xs
xsm
sm
md
lg

‘คดีคอร์รัปชั่น’พัวพันจนท.ระดับสูงและธุรกิจใหญ่ในฮ่องกง(ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เคนต์ อีวิ่ง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Landmark corruption trial looms in Hong Kong
By Kent Ewing
18/07/2012

ครั้งหนึ่งคณะกรรมการอิสระปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของฮ่องกง (ไอซีเอซี) เคยมีชื่อเสียงเลื่องลือว่าสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพของนครแห่งนี้ จากการเป็นแหล่งโสมมแห่งการทุจริต ให้กลายเป็นสถานที่ซึ่งมีการคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทว่าในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ ผลงานของหน่วยงานแห่งนี้ไม่ค่อยเข้าตาเอาเสียเลย อย่างไรก็ดี เวลานี้ ไอซีเอซี กำลังกระโจนเข้าสู่สมรภูมิที่ใหญ่มาก ในระดับเป็นสมรภูมิแห่งชีวิตของตนเองทีเดียว เมื่อประกาศศึกกับตระกูลกว็อก เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีฐานะร่ำรวยเงินทองเหลือล้น แถมยังตั้งข้อหาเอากับอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสอันดับ 2 ของรัฐบาลฮ่องกงว่ากระทำผิดในคดีเดียวกันอีกด้วย การไต่สวนพิจารณาคดีคราวนี้จึงไม่ใช่มีเพียงจำเลยผู้ทรงอำนาจอิทธิพลเหล่านี้เท่านั้นที่นั่งอยู่ในคอกจำเลย หากแต่ชื่อเสียงเกียรติภูมิของฮ่องกงอีกด้วย

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ถ้าหากประสบความสำเร็จในการนำตัว ราฟาเอล หุย อดีตหัวหน้าคณะรัฐมนตรีของฮ่องกง และ โทมัส กับ เรย์มอนด์ 2 พี่น้องตระกูลกว็อก ผู้เป็นประธานร่วมของ ซุนฮุงไค พร็อบเพอร์ตีส์ อาณาจักรธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง เข้าไปชดใช้กรรมในตะรางจากการทำทุจริตคอร์รัปชั่นได้ มันก็ย่อมจะมีส่วนอย่างสำคัญในการฟื้นฟูศักดิ์ศรีเกียรติยศที่ คณะกรรมการอิสระปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของฮ่องกง (ไอซีเอซี) เคยได้รับมาในวันเวลาแห่งความรุ่งเรืององหน่วยงานนี้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าหากคดีนี้ (ซึ่งเมื่อพิจารณาจากทรัพยากรทางการเงินอันมากมายมหาศาลของพวกจำเลยแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่ากระทั่งในกรณีที่ทั้ง 3 คนถูกตัดสินว่ากระทำความผิดจริง ก็ยังคงจะต้องลากยาวกินเวลาเป็นแรมปี) ไม่ได้ยุติลงด้วยคำพิพากษาว่ามีความผิดแล้ว ก็เป็นการยากที่จะจินตนาการได้ว่า คณะกรรมการอิสระชุดนี้ หรือกระทั่งตัวนครฮ่องกงที่ ไอซีเอซี รับใช้ให้บริการอยู่ จะมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นมาจากความผิดพลาดล้มเหลวอย่างมหันต์เช่นนั้นได้หรือไม่

