แม้ชาวจีนจะเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยี “การพิมพ์ที่สามารถเรียงพิมพ์ (活字印刷术)” เป็นชาติแรกของโลก เมื่อเกือบหนึ่งพันปีมาแล้ว ในศตวรรษที่ 11 ในสมัยซ่งเหนือ (ค.ศ.960-1127) ซึ่งถือว่าเร็วกว่าการคิดค้นเทคโนโลยีการพิมพ์ของตะวันตก ในเยอรมนีเกือบ 400 ปี แต่กว่าที่อุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ของจีนแผ่นดินใหญ่จะเริ่มตั้งไข่ก็ปาเข้าไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 19
นักวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์สื่อสารมวลชนในประเทศจีนส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่า หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ทำโดยคนจีนจริงๆ ก็คือ หนังสือพิมพ์ที่ชื่อ “จงไว่จี้เหวิน (中外纪闻)” ก่อตั้งโดยคัง โหย่วเหวย (康有为) นักคิด นักเขียน และนักปฏิรูปคนสำคัญของจีนในยุคปลายราชวงศ์ชิงและพรรคพวก ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1895
“จงไว่จี้เหวิน” รวมถึงหนังสือพิมพ์อย่าง “สืออู้เป้า (时务报; เผยแพร่ครั้งแรกในปี ค.ศ.1896) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่ความคิด และปูรากฐานในการปฏิรูปประเทศเพื่อให้หลุดพ้นจากการคุกคามของชาติตะวันตกและญี่ปุ่น จนในที่สุดนำมาสู่ “การปฏิรูปร้อยวัน” ในสมัยฮ่องเต้กวงซี่ว์ในปี ค.ศ.1989 ทว่าการปฏิรูปดังกล่าวกลับประสบความล้มเหลวจากการขัดขวางของพระนางซูสีไทเฮา [1]
แม้การปฏิรูปครั้งดังกล่าวจะล้มเหลว และนำมาสู่ความล่มสลายของราชวงศ์ชิงในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในที่สุด แต่หนังสือพิมพ์ก็ถือเป็นหัวหอกสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศจีนให้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ โดยกลุ่มนักปฏิรูป และนักปฏิวัติของจีนในสมัยนั้นใช้สิ่งพิมพ์เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ความคิดไปสู่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในประเทศจีนอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในที่สุด
หลังจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบสาธารณรัฐ ในส่วนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองนับตั้งแต่การก่อตั้งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1921 ก็ปฏิบัติตามแนวคิดของเลนินที่ให้ใช้หนังสือพิมพ์พรรคเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยนโยบายที่ว่า “สิ่งพิมพ์ของพรรคฯ จะต้องจัดทำโดยพรรคฯ เนื้อหาต้องไม่ขัดกับแนวทางนโยบายของพรรคฯ” ถูกกำหนดขึ้นมาตั้งแต่การประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 1 และสิ่งพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เริ่มทำบทบาทเป็นกระบอกเสียงให้กับพรรคฯ โดยเริ่มต้นที่หนังสือพิมพ์ซินชิงเหนียน (新青年) หรือ เยาวชนใหม่ ตลอดเรื่อยมาจนถึงที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่ผู้นำทุกรุ่นต่างเห็นความสำคัญของสื่อในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์เป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็น เหมา เจ๋อตง, โจว เอินไหล, เติ้ง เสี่ยวผิง, เจียง เจ๋อหมิน, หู จิ่นเทา ฯลฯ [2]
