบายการต่างประเทศแบบเน้นหนักเรื่องความรับผิดชอบ ซึ่งมีรากเหง้าอยู่ที่แนวความคิดอนุรักษนิยมแบบคลาสสิกกลับมาใช้อีก อย่างไรก็ตาม ถ้าหากรอมนีย์ค้นพบว่าเขาไม่สามารถที่จะเก็บเซลลิกเอาไว้ได้ ไม่ว่าจะในระหว่างการรณรงค์แข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหรือภายหลังจากนั้นก็ตามที มันก็จะเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่าลัทธิมองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง กำลังตกเป็นเครื่องเซ่นสังเวยให้แก่การยึดมั่นความบริสุทธิ์ทางอุดมการณ์ ผลลัพธ์ที่เกิดตามมานั้นแทบจะแน่นอนทีเดียวว่าจะถึงขั้นมีการพลิกผันกลับตาลปัตรภูมิปัญญาเดิมๆ ความรู้และความเชื่อเดิมๆ เกี่ยวกับการมองความสัมพันธ์ในระยะยาวระหว่างสหรัฐฯกับจีน

**หมายเหตุผู้แปล**

[1] จอห์น โบลตัน (John Bolton) นักกฎหมายและนักการทูตชาวอเมริกันที่เคยทำงานกับคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีสหรัฐฯจากพรรครีพับลิกันมาหลายยุค เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายกิจการองค์การระหว่างประเทศ (ปี 1989-1993) ในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช (บุชผู้พ่อ), ปลัดกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายการควบคุมอาวุธและความมั่นคงระหว่างประเทศ (ปี 2001-2005) ในยุคของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (บุชผู้ลูก) และเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติ อยู่ช่วงสั้นๆ (กันยายน 2005 – ธันวาคม 2006) ในยุคของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (ข้อมูลจาก Wikipedia)

[2] คอนโดลีซซา ไรซ์ (Condoleezza Rice) นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์และนักการทูตชาวอเมริกัน เธอเคยเป็นประธานของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (ปี 1993-1999) และเข้าร่วมในคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช โดยครองตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐฯ (ปี 2001-2005) ในสมัยแรกของประธานาธิบดีบุชผู้ลูก และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ปี 2005-2009)ในสมัยที่สองของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช (ข้อมูลจาก Wikipedia)

[3] เจมส์ เบเกอร์ (James Baker) ทนายความและนักการเมืองชาวอเมริกัน เขาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารทำเนียบขาว ในสมัยแรกแห่งการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (ปี 1981-1985) และกลับมาอยู่ในตำแหน่งนี้อีกในครึ่งปีสุดท้ายของยุคประธานาธิบดีจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช (สิงหาคม 1992-มกราคม 1993) เขายังเคยเป็นรัฐมนตรีคลัง (ปี 1985-1988) ในสมัยสองของประธานาธิบดีเรแกน และเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ (มกราคม 1989-สิงหาคม 1992) ในยุคของประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ (ข้อมูลจาก Wikipedia)

[4] ทีปาร์ตี้ (Tea Party) ขบวนการทางการเมืองในสหรัฐฯที่เรียกร้องเชิดชูการยึดมั่นอยู่กับรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ, ลดการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ, และลดการจัดเก็บภาษี, ตลอดจนลดหนี้สินแห่งชาติของสหรัฐฯ และลดการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลาง โดยทั่วไปแล้วขบวนการนี้ถูกมองว่ามีบางส่วนเป็นแนวคิดแบบอนุรักษนิยม, บางส่วนเป็นพวกอิสรเสรีนิยม (libertarian), และบางส่วนเป็นพวกประชานิยม ขบวนการนี้เริ่มแสดงบทบาทโดดเด่นทางการเมืองนับตั้งแต่ปี 2009 ทั้งในรูปของการอุปถัมภ์การประท้วงคัดค้าน ตลอดจนสนับสนุนผู้สมัครชิงตำแหน่งทางการเมืองของพรรครีพับลิกันซึ่งมีแนวทางเดียวกับตน นามของทีปาร์ตี้นั้น ได้มาจากกรณีในปี 1773 ที่เป็นชนวนสำคัญซึ่งนำไปสู่การที่อาณานิคมในอเมริกาเหนือทำสงครามและประกาศเอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษ เฉพาะเหตุการณ์ที่เรียกว่า Boston Tea Party นั้น เกิดขึ้นจากชาวอาณานิคมในอเมริกาเหนือไม่พอใจที่อังกฤษเรียกเก็บภาษีใบชา โดยที่ไม่สนใจให้พวกเขามีสิทธิมีเสียงอะไร แล้วมีชาวอาณานิคมจำนวนหนึ่งขึ้นไปบนเรือสินค้าหลายลำซึ่งจอดอยู่ที่ท่าเรือเมืองบอสตัน และขนใบชาของอังกฤษทิ้งน้ำ (ข้อมูลจาก Wikipedia)

เบนจามิน เอ โชเบิร์ต เป็นกรรมการผู้จัดการของ รูบิคอน สเตรเตจี กรุ๊ป (Rubicon Strategy Group) บริษัทที่ปรึกษาซึ่งชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องการวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์สำหรับบริษัทต่างๆ ที่กำลังมองหาช่องทางเข้าสู่ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ เขาเป็นผู้เขียนหนังสือที่กำลังจะออกวางตลาดชื่อ Blame China ทั้งนี้สามารถที่จะติดตามผลงานของเขาได้ที่ CrossTheRubiconBlog.com
กำลังโหลดความคิดเห็น