ทางฝ่ายจำเลยนั้นได้รีบเร่งหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดใดๆ ขึ้นมาอยู่แล้ว โดยที่ประธานร่วมทั้ง 2 ของเอสเอชเคพี ซึ่งตระกูลกว็อกของพวกเขาเป็นผู้ควบคุมหุ้นของบริษัทเอาไว้ 42% นั้น ได้จัดแจงเปลี่ยนเข้าเกียร์สูงเพื่อเร่งทะยานเตรียมการแก้ต่างประดาข้อกล่าวหาของไอซีเอซี ซึ่งพวกเขาระบุว่าไม่มีมูลแต่อย่างใด ทรัพย์สมบัติของตระกูลพวกเขา (ตามการรวบรวมของนิตยสารฟอร์บส์ ระบุว่าเป็นอันดับ 2 ในฮ่องกง โดยเป็นรองเพียงความร่ำรวยที่สะสมเอาไว้ถึง 25,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของ ลี กาชิง Li Ka-shing เท่านั้น) จะเป็นเครื่องค้ำประกันว่า พวกเขาจะได้ที่ปรึกษากฎหมายระดับยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ขณะที่ หุย ก็จะได้ทนายความชั้นเลิศที่สุดในการว่าความด้านนี้ มาเป็นผู้แก้ต่างให้เช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น เพื่อเป็นการปลอบประโลมนักลงทุนผู้ว้าวุ่นไม่สบายใจทั้งหลายให้ใจเย็นๆ ลงมา (หุ้นของเอสเอชเคพีถูกแขวนไม่ให้ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 13 ก่อนที่ทาง ไอซีเอซี จะประกาศเปิดเผยการตั้งข้อหาของตนต่อสาธารณชน) ทางบริษัทเอสเอชเคพี ได้แถลงว่า บุตรชายของ โทมัส และบุตรชายของเรย์มอนด์ กว็อกได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริหารสำรองแล้วโดยที่มีผลบังคับในทันที

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้คือความพยายามที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นเกิดความมั่นอกมั่นใจว่า ถ้าหากสถานการณ์เกิดเลวร้ายอย่างถึงที่สุด คือ 2 พี่น้องกว็อกต้องติดคุกติดตะราง แอดัม กว็อก ไคไฟ (Adam Kwok Kai-fai) บุตรชายวัย 29 ปีของ โทมัส และ เอดเวิร์ด กว็อก โฮไล (Edward Kwok Ho-lai) บุตรชายอายุ 31 ปีของเรย์มอนด์ ก็จะเข้ารับงานต่อจากบิดาของพวกเขาได้อย่างไม่มีขาดตอน

แต่การตอกย้ำให้ความมั่นใจเช่นนี้ ดูเหมือนจะไม่ทำให้เกิดความโล่งอกโล่งใจอะไรนัก ในตอนเช้าของวันจันทร์ที่ 16 ราคาหุ้นของเอสเอชเคพี เปิดการซื้อขายโดยลดต่ำลงเล็กน้อยมาอยู่ที่หุ้นละ 95.15 ดอลลาร์ฮ่องกง จากนั้นก็ไหลลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ดัชนีหุ้นหั่งเส็งมีการดีดตัวกลับขึ้นไป นับตั้งแต่ที่ หุย และพี่น้องตระกูลกว็อกถูกจับกุมในวันที่ 29 มีนาคมเป็นต้นว่า ราคาหุ้นของเอสเอชเคพี ร่วงลงมาแล้ว 14% อีกทั้งยังมีส่วนทำให้ดัชนีหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของหั่งเส็งถดถอยลงมา 3.1%ด้วย

การที่คนรุ่นหนุ่มของตระกูลกว็อกซึ่งยังไม่ได้มีการเตรียมพร้อมอย่างเพียงพอเลย อาจจะมีโอกาสก้าวขึ้นไปกุมบังเหียนกิจการยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์รายนี้ ย่อมมีแต่จะทำให้นักลงทุนรู้สึกว้าวุ่นไม่สบายใจเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าเอสเอชเคพียังได้แต่งตั้งบุคคลอีก 2 คน ได้แก่ ไมค์ หว่อง ชิกวิง (Mike Wong Chik-wing) และ วิกเตอร์ ลุ้ย ติง (Victor Lui Ting) ซึ่งแต่ละคนมีประสบการณ์ทำงานอยู่ในเอสเอชเคพีไม่น้อยกว่า 30 ปี ขึ้นไปนั่งตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการ เอาไว้คอยสนับสนุนคนหนุ่มตระกูลกว็อกแล้วก็ตามที

อย่างไรก็ดี ในระยะยาวไกลแล้ว ก็อย่างที่ตระกูลกว็อกได้พิสูจน์ให้เห็นชัดอย่างไร้ข้อกังขามาแล้วในอดีตที่ผ่านมาว่า ความปั่นป่วนวุ่นวายในคณะกรรมการบริหารของ เอสเอชเคพี ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความตกต่ำใดๆ ในผลกำไรของบริษัท หรือในความเชื่อมั่นของนักลงทุน