ด้วยเหตุนี้เอง คนไทย นักวิชาการไทยและสื่อมวลชนไทยที่สนใจศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพการณ์ของสื่อมวลชนจีนในปัจจุบันจึงมิอาจหลีกเลี่ยงในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีน และที่สำคัญ ปรัชญาและแนวความคิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กุมอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศจีนในห้วง 60 กว่าปีนี้เสียก่อน ทั้งนี้การนำเอากรอบความคิดและทฤษฎีทางด้านสื่อมวลชนของตะวันตกมาเป็นตัวตั้งเพื่อที่จะศึกษาสภาพการณ์ด้านสื่อมวลชนในประเทศจีน โดยละเลยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นเพ ปูมหลัง และความเป็นมาเป็นไปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองจีนจึงอาจเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง
อ.วิภา-นิรันดร์ อุตมฉันท์ ผู้เขียนหนังสือ “เจาะลึกสื่อจีน” สรุปลักษณะพิเศษของสื่อมวลชนจีนในปัจจุบันไว้จำนวนสามประการดังนี้คือ
ประการที่ 1 สื่อมวลชนจีนเป็นสื่อในระบอบสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะแบบจีน หรือกล่าวโดยสรุปคือ ประเทศจีนเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบสังคมนิยม โดยสื่อมวลชนเป็นของรัฐ อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอย่างเข้มงวด เนื่องจากประเทศสังคมนิยมมีทัศนะเกี่ยวกับสื่อว่า สื่อเป็นองค์ประกอบสำคัญในโครงสร้างส่วนบน (Superstructure) ของสังคม ซึ่งได้แก่ ระบบคิด จิตสำนึก และระบอบการเมืองในการยึดอำนาจรัฐ รวมถึงการสร้างอำนาจรัฐให้มั่นคง ด้วยเหตุนี้ “ปืนและปากกา จึงเป็นสองสิ่งที่ผู้นำจะคลายการยึดกุมมิได้”
ประการที่ 2 เสรีภาพของสื่อต้องคู่กับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบ โดยสื่อมวลชนจีนจำเป็นต้องตระหนักว่าสิ่งที่ตนนำเสนอจะก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียต่อสังคมหรือไม่อย่างไร หากเป็นผลเสีย ก็ไม่ควรจะเอาเสรีภาพมาเป็นข้ออ้างในการพูด เขียน หรือ แสดงออกต่อสาธารณะ ทั้งนี้ผลดีผลเสียมีนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐเป็นผู้ชั่งน้ำหนัก โดยอยู่บนเงื่อนไขดังนี้
• ต้องไม่สวนทางกับแนวนโยบายของพรรคฯ และของรัฐ
• ต้องยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง
• ต้องยึดหลักกระชับมิตรกับทุกประเทศ
ประการที่ 3 สื่อจีนในปัจจุบันเป็นทั้ง “สื่อเพื่อสาธารณะ” และ “สื่อเพื่อการค้า” ต่างจากสื่อจีนในอดีตที่เป็นสื่อเพื่อสาธารณะแต่เพียงอย่างเดียว บทบาทในการเป็นสื่อเพื่อสาธารณะคือ ทำหน้าที่สร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ และรักษาความสงบสุขของสังคม ส่วนบทบาทในฐานะสื่อเพื่อการค้าก็คือ แสวงหารายได้เพื่อเลี้ยงตนเองและสร้างรายได้เข้าสู่ระบบการคลังของประเทศ
ในการเดินทางมาเยือนจีนครั้งนี้ของสื่อมวลชนไทย เนื่องจากเรามาในฐานะตัวแทนของสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตามคำเชิญของสมาคมนักข่าวจีน (จงหัวเฉวียนกั๋วซินเหวินกงจั้วเจ๋อเสียหุ้ย; 中华全国新闻工作者协会) เจ้าภาพผู้เชิญจึงจัดให้เราไปพบปะกับสื่อจีนในประเภทหนังสือพิมพ์ และสำนักข่าวเป็นส่วนใหญ่ โดยทางผมถือว่าโชคดีอย่างมากเพราะได้รับทราบสถานการณ์ สอบถาม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบรรดานักหนังสือพิมพ์จีนตั้งแต่ระดับท้องถิ่น คือ หนังสือพิมพ์ถูเหมินเจียง, กลุ่มหนังสือพิมพ์ระดับมณฑลอย่าง เครือหนังสือพิมพ์จี๋หลินรายวัน-เครือหนังสือพิมพ์เหลียวหนิงรายวัน, กลุ่มหนังสือพิมพ์ในเมืองหลวงอย่าง เครือหนังสือพิมพ์ปักกิ่งรายวัน รวมไปถึงยักษ์ใหญ่ระดับ หนังสือพิมพ์ประชาชนรายวัน (เหรินหมินรื่อเป้า) เครือหนังสือพิมพ์ในกำกับของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และสำนักข่าวระดับนานาชาติอย่าง สำนักข่าวจีน (จงกั๋วซินเหวินเส้อ) หรือ China News Service
อุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ในประเทศจีนมีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะปัจจุบันจีนถือเป็นประเทศผู้บริโภคข่าวจากหนังสือพิมพ์รายวันมากเป็นอันดับสองของโลกราว 100 ล้านฉบับต่อวัน หรือ 5 หมื่นล้านฉบับต่อปี [3] เป็นรองประเทศอินเดียที่มีตัวเลขยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์รายวันทั่วประเทศมากกว่า 300 ล้านฉบับต่อวัน [4]
ทั้งนี้ในบรรดาหนังสือพิมพ์รายวันที่มียอดจำหน่ายมาก 100 อันดับแรกของโลกจำนวน 1 ใน 4 หรือ 25 เล่มจาก 100 เล่ม เป็นหนังสือพิมพ์จากจีนแผ่นดินใหญ่ [5] โดยหนังสือพิมพ์จีนที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดคือ ชานเข่าเซียวสิ (参考消息) หนังสือพิมพ์ในเครือของสำนักข่าวซินหัว ที่ตัวเลขในปี ค.ศ.2011 มียอดจำหน่ายวันละประมาณ 3.18 ล้านฉบับ รองลงมาคือ ประชาชนรายวัน (人民日报) ยอดจำหน่ายวันละราว 2.80 ล้านฉบับ อันดับ 3 คือ หนังสือพิมพ์โทรทัศน์จีน (中国电视报) วันละ 2 ล้านฉบับ
แต่จากพัฒนาการและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จีนไม่เพียงเป็นประเทศที่มีประชากรคนอ่านหนังสือพิมพ์มากติดอันดับต้นๆ ของโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นประเทศที่มีประชากรอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลกด้วยคือ 538 ล้านคน [6] หรืออาจเปรียบได้ว่าประชากรอินเทอร์เน็ตของจีนยังมีมากกว่าประชากรทั้งประเทศสหรัฐฯ ที่มี 311 ล้านคนเสียอีก
ด้วยเหตุนี้ความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อจีนจาก “สื่อเก่า” ไปสู่ “สื่อใหม่” ที่ในภาษาจีนกลางเรียกว่า “ซินเหมยถี่ (新媒体)” ซึ่งกำลังเขย่าอุตสาหกรรมสื่อทั่วโลกอยู่ ณ ปัจจุบัน จึงมีความน่าสนใจมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
หมายเหตุ :
[1] ประวัติศาสตร์พัฒนาการของหนังสือพิมพ์จีนในยุคปัจจุบัน (中国现代报刊发展史), หนี เหยียนเหนียนและอู๋ เฉียง, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยหนานจิง, ค.ศ.1993, หน้า 6.
[2] เจาะลึกสื่อจีน, วิภา อุตมฉันท์ และนิรันดร์ อุตมฉันท์, ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549, หน้า 4.
[3] China's newspaper circulation to exceed 50 billion, Xinhua, 4 Jan 2011.
[4] Newspaper circulation, Wikipedia.
[5] ตารางอันดับหนังสือพิมพ์รายวันที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดในโลก 100 อันดับแรกในปี 2008 (2008年世界日报发行量前100名排行榜) , www.baoye.net, 6 Aug 2008.
[6] ประชากรเน็ตจีนทะลุ 538 ล้านคน, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 23 กรกฎาคม 2555.