การขับไล่ วอลเตอร์ กว็อก ให้ออกจากตำแหน่งประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเมื่อปี 2008 นั้น (เวลานี้มีข่าวลือกันออกมาด้วยว่า พี่ชายใหญ่ของตระกูลกว็อก นี่แหละ น่าจะเป็นแหล่งข่าวรายหนึ่งของ ไอซีเอซี จนทำให้มีหลักฐานข้อมูลเพียงพอที่จะตั้งข้อหาเล่นงาน หุย และ น้องชาย 2 คนของเขา) บังเกิดขึ้นหลังจากที่มีรายงานว่าเขาพยายามจะเอา ไอดา ตง กัมฮิง (Ida Tong Kam-hing) อนุภรรยาของเขา เข้าไปเป็นใหญ่เป็นโตในบริษัท ทันทีที่การรัฐประหารยึดอำนาจในคณะกรรมการบริหารเสร็จสิ้นลง มารดาของทั้ง 3 พี่น้อง ผู้มีนามว่า กว่อง ซุยฮิง (Kwong Siu-hing) ซึ่งเวลานั้นอายุ 79 ปีแล้ว และมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัท ก็ได้เข้าครองตำแหน่งประธานบริษัทอยู่เป็นเวลาถึง 3 ปี

วอลเตอร์ ผู้รู้สึกถูกหยามศักดิ์ศรี ได้พยายามตอบโต้ด้วยการยื่นฟ้องน้องชายทั้ง 2 ของเขาในข้อหาหมิ่นประมาท โดยระบุว่า โทมัส กับ เรย์มอนด์ ได้แจ้งกับพวกผู้ถือหุ้นว่า แพทย์ได้วินิจฉัยว่า เขาป่วยด้วยโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (bipolar disorder)

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาอันแสนเจ็บปวดที่มีการเปิดโปงเรื่องราวอันน่าอับอายเกี่ยวกับ วอลเตอร์ กว็อก คราวนั้น ปรากฏว่า เอสเอชเคพี ยังคงสามารถทำเงินทำทอง โดยที่ทำได้เป็นจำนวนมากเสียด้วย และดังนั้นจึงมีเสน่ห์ดึงดูดใจเหล่านักลงทุนระดับคุณภาพ บริษัทแห่งนี้คือผู้สร้างอาคารที่เป็นหลักหมายสำคัญโดดเด่นหลายต่อหลายหลัง ซึ่งมีส่วนในการสร้างเส้นขอบฟ้าอันสุกใสแพรวพราวของฮ่องกง เป็นต้นว่า อาคารระฟ้าที่สูงที่สุด 2 หลังของนครแห่งนี้ อันได้แก่ อาคารศูนย์การเงินระหว่างประเทศ (International Finance Center) ที่มีความสูง 88 ชั้น และอาคารศูนย์การพาณิชย์ระหว่างประเทศ (International Commerce Center) ซึ่งมีความสูง 118 ชั้น พูดง่ายๆ ก็คือ บริษัทแห่งนี้เป็นผู้ถือครองทรัพย์สินชั้นเลิศเอาไว้อย่างมากมายจนเกินกว่าที่จะเกิดความเสียหายถึงขึ้นสิ้นชีวิตเมื่อต้องเผชิญกับเรื่องอื้อฉาว แม้กระทั่งเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นที่อาจส่งให้ 2 ประธานร่วมของบริษัทติดคุกก็ตามที

เมื่อพิจารณากันในมุมกว้างออกไป เราสามารถที่จะพูดอย่างเดียวกันนี้กับตัวนครฮ่องกงเองได้หรือไม่

ชื่อเสียงเกียรติภูมิของนครแห่งนี้ในเรื่องการมีวิธีปฏิบัติทางธุรกิจที่ซื่อสัตย์ไว้ใจได้ อีกทั้งการบริหารปกครองก็สะอาดปลอดทุจริต เหล่านี้กำลังแปดเปื้อนไปมากในระยะหลังๆ นี้ และมันก็ไม่ใช่มีเฉพาะตระกูลกว็อกด้วยที่กำลังสร้างความเสื่อมเสีย

โดนัลด์ จาง ซึ่งวาระการดำรงตำแหน่งประธานผู้บริหารฮ่องกงของเขาหมดอายุลงในวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ตกเป็นผู้ต้องสงสัยที่ถูก ไอซีเอซี ตรวจสอบด้วยเช่นกัน โดยที่เขาถูกตั้งข้อครหาว่ายอมรับความเอื้อเฟื้อต่างๆ ที่พวกเจ้าพ่อธุรกิจนำมาประเคนให้ เป็นต้นว่า การได้โดยสารไปกับเรือยอชต์และเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวของนักธุรกิจใหญ่เหล่านี้โดยที่เขาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และการได้ราคาลดพิเศษสำหรับอพาร์ตเมนต์แบบเพนต์เฮาส์

เหลิง ชุนอิง (Leung Chun-ying ภาษาจีนกลางออกเสียงว่า เหลียง เจิ้นอิง) ผู้เข้าดำรงตำแหน่งประธานผู้บริหารสืบต่อจาก จาง หลังจากเข้านั่งเก้าอี้ได้เพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้นก็มีเรื่องเกี่ยวข้องพัวพันกับกรณีฉาวโฉ่ถึง 2 เรื่องแล้ว เรื่องแรกคือสิ่งปลูกสร้างใต้ดินที่สร้างอย่างผิดกฎหมายซึ่งปรากฏอยู่ในบ้านพักหรูหราของเขาในย่านวิกตอเรียพีค (Victoria Peak) ส่วนอีกเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ มัก ไช่กว่อง (Mak Chai-kwong) ผู้ที่เขาแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีดูแลด้านการพัฒนา แล้วอยู่ตำแหน่งได้ยังไม่ทันกี่วันก็ถูกบังคับให้ลาออกในสัปดาห์ที่แล้ว ภายหลังจากถูกเปิดโปงว่า มีความเป็นไปได้ที่เขาเคยขอเบิกค่าเช่าบ้านโดยมิชอบ ในสมัยที่เขายังเป็นข้าราชการ

มัก ก็เช่นกัน ถูกจับกุมและกำลังถูกสอบสวนอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของ ไอซีเอซี – เห็นได้ชัดเลยว่าที่นั่นกำลังเป็นสำนักงานที่มีงานยุ่งที่สุดในฮ่องกงในช่วงเวลานี้

หมายเหตุผู้แปล

[1] คณะกรรมการอิสระปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น (Independent Commission Against Corruption ใช้อักษรย่อว่า ICAC) ของฮ่องกง ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยที่ฮ่องกงยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ โดย ผู้ว่าการ เมอร์เรย์ แมคเลอโฮส (Murray MacLehose) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1974 จุดมุ่งหมายหลักคือการกวาดล้างการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเรื้อรังในหน่วยงานจำนวนมากของรัฐบาลฮ่องกง ด้วยวิธีการปราบปรามตามกฎหมาย, การป้องกัน, และการให้การศึกษาแก่ชุมชน หน่วยงานนี้เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อกระทรวงทบวงกรมใดๆ ของรัฐบาลฮ่องกง โดยขณะที่ฮ่องกงยังอยู่ในการปกครองของอังกฤษ ไอซีเอซี รายงานตรงต่อผู้ว่าการฮ่องกง และการแต่งตั้งต่างๆ ใน ไอซีเอซี ก็เป็นหน้าที่รับผิดชอบของสำนักงานของผู้ว่าการ ภายหลังมีการส่งมอบฮ่องกงกลับคืนให้จีนในปี 1997 แล้ว กฎหมายพื้นฐาน (ธรรมนูญ) ของฮ่องกง ก็ระบุว่า ไอซีเอซี จะปฏิบัติงานอย่างเป็นอิสระ และรายงานโดยตรงต่อประธานผู้บริหารฮ่องกง สำหรับตัวผู้อำนวยการใหญ่ ไอซีเอซี แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยอิงอยู่กับคำแนะนำของประธานผู้บริหารฮ่องกง (ข้อมูลจาก Wikipedia)

[2] บริษัทซุนฮุงไค พร็อบเพอร์ตีส์ (Sun Hung Kai Properties หรือ SHKP) ก่อตั้งขึ้นใน 1963 โดย กว็อก ตั๊กเส็ง (Kwok Tak Seng) ร่วมกับ ฟุง คิงไฮ (Fung King-hei), และ ลี เชาคี (Lee Shau Kee) และเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในปี 1972

ทั้งนี้ กว็อก ตั๊กเส็ง (เกิดปี1911-เสียชีวิตปี1990) เป็นคนจีนเกิดในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งอพยพมาฮ่องกงภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเป็นบิดาของ วอลเตอร์, โทมัส, และเรย์มอนด์ กว็อก

ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้ควบคุมโดยกองทุนทรัสต์ของตระกูลกว็อกที่ก่อตั้งขึ้นโดย กว็อก ตั๊กเส็ง ธุรกิจหลักของ เอสเอชเคพี คือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายและการลงทุน ในปีการเงิน 2010/11 บริษัทมีรายรับ 62,553 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง และทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้ 48,097 ล้านฮ่องกง รายรับและกำไรจากการดำเนินงานส่วนใหญ่ได้จากการขายและการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ (ข้อมูลจาก Wikipedia)

[3] หัวหน้าคณะรัฐมนตรี (chief secretary) ของฮ่องกง ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดอันดับ 2 ของรัฐบาลฮ่องกง หัวหน้าคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ช่วยประธานผู้บริหาร ในการกำกับดูแลกระทรวงทบวงกรมต่างๆ (ยกเว้นคลัง และยุติธรรม) ตามที่ประธานผู้บริหารมอบหมาย และแสดงบทบาทสำคัญในการจัดทำนโยบายและการปฏิบัติตามนโยบายโดยรวมของรัฐบาลฮ่องกง (ข้อมูลจาก Wikipedia)

[4] เขตวัฒนธรรมเกาลูนตะวันตก (West Kowloon Cultural District) เป็นโครงการที่เสนอขึ้นมาเพื่อส่งเสริมและเพิ่มเติมศูนย์รวมทางวัฒนธรรมและนันทนาการของฮ่องกง โดยสร้างขึ้นบนที่ดินริมน้ำที่ได้มาจากการถมทะเล ศูนย์วัฒนธรรมและนันทนาการที่เสนอให้สร้างกัน มีทั้ง พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่, โรงมหรสพต่างๆ จำนวนหนึ่ง, หอแสดงคอนเสิร์ตจำนวนหนึ่ง, ตลอดจนสถานที่จัดการแสดงประเภทอื่นๆ (ข้อมูลจาก Wikipedia)

เคนต์ อีวิ่ง เป็นอาจารย์และนักเขียนซึ่งพำนักอยู่ในฮ่องกง สามารถติดต่อเขาทางอีเมลที่ kewing56@gmail.com และติดตามเขาทาง Twitter: @KentEwing1
‘คดีคอร์รัปชั่น’พัวพันจนท.ระดับสูงและธุรกิจใหญ่ในฮ่องกง(ตอนแรก)
ครั้งหนึ่งคณะกรรมการอิสระปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของฮ่องกง (ไอซีเอซี) เคยมีชื่อเสียงเลื่องลือว่าสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพของนครแห่งนี้ จากการเป็นแหล่งโสมมแห่งการทุจริต ให้กลายเป็นสถานที่ซึ่งมีการคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทว่าในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ ผลงานของหน่วยงานแห่งนี้ไม่ค่อยเข้าตาเอาเสียเลย อย่างไรก็ดี เวลานี้ ไอซีเอซี กำลังกระโจนเข้าสู่สมรภูมิที่ใหญ่มาก ในระดับเป็นสมรภูมิแห่งชีวิตของตนเองทีเดียว เมื่อประกาศศึกกับตระกูลกว็อก เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีฐานะร่ำรวยเงินทองเหลือล้น แถมยังตั้งข้อหาเอากับอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสอันดับ 2 ของรัฐบาลฮ่องกงว่ากระทำผิดในคดีเดียวกันอีกด้วย การไต่สวนพิจารณาคดีคราวนี้จึงไม่ใช่มีเพียงจำเลยผู้ทรงอำนาจอิทธิพลเหล่านี้เท่านั้นที่นั่งอยู่ในคอกจำเลย หากแต่ชื่อเสียงเกียรติภูมิของฮ่องกงอